ดร. Garnette Sutherland ผู้เชี่ยวชาญด้านการศัลยกรรมระบบประสาทมหาวิทยาลัยคาลการี หัวหน้าทีมพัฒนาโครงการ ขณะอธิบายการทำงานของหุ่นยนต์ผ่าตัดสมองอัจฉริยะ (ด้านข้าง) หุ่นยนต์สามารถรับรู้ถึงแรงบีบเครื่องมือที่อยู่ในมือศัลยแพทย์ผู้ควบคุม เช่นตัวยึดจับหรือ surgeon grasp เป็นต้น โดยแพทย์สามารถสั่งการและรับฟังรายงานจากหุ่นยนต์ได้ผ่านไมโครโฟน
       ทีมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชาวแคนาดา ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัดสมองอัจฉริยะ ที่สามารถขยายภาพเส้นประสาทที่เล็กที่สุดในสมองออกมาเป็นภาพสามมิติชัดเจนที่สุดเท่าที่เคยมีมา เชื่อว่าจะสามารถลดความเสี่ยงในการผ่าตัดสมองได้อย่างน่าพอใจ
       
       หุ่นยนต์ผ่าตัดสมองอัจฉริยะนี้มีนามว่า neuroArm เป็นหุ่นยนต์ที่ประยุกต์เอาความรู้ด้านการผ่าตัดสมองและวิทยาศาสตร์ยานอวกาศเข้าไว้ด้วยกัน จุดเด่นคือระบบการแสดงผลภาพขยายแบบสามมิติหรือที่เรียกว่า MRI (magnetic resonance imaging) มีกำหนดการนำไปใช้ผ่าตัดจริงในช่วงฤดูร้อนนี้ที่โรงพยาบาลฟูตฮิลส์ (Foothills Hospital) โรงพยาบาลเพื่อการวิจัยในเครือมหาวิทยาลัยการแพทย์คาลการี (University of Calgary) ประเทศแคนาดา
       
       neuroArm นั้นใช้งบประมาณในการพัฒนาราว 27 ล้านเหรียญแคนาดา (ประมาณ 772 ล้านบาท) เป็นผลงานการพัฒนาระหว่างทางมหาวิทยาลัยและบริษัท MacDonald, Dettwiler and Associates ผู้สร้างหุ่นยนต์ CanadArm สำหรับการสำรวจอวกาศให้กับองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯหรือนาซ่า (NASA)
       
       ตามข้อมูลจาก Garnette Sutherland ผู้เชี่ยวชาญด้านการศัลยกรรมระบบประสาทมหาวิทยาลัยคาลการี ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมพัฒนาโครงการระบุว่า หุ่นยนต์นี้จะทำให้แพทย์สามารถใช้เทคนิคการผ่าตัดศัลยกรรมระดับสูงได้ง่ายและถนัดมือขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะการผ่าตัดเนื้องอกในสมอง ซึ่งถือเป็นความสำเร็จก้าวสำคัญที่ช่วยเปิดมิติใหม่ให้กับการผ่าตัดของศัลยแพทย์และพยาบาลที่น่าจับตามอง
       
       "การร่วมมือกันอย่างจริงจังทำให้เรามีห้องผ่าตัดที่มีนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรให้ความช่วยเหลือในการเพิ่ม
ประสิทธิภาพการผ่าตัดที่ดีขึ้น" Sutherland กล่าวระหว่างการสาธิตการทำงานของหุ่นยนต์ดังกล่าว
       
       neuroArm นั้นจะถูกควบคุมโดยทีมศัลยแพทย์ หุ่นยนต์จะสามารถรับรู้ถึงแรงบีบเครื่องมือที่อยู่ในมือศัลยแพทย์ผู้ควบคุม เช่นตัวยึดจับหรือ surgeon grasp เป็นต้น โดยหุ่นจะสามารถผ่าตัดได้ด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่นการหลีกเลี่ยงการทำให้เส้นเลือดได้รับความเสียหาย จุดนี้ทำให้ศัลยแพทย์ไม่จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญหรือการฝึกฝนในระยะยาว ถือเป็นข้อได้เปรียบของการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการผ่าตัดได้
       
       ศัยลแพทย์ผู้ควบคุมจะสามารถมองดูการทำงานของหุ่นยนต์ตัวนี้ได้ผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ หรือจะชมภาพขยายสามมิติผ่านระบบ MRI ได้ผ่านหน้าจอทัชสกรีน โดยแพทย์สามารถสั่งการและรับฟังรายงานจากหุ่นยนต์ได้ผ่านหน้าจอทัชสกรีนดังกล่าวและไมโครโฟน
       
       "จุดมุ่งหมายสำคัญของเราคือการทำให้การผ่าตัดศัลยกรรมที่ยากนั้นง่ายดายขึ้นและลดความเสี่ยงลง" วิศวกรหุ่นยนต์ Alex Greer ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ส โดยให้ข้อมูลว่า ทีมพัฒนากำลังอยู่ระหว่างการทดสอบเพื่อชี้แจงข้อมูลแก่กระทรวงสาธารณสุขแคนาดาในสัปดาห์หน้า
       
       สำหรับแผนในระยะยาว ยังไม่มีรายงานแผนการทำตลาด neuroArm ในขณะนี้ โดย Bruce Mack รองประธานของ MacDonald, Dettwiler and Associates ยืนยันเพียงว่า ทีมพัฒนาจะวางจำหน่ายหุ่นยนต์ดังกล่าวแก่โรงพยาบาลอื่นๆแน่นอน
      
 
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-04-19-2.html
เมื่อ 5 กรกฎาคม 2567 08:09
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv