นักวิชาการรุมค้านแนวคิด "ถุงยางจิ๋ว" สอนเด็กอนุบาล ระบุยังไม่ถึงเวลาให้เด็กเล็กเรียนรู้เรื่องนี้ ดีไม่ดีเด็กอาจจะเอาเข้าปากกินยิ่งอันตรายไปใหญ่ เผยช่วงที่เหมาะสมต้องอายุ 10 ขวบขึ้นไป ทำตอนนี้ไม่เป็นประโยชน์กับเด็กหรือใครเลย เข้าสำนวนไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้ "มีชัย วีระไวทยะ" ยืนยันทำแน่ สังคมไทยต้องปลูกฝังเรื่องนี้กันใหม่ ใครจะคิดยังไงก็ช่าง

จากกรณีนายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาเอดส์" ที่สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ โดยเสนอแนวคิดผลิตถุงยางขนาดจิ๋ว เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์สอนให้เด็กอายุ 3 ขวบ หรือระดับอนุบาลให้เห็นถึงความสำคัญของถุงยางอนามัยตั้งแต่เล็ก เพื่อป้องกันการมีเพศสัมพันธ์ไม่ปลอดภัยและการติดเชื้อเอดส์ โดยทดลองกับหลานชายและเห็นว่าได้ผล ตามข่าวที่เสนอไปนั้น

เมื่อวันที่ 26 เม.ย.นายสมชาย เจริญอำนวยสุข รองผอ.สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดดังกล่าวว่า การเสนอแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาต้องคำนึงถึงความเหมาะสมด้วย เพราะการทดลองให้เด็กอนุบาลเด็กเล็กๆ ไม่กี่ขวบรู้จักกับถุงยาง น่าจะเร็วเกินไป เด็กวัยนี้ควรจะได้รู้ในเรื่องดีๆ มากกว่า และไม่คิดว่าเด็กโตมาแล้วจะมั่วสุมเรื่องเพศสัมพันธ์กันตลอด ซึ่งการสอนให้เด็กรับรู้เรื่องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ หรือการใช้ถุงยางอนามัย เท่าที่รับฟังจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กจะสอนเมื่ออายุ 10 ขวบขึ้นไป ส่วนเด็กเล็กกว่านั้นน่าจะสอนเรื่องพื้นฐาน เช่น การรู้จักสรีระร่างกาย การป้องกันไม่ให้ใครมาสัมผัสหรือละเมิดร่างกาย เป็นต้น

"ทุกหน่วยงานทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข ก็ดำเนินการป้องกันแก้ปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ไม่เหมาะสมของเด็ก การป้องกันโรคเอดส์อยู่แล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ก็ทำโดยเน้นให้คิดเชิงบวก ฝึกให้มีผู้ดูแลเด็กอย่างมีศักยภาพ ส่วนการสอนเรื่องเพศและถุงยางน่าจะยังไม่ถึงเวลา เพราะหากเด็กเอาเข้าปากกินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จะอันตรายยิ่งขึ้น" นายสมชาย กล่าว

นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ กรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ และผอ.มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวว่า พัฒนาการเด็กตามวัยแล้ว เด็กเล็กจะไม่มีทางเข้าใจว่าถุงยางและอวัยวะเพศเกี่ยวข้องกันอย่างไร เพราะฮอร์โมนเพศยังไม่ทำงาน หากจะสอนเรื่องนี้กับเด็กเล็กๆ อย่างนี้จะเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากร ไม่เป็นประโยชน์กับเด็กหรือใครเลย ควรสอนเมื่อเด็กถึงวัยเหมาะสม การสอนก่อนหน้านั้นจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กยิ่งมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น แต่จะปล่อยให้เด็กไปมีเพศสัมพันธ์เปรอะไปหมดก็คงไม่ใช่ ดังนั้นหากจะสอนควรเป็นการให้ความรู้เรื่องสุขอนามัยด้านเพศ การรู้เท่าทันอารมณ์เพศ แรงขับดันทางเพศ การสลายอารมณ์เพศโดยทำกิจกรรมทดแทน การเอาตัวออกห่างปัจจัยกระตุ้นไม่ให้ตกเป็นทาสอารมณ์ทางเพศ ส่วนการสอนเรื่องถุงยางเมื่อเด็กโตมีฮอร์โมน มีอารมณ์เพศค่อยสอนก็ยังไม่สาย

"หากทำตอนนี้จะเข้าสำนวนยังไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้ จะเกิดผลเสียมากกว่า ทำให้เด็กสนใจอวัยวะเพศตัวเองมากเกินพอดี ซึ่งปกติเด็กวัยนี้จะสนใจอยู่แล้ว ชอบมุดกระโปรง ชอบแอบดูอวัยวะเพศของตัวเองและคนอื่น ซึ่งวัยที่เหมาะกับการสอนเรื่องถุงยางน่าจะประมาณ 12-13 ปีขึ้นไป เพราะเด็กเริ่มมีอารมณ์เพศ มีประจำเดือน และเชื้ออสุจิ ทั้งนี้การใช้ถุงยางคุมกำเนิดหรือป้องกันโรคไม่ยาก เด็กเองก็รู้ว่าทำอย่างไร แต่ปัญหาคือ เมื่อเกิดอารมณ์เด็กจะโดดไปมีเพศสัมพันธ์ทันที ดังนั้นต้องฝึกให้ควบคุมอารมณ์ให้ได้ก่อน ไม่ใช่สอนให้สวมถุงยาง การเห็นตรงข้ามไม่ได้คิดเป็นศัตรูกับนายมีชัยแต่อยากเห็นสิ่งที่ถูกต้อง" กรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติกล่าว

น.พ.บัณฑิต ศรไพศาล ผอ.สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า หลักการการให้ความรู้ต้องพิจารณาที่กลุ่มเป้าหมายเป็นสำคัญโดยจะแยกเป็นคนที่เคยมีประสบการณ์และไม่มีประสบการณ์ คนที่ไม่เคยการสอนต้องทำเพื่อไม่ให้เริ่มพฤติกรรมเสี่ยงขึ้น ส่วนคนที่มีประสบการณ์ก็ต้องสอนเพื่อให้ป้องกันอย่างถูกวิธี แนวคิดการสอนเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอดส์ในเด็กเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องสอนเพื่อไม่ให้เกิดหรือเริ่มพฤติกรรมเสี่ยง ส่วนการทำถุงยางอนามัยขนาดเล็กเพื่อให้เด็กได้สัมผัสนั้น เชื่อว่าจะทำให้เกิดการกระตุ้นความอยากรู้อยากลองอย่างแน่นอน

ด้านน.พ.อภิชัย มงคล รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า หากเป็นแนวคิดของนายมีชัย วีระไวทยะ นักวิชาการสาธารณสุข ส่วนใหญ่ค่อนข้างจะมั่นใจว่าผ่านกระบวนการคิดกลั่นกรองมาแล้ว และเป็นแนวคิดใหม่ที่น่าจะได้ผล ส่วนการจะไปกระตุ้นความอยากรู้อยากลองหรือไม่นั้น เชื่อว่าคงไม่เพราะเด็กในวัยอนุบาล ยังไม่มีความเจริญเติบโตเรื่องฮอร์โมนเพศ ต่อให้กระตุ้นมากกว่านี้ ก็ไม่มีความต้องการเพราะยังไม่ถึงวัย ซึ่งการเรียนการสอน อาจจะง่ายกว่าไม่ต้องสอนสลับซับซ้อนมาก เพราะเด็กไม่มีฮอร์โมนเพศที่จะมากระตุ้น

น.พ.อภิชัย กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ผ่านมา น่าจะเกิดจากสังคมปิดกั้น ห้ามหรือทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องลึกลับ เด็กจึงต้องหาความรู้เอาเอง บางครั้งกลายเป็นการกระตุ้นในเกิดพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องขึ้น แต่หากสอนให้เข้าใจ เด็กจะไม่มีความอยากรู้อีก ซึ่งปัญหาของการสอนที่สำคัญคือ ต้องสอนโดยครูที่เข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อเรื่องเพศ ต้องเตรียมวิธี กระบวนการสอนอย่างดี เพื่อให้เกิดความรู้มากกว่ากระตุ้นความอยาก

"สังคมไทยมักจะมีความเห็นเป็นสองฝ่าย เช่น เรื่องการติดตั้งตู้ถุงยางอนามัยในมหาวิทยาลัย ก็เป็นที่ถกเถียงกัน แต่หากพูดถึงการให้ความรู้ทางวิชาการ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และเรื่องเพศควรเป็นเรื่องเปิดเผย ไม่ทำให้เป็นเรื่องต้องห้าม เรื่องลึกลับ เด็กจะได้เข้าใจและไม่หาประสบการณ์ด้วยตัวเอง ในวัยที่ไม่สมควร" น.พ.อภิชัย กล่าว

นายวรากรณ์ สามโกเศศ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงแนวคิดของนายมีชัย ว่า เห็นด้วยกับการสอนให้เด็กและเยาวชนไทยตระหนักถึงการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์ต่อเด็ก ไม่ใช่การยุแหย่ หรือกระตุ้นให้เด็กอยากรู้อยากลอง แต่เป็นการสอนให้รู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่ง ศธ.มีการเรียนการสอนในเรื่องเพศศึกษาหลากหลายรูปแบบอยู่แล้วตั้งแต่ชั้นอนุบาล ที่จะสอนว่านกเกิดมาได้อย่างไร และเมื่อในระดับที่สูงขึ้นก็มีการสอนให้เยาวชนเห็นความสำคัญของการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย

"ถามว่าเรื่องนี้เหมาะสมหรือไม่ ผมยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงแนวคิดของนายมีชัย ที่เสนอให้สอนการใช้ถุงยางให้เด็กอายุ 3 ขวบ จึงไม่อยากไปวิพากษ์วิจารณ์ แต่คิดว่าน่าจะเป็นการติดตลกเท่านั้น เพราะนายมีชัยเองเป็นคนมีอารมณ์ขัน ซึ่งส่วนตัวแล้วลูกผมตอนที่อายุ 3 ขวบก็ไม่เคยไปสอนเรื่องนี้ เพราะคิดว่ายังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม เร็วเกินไป และถ้าไปสอนกันจริงๆ คงต้องพูดกันนาน กว่าจะรู้เรื่อง" นายวรากรณ์ กล่าว

ด้านนายมีชัย วีระไวทยะ นายกสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน ออกมายืนยันว่า การฝึกเด็กให้คุ้นเคยกับถุงยางอนามัย ไม่ได้หมายถึงยุยงให้เด็กใช้ แต่เป็นการฝึกให้รู้จักและคุ้นเคยจนเมื่อถึงวัยอันควร จะได้รู้จักป้องกันตัวเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์และการติดเชื้อเอดส์ โดยขณะนี้มีตัวเลขเด็กวัย 15-16 ปี มีเพศสัมพันธ์และติดเชื้อเอดส์ไม่ต่ำกว่า 40,000 คน จนรัฐบาลมอบหมายให้รณรงค์การติดเชื้อเอดส์และการทำแท้งในหมู่เยาวชนจึงต้องปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้เรื่องเพศกันใหม่ เพราะขณะนี้ผู้รับผิดชอบทั้งกระทรวงด้านสังคม หรือแพทย์ที่ออกมาคัดค้านบางคน ยังไม่เข้าใจในสิ่งที่ตนทำว่ามีประโยชน์อย่างไรจึงสมควรต้องปลูกฝังความรู้กันใหม่ทั้งหมด
 
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-04-27-2.html
เมื่อ 5 กรกฎาคม 2567 08:10
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv