นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเตือนอากาศในประเทศไทยที่ร้อนจัดกว่าทุกปี มีความเสี่ยงเกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งโรคลมแดด (Heat stroke) ซึ่งเกิดในช่วงที่สภาพอากาศร้อนจัด ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา มีประชาชนเสียชีวิตจากสาเหตุนี้ปีละประมาณ 371 คน ในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานใครเสียชีวิต

ถ้าอุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติเกิน 40 องศาเซลเซียส ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้การรักษาอย่างรีบด่วน เนื่องจากมีโอกาสเสียชีวิต 17-70%

สัญญาณสำคัญของโรคนี้คือ ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่เป็นจะกระหายน้ำมาก ปวดศีรษะ มึนงง วิงเวียน คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียแดดหรือเป็นลมแดดทั่วๆ ไป ที่จะพบมีเหงื่อออกด้วย เมื่อเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาทันท่วงที จะทำให้เสียชีวิตได้

ในการช่วยเหลือคนเป็นลมแดดคือนำเข้าที่ร่ม ให้นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ถอดเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศีรษะ ร่วมกับการใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน หรือเทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด และรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาโดยเร็วที่สุด ในรายที่อาการยังไม่มาก ควรให้ดื่มน้ำเปล่าธรรมดามากๆ

กลุ่มเสี่ยงร่างกายขาดน้ำได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว ผู้ที่มีโรคประจำตัวได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง ที่ต้องกินยาควบคุมความดัน เช่น ยาขับปัสสาวะ ซึ่งมีผลขับสารโซเดียมออกจากร่างกาย ทำให้มีโอกาสเกิดความผิดปกติของระดับเกลือแร่ได้เร็วกว่าผู้อื่น รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือผู้ที่อดนอน เนื่องจากจะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ ส่วนผู้ที่ดื่มสุราหรือเบียร์ ร่างกายจะมีโอกาสสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม เพื่อขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย 
 
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-04-05-2.html
เมื่อ 25 กรกฎาคม 2567 21:11
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv