วันที่ 1-3 พฤษภาคม สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ ซิป้า- SIPA จะจัดอบรมการสร้างหุ่นยนต์ในโครงการ SIPA Camp-My Robot โดยเน้นให้ความรู้ ความเข้าใจ เพื่อสามารถ "สร้าง" หุ่นยนต์ด้วยตนเอง มิใช่เพียงแค่ "ประกอบ" หุ่นยนต์ เพื่อความสนุกสนาน บันเทิง ตามแบบสำเร็จรูปที่นำเข้าจากต่างประเทศ

วิมลลักษณ์ สิงหนาท ดอกเตอร์สาวจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ผู้มีความสามารถเคยทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในฝรั่งเศส และมหาวิทยาลัยในรัสเซีย จะมาเป็นผู้ถ่ายทอดกิจกรรมนี้

"ดิฉันเรียนจนจบปริญญาเอกออกซ์ฟอร์ด อังกฤษ ในคณะฟิสิกส์ เรียนแต่สาขาฟิสิกส์ เน้นหนักไปทางด้านนิวเคลียร์และอนุภาค และด้าน Quantum cryptography สนใจเรื่องหุ่นยนต์ตั้งแต่ชั้นประถม และเริ่มต้นใช้คอมพิวเตอร์ตั้งแต่ตอนนั้น ความสนใจเริ่มจากการประดิษฐ์ชิ้นงานด้านอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ก่อน ท่ามกลางความอกสั่นขวัญแขวนของพ่อแม่ ที่เห็นลูกเล่นอยู่กับไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะกลัวจะถูกไฟดูด

"จริงๆ คำว่าหุ่นยนต์ไม่ได้มีอยู่ในหัวเลย พอพูดถึงหุ่นยนต์ก็นึกถึงหนังการ์ตูนญี่ปุ่น หุ่นสองขาเดินได้ แปลงร่างได้ บังคับให้ทำอะไรต่อมิอะไรได้ พอโตขึ้นถึงรู้ว่าคำว่าหุ่นยนต์ไม่ได้หมายถึงแค่ตัวหุ่นสองขาเดินได้ ระบบอัตโนมัติทั้งหลายรอบตัวเรา จัดอยู่ในคำนิยามของคำว่าหุ่นยนต์ได้เหมือนกัน จากตอนเด็กๆ เราชอบที่จะประดิษฐ์อยู่แล้ว เป็นความรู้ทางกลศาสตร์ง่ายๆ บวกเข้ากับความรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะได้ของเล่นเจ๋งๆ ไว้อวดคนอื่น

"พออายุ 12-13 ปี ความสามารถทางคอมพิวเตอร์มากขึ้น ใส่สมองให้ของเล่นได้ ทำให้ของเล่นที่เราสร้างไว้ฉลาดขึ้น ยิ่งเรียนสาขาฟิสิกส์ มีทั้งกลศาสตร์ อิเล็กทรอนิกส์ บวกกับทักษะการเขียนโปรแกรมที่มี และที่เราได้ใช้ในการเขียน simulation ต่างๆ ทั้งศึกษาเกี่ยวกับด้าน Artificial intelligence, neuron network เมื่อนำทั้งหมดรวมกันแล้วก็ไม่ได้แตกต่างไปจากสาขา Robotics เท่าใดนัก

"มีความคิดที่จะเผยแพร่ความรู้ ไม่ใช่เฉพาะด้านหุ่นยนต์ ต้องบอกว่าความฝันที่อยากให้เป็นจริงที่สุดคือ การเห็นเด็กไทยหันมาสนใจวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์มากขึ้น สามารถพัฒนาจินตนาการของตนเองให้กลายเป็นจริงขึ้นมา จึงลงทุนควักกระเป๋าตั้งศูนย์ฝึกอบรม แรกเริ่มเดิมทีก็ตั้งใจทำให้เป็นโรงเรียนสำหรับสอนหุ่นยนต์โดยเฉพาะ ชื่อ Thinkwell Robotics and Computer Center เปิดที่เชียงใหม่ เราต้องการให้นักเรียน Think for themselves คือ คิดด้วยตนเอง สร้างสิ่งที่ฝันให้เป็นจริง ไม่จำกัดความรู้ไว้ในกรอบ

"การสอนในนักเรียนเข้าใจ มีเด็กเล็ก 7-8 ขวบ เรียนแล้วทำได้ เราทำสำเร็จก็มีความสุข ทำเพราะใจรัก อยากทำ เพราะการสอนของเรานั้นต้องการให้เด็กๆ ทำเป็นตั้งแต่เริ่มต้น ไม่เน้นให้ซื้อชุดสำเร็จมาใช้งาน อย่างน้อยต้องรู้จักอุปกรณ์แต่ละชิ้น ลงอุปกรณ์เองได้ บัดกรีเอง ทำอะไรเอง ซึ่งคนส่วนใหญ่มองว่ายุ่งยากและอันตราย ความจริงต้องเริ่มให้เด็กได้เรียนรู้อย่างถูกวิธีเสียแต่ตอนนี้

"การเรียนรู้เกี่ยวกับหุ่นยนต์นี้ เป็นการเชื่อมโยงศาสตร์ต่างๆ อาทิ กลศาสตร์ อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เข้าด้วยกัน ผสมกับความคิดและจินตนาการที่ดี ทำให้เด็กที่เคยทำได้ GOOD เปลี่ยนเป็น GREAT หุ่นยนต์เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ การเรียนรู้ต้องอาศัยการพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ผู้ศึกษาได้เรียนรู้และพัฒนาความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ ทักษะด้านเทคโนโลยี และความสนใจ ทั้งช่วยเสริมสร้างให้เกิดความมั่นใจในตัวเอง ความเป็นผู้นำที่สำคัญเป็นทักษะชีวิตที่ยั่งยืน แน่นอนว่าบุคคลเหล่านี้จะเป็นตัวแปรสำคัญ เป็นกำลังคนที่จำเป็นในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป

"ได้ร่วมมือกับทางซิป้า ถือว่าเป็นการสนับสนุนจากภาครัฐ เมื่อผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของการสร้างทักษะแบบยั่งยืน และมองว่าสามารถพัฒนาเยาวชนให้มีความรู้ด้านนี้โดยจุดประกายให้สังคม เป็น Big Impact จะทำให้ทุกคนหันมาให้ความสนใจและเริ่มศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง

"SIPA หรือ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ ชื่อแสดงเจตนาอันแน่ชัดที่จะส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมซอฟท์แวร์ของชาติ หากมองถึงเรื่องหุ่นยนต์ อีกนัยคือ Embedded Technology ซึ่งจะมีการเขียนโปรแกรมเพื่อควบคุมอุปกรณ์ต่างๆ ถ้าเริ่มส่งเสริมตั้งแต่เด็ก กระตุ้นให้เด็กมีความสนใจ จากหุ่นยนต์ในรูปแบบของ Mobile Robot ตัวเล็กๆ ที่เราจะอบรม สักวันต้องมีการพัฒนาไปจนถึงการเขียนซอฟต์แวร์เพื่อควบคุมอุปกรณ์ใน
ระดับโรงงานอุตสาหกรรม หรือใช้ในส่วนงานอื่นๆ ของประเทศ ทุกส่วนของการดำเนินชีวิตก็เป็นได้ การนำหุ่นยนต์ตัวเล็กๆ เป็นจุดเริ่มต้นนี้เพื่อเป็นการจุดประกายความคิด และดึงดูดความสนใจจากเด็กๆ

"ผู้ร่วมอบรมจะนำประโยชน์ไปใช้ได้แน่นอน ส่วนของเด็ก เรากำลังสร้าง Model Super Hero ให้เด็กเห็นว่าการเรียนด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี คณิตศาสตร์นำมาใช้ประโยชน์ได้จริง และมีสาขาอาชีพมากกว่าที่ตัวเด็กเคยคิด หากทำได้วันหนึ่งข้างหน้า เราจะไม่ขาดบุคลากรสาขานี้แน่นอน เด็กจะมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้าพูดกล้าแสดงออก มีความเป็นผู้นำ สำคัญกล้าจะคิด ทำ และลองในสิ่งที่ถูกต้อง

"สำหรับผู้ใหญ่ในวัยเกินเกษียณ การศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีเป็นการเปิดวิสัยทัศน์ และ tuning ความคิดของผู้ใหญ่และเด็กให้ตรงกันมากขึ้น เมื่อผู้ใหญ่เข้าใจถึงความจำเป็นของวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีแล้ว การดูแลเด็กจะเป็นไปอย่างเข้าอกเข้าใจมากขึ้น จากเดิมเห็นหลานนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ต้องรีบไล่ให้เข้านอน คิดแต่ว่าเด็กกำลังตกเป็นเหยื่อของเทคโนโลยี หากลองไปนั่งดู และพูดคุยอาจพบว่า เด็กกำลังพัฒนาชิ้นงานบนคอมพิวเตอร์ที่นั่งเล่นเกม อาจเป็นแนวทางในการเขียนเกมเพื่อเล่นเอง หากเข้าใจจะสามารถให้คำแนะนำเด็กได้อย่างถูกต้อง ถูกวิธี ทั้งช่วยตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและแม่นยำเพราะมีข้อมูลและความรู้เบื้องต้นแล้ว" 
 
 
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-04-19-3.html
เมื่อ 5 กรกฎาคม 2567 08:17
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv