ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยระบุว่า เด็ก 1 ใน 3 ของนักเรียนทั้งประเทศ มีปัญหาทางสายตา หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ทั้ง "สายตาสั้น" ซึ่งเกิดจากกระจกตามีความโค้งนูนมากเกินไป ทำให้มองใกล้ชัดแต่มองไกลไม่ชัด "สายตายาว" เกิดจากกระจกตาแบน ทำให้มองไกลชัด แต่มองใกล้ไม่ชัด "สายตาเอียง" เกิดจากการรวมแสงของตาในแนวต่างๆ ไม่เท่ากัน เนื่องจากกระจกตาไม่กลม ภาวะนี้มักเกิดร่วมกับสายตาสั้นหรือยาวโดยกำเนิด ส่งผลให้มองเห็นภาพซ้อนไม่คมชัด

พญ.อุษณีย์ เหรียญประยูร จักษุแพทย์ โรงพยาบาลสุขุมวิท ให้ความรู้ว่า ภาวะดังกล่าวเกิดจากโครงสร้างลูกตามีความผิดปกติ ซึ่งอาจมาจากกรรมพันธุ์ ที่ผ่านมา แบ่งการรักษาเป็นแบบไม่ผ่าตัด เช่น สวมแว่นตา หรือคอนแทคเลนส์ และแบบผ่าตัด โดยผ่าตัดกระจกตาให้มีความสมดุลกับสายตาของแต่ละคน ซึ่งทั้งหมดมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป อย่าง สวมแว่นตา เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวก แต่ไม่เสริมบุคลิกภาพ ส่วนการใส่คอนแทคเลนส์ แม้จะเสริมบุคลิกภาพ แต่หากดูแลรักษาความสะอาดไม่ดี ย่อมมีโอกาสติดเชื้อในกระจกตาถึงร้อยละ 1 และอาจตาบอดได้


ล่าสุดมีการนำเลเซอร์มาใช้ ที่เรียกว่า เอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer Laser) เป็นแสงเลเซอร์ชนิดเย็นที่มีพลังงานสูง นำมาทำปฏิกิริยาบริเวณพื้นผิวสายตาที่ผิดปกติ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตราย หรือทำลายเนื้อเยื่อบริเวณข้างเคียง ไม่ก่อให้เกิดก้อนเนื้อจนลุกลามเป็นมะเร็ง และไม่ทำให้ตาบอด โดยนิยมนำเลเซอร์ดังกล่าวมาใช้รักษาด้วยวิธีการทำเลสิก (LASIK : Laser in situ Keratomileusis) และการทำพีอาร์เค (PRK : Photorefractive Keratectomy)

"การทำเลสิก" เป็นการใช้เครื่องมือแยกชั้นกระจกตา เพื่อยกชั้นกระจกตาด้านบนออกในลักษณะฝาเปิด จากนั้นฉายเอ็กไซเมอร์เลเซอร์ลงไปบนชั้นในของผิวกระจกตา เพื่อปรับสภาพผิวกระจกตาให้อยู่ในระดับสายตาปกติ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาสายตาทุกชนิด ข้อดี พบว่าอาการบาดเจ็บหรือระคายเคืองตาน้อยมาก สามารถใช้สายตาได้เลยหลังการผ่าตัดเพียง 1 วัน โดยวันแรกหลังการทำเลสิกความสามารถในการมองเห็นมีสูงถึงร้อยละ 80 และจะมองเห็นด้วยระดับสายตาคงที่ภายใน 1 เดือน ผลข้างเคียงน้อยมาก อาทิ ตาแห้งในช่วงแรก แต่สิ่งที่ต้องระวังพิเศษ คือ พฤติกรรมหลังการผ่าตัดของผู้รับการรักษา เพราะหากดูแลรักษาความสะอาดไม่ดีพอ หรือไม่หยอดยาตามแพทย์สั่ง ย่อมมีโอกาสติดเชื้อ 1 ต่อ 1,000 ราย


"การทำพีอาร์เค" เป็นการใช้เครื่องมือขูดผิวกระจกตาชั้นบน และฉายเลเซอร์บริเวณกลางกระจกตา วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวไม่มาก จุดด้อยคือ จะรู้สึกเจ็บตรงบาดแผลและระคายเคืองตามากในวันรุ่งขึ้น เมื่อเทียบกับการทำเลสิก การฟื้นตัวของสายตาช้ากว่าประมาณ 3-4 วัน ข้อดีคือ ผลการรักษาเทียบเท่ากับการทำเลสิก และราคาถูกกว่า โดยการทำเลสิกราคาประมาณ 5 หมื่นบาทต่อตา 1 คู่ ส่วนการทำพีอาร์เค ประมาณ 4.2 หมื่นบาทต่อตา 1 คู่ หลังการรักษาไม่จำเป็นต้องนอนพักที่โรงพยาบาล แค่พักฟื้นเพียง 1 ชั่วโมง สามารถกลับบ้านได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนเข้ารับการรักษาสายตาด้วยเลเซอร์ จำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ เนื่องจากต้องมีระดับสายตาคงที่ภายใน 1 ปี ต้องมีสุขภาพตาที่ดี ไม่มีโรคของกระจกตา อาทิ จอประสาทตาเสื่อม ต้อหิน ต้อกระจก และไม่เป็นโรคอื่นๆ อย่างข้อรูมาตอยด์ เบาหวาน หรืออยู่ระหว่างตั้งครรภ์ เพราะทั้งหมดส่งผลต่อการหายของแผล

ที่สำคัญแม้ผลการรักษาจะเป็นที่น่าพอใจ แต่ต้องยอมรับว่าโอกาสสายตายาวตามอายุขัยยังคงมีอยู่เหมือนเดิม 
 
 
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-04-18-2.html
เมื่อ 5 กรกฎาคม 2567 08:13
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv