สำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยผลสำรวจความเปลี่ยนแปลงประชากรไทยปี 2548-2549 พบอัตราการเพิ่มของประชากรลดลงต่อเนื่อง โดยคนภาคอีสานมีอัตราเกิดมากสุด คนภาคเหนือมีอัตราการตายสูงสุด ขณะที่คนกรุงเทพฯ มีอัตราเกิดและตายต่ำสุด ส่วนอายุคาดเฉลี่ยผู้หญิง มีอายุยืนยาวกว่าชาย คือ เฉลี่ยอายุ 77.6 ปี ส่วนผู้ชาย 69.9 ปี

นางปัทมา อมรสิริสมบูรณ์ นักวิชาการสถิติเศรษฐสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลการสำรวจความเปลี่ยนแปลงประชากรปี 2548-2549 ในงานสัมมนาเรื่อง การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทย พบว่า อัตราการเพิ่มของประชากรในประเทศลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง มีอัตราการเพิ่มของประชากรในอัตรา 0.41 คนต่อประชากรร้อยคน โดยมีอัตราการเกิด 10.85 คนต่อประชากรพันคน ในปี 2549 คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการเกิดสูงสุด 12.24 คนต่อประชากรพันคน และคนกรุงเทพฯ มีอัตราการเกิดต่ำสุด 8.83 คนต่อประชากร 1,000 คน อายุของแม่อยู่ในช่วง 20-34 ปีมากที่สุด ร้อยละ 72.2 แม่ที่อายุในช่วง 10-14 ปี ร้อยละ 0.5 และอายุ 50-60 ปี ร้อยละ 0.06

นอกจากนี้ อัตราการตายของประชากรไทยในปี 2548-2549 มีอัตรา 6.8 คนต่อประชากรพันคน ภาคเหนือมีอัตราการตายสูงสุดคือ 10.28 คนต่อประชากรพันคน ส่วนคนกรุงเทพฯ กลับมีอัตราการตายต่ำสุดเพียง 4.23 คนต่อประชากรพันคน โดยสาเหตุการตายมาจากโรคไม่ติดเชื้อ คือ มะเร็ง ตามด้วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด อุบัติเหตุ ซึ่งการตายในน้ำ พบว่าเด็กช่วงอายุ 5-9 ปี มีมากกว่าวัยอื่น ๆ

สำหรับอายุคาดเฉลี่ยของคนไทยตลอดระยะ 30 ปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้หญิงมีอายุยืนยาวกว่าผู้ชายมาโดยตลอด โดยผู้หญิงมีอายุเฉลี่ย 77.6 ปี ผู้ชาย 69.9 ปี และผู้หญิงในกรุงเทพฯ มีอายุเฉลี่ยสูงที่สุด ประมาณ 82.85 ปี ผู้ชายมีอายุเฉลี่ย 74.57 ปี ขณะที่ผู้ชายและผู้หญิงภาคเหนือ มีอายุคาดเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ 67.38 และ 73.05 ตามลำดับ
 
 
 
 
 
ที่มา- 
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-04-05-4.html
เมื่อ 25 กรกฎาคม 2567 21:23
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv