"ทิพาวดี" ระบุ ทีวีสาธารณะจะให้ประโยชน์แก่ส่วนรวม แนะผู้ประกอบการรายการทีวีควรปรับตัวและทำความเข้าใจ เชื่อมืออาชีพจริงและมีเจตนาดีต่อสังคม จะสามารถปรับตัวได้


(27เม.ย.)เมื่อเวลา 12.00 น. คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการดำเนินการให้สถานีทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะ ว่า เชื่อมั่นว่ารูปแบบทีวีสาธารณะจะให้ประโยชน์แก่ส่วนรวม ดังนั้นผู้ประกอบการรายการทีวีควรปรับตัวและทำความเข้าใจถึงรูปแบบของสถานี ถ้าผู้ประกอบรายการได้เข้าใจแจ่มชัดว่าทีวีสาธารณะมีรายการหลากหลาย และมีโอกาสให้เกิดการซื้อรายการได้ เพียงแต่ต้องเป็นรายการมีคุณภาพ สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ ส่วนตัวมั่นใจว่าผู้ประกอบการที่เป็นมืออาชีพจริงและมีเจตนาดีต่อสังคมจะสามารถปรับตัวได้ ทั้งนี้ทีวีสาธารณะถือเป็นของใหม่สำหรับประเทศไทยทำให้เกิดความกังวลใจ แต่ในต่างประเทศมีการดำเนินการมาอย่างยาวนานและประสบผลสำเร็จสูง อาทิ สถานีวิทยุโทรทัศน์บีบีซีประเทศอังกฤษ สถานีเอ็นเอชเคประเทศญี่ปุ่น และสถานีซีบีซีประเทศแคนาดา ขณะเดียวกันยังเห็นว่ามีทีวีตั้งหลายช่องที่ผู้ประกอบการสามารถไปแข่งขันและทำธุรกิจได้

“ดิฉันมองว่าตัวเขาเองก็ต้องปรับตัว และต้องพยายามทำความเข้าใจด้วยว่า สื่อสาธารณะเป็นเรื่องประโยชน์ของส่วนรวม เพราะว่าวัตถุประสงค์ของสื่อสาธารณะก็คือต้องการมีรายการคุณภาพที่เป็นอิสระจากการบงการและชี้นำ โดยรัฐบาลและกลุ่มทุนต่าง ๆ เพียงแค่นี้ก็เป็นของดีแล้ว เพราะฉะนั้นมั่นใจว่าด้วยวัตถุประสงค์การทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะทุกคนก็ต้องหันมาสนับสนุน เพราะฉะนั้นความกังวลใจที่จะหารายได้ของเขาก็ยังมีช่องอื่นที่จะไปได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องปรับตัว และแสวงหาโอกาส เพราะในไทยมีความเป็นเสรีในการทำธุรกิจของตัวเองได้ ไม่ได้มีช่องเดียว” คุณหญิงทิพาวดีกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีบางกลุ่มมองว่าการจัดทำผลสำรวจของทีดีอาร์ไอ
เรื่องการให้ทีไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ คุณหญิงทิพาวดี กล่าวว่า ขณะนี้ไม่จำเป็นต้องพูดถึงประเด็นนั้น เพราะจุดสำคัญคือว่าทีวีสาธารณะไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นในโลก เพียงแต่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ดังนั้นเรามาดูที่วัตถุประสงค์ของสื่อนี้ว่าวางไว้ที่ใคร ประโยชน์อยู่ที่ประชาชนอยู่ที่ส่วนรวม เพียงแค่นี้ก็มั่นใจว่าเป็นสิ่งดีงามที่ทุกคนไม่ต้องตั้งคำถาม แต่กระบวนการที่จะกังวลใจจะอยู่ที่การสร้างกลไกขององค์กร กระบวนการสรรหาผู้ที่จะมาเป็นผู้บริหารสถานี ตรงนั้นต้องช่วยกันดูว่าจะเป็นกระบวนการเปิดเผย เป็นกลาง เปิดให้ผู้มีความสามารถเข้าทำหน้าที่หรือไม่ ซึ่งในส่วนนั้นจะต้องรอดูความชัดเจนถึงข้อกำหนดในร่างกฎหมายที่กำลังเร่งดำเนินการอยู่

เมื่อถามถึงเงินเดือนของพนักงานทีไอทีวี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า เรื่องค่าใช้จ่ายของสถานีเป็นเรื่องสำคัญซึ่งตนได้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้มีความจำเป็นต้องให้เป็นการดำเนินการโดยหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ หรือเอสดียู ซึ่งเชื่อว่า กพร.มั่นใจที่จะอนุมัติแปลงภารกิจของกรมประชาสัมพันธ์ในฐานะผู้บริหารทีไอทีวีให้สามารถดำเนินการ
แบบเอสดียูได้ ซึ่งเมื่อเป็นการดำเนินงานลักษณะดังกล่าวแล้วจะมีกฎระเบียบต่าง ๆ ที่คล่องตัวมากขึ้น
 
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-04-28-1.html
เมื่อ 5 กรกฎาคม 2567 08:17
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv