เชียงราย - ปลัดพัฒนาสังคมฯเร่งแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็ก เตรียมลงนามขยายความร่วมมือทุกภาคส่วนครอบคลุม 17 จังหวัดภาคเหนือ สกัดกั้น-ปรับปรุงกฎหมาย-เยียวยา-ให้ความรู้ 8 พ.ค.นี้ เพื่อป้องกันและปราบปรามอย่างเด็ดขาด
       

       วันนี้ (3 พ.ค.) นางกานดา วัชราภัย รองปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นายผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, นายอมรพันธุ์ นิมานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, พล.ต.กานน บุญริ้ว ผบ.จทบ.เชียงราย, นายกีย์ ไทส์ รอง ผอ.เอเชียและแปซิฟิก องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ, ผู้แทนโครงการระหว่างประเทศว่าด้วยการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก (ILO), ผู้แทนผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ และ จ.พะเยา, ตำรวจ, เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ราว 200 คน ได้ร่วมประชุม เรื่อง การป้องกันการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็ก-รูปแบบโครงการที่มีประสิทธิภาพและ
โครงการใหม่ ที่ โรงแรมเวียงอินทน์ จ.เชียงราย
       
       นางกานดา วัชราภัย รองปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าปริมาณของกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการค้ามนุษย์มีอยู่เท่าใด จะทราบได้ก็ต่อเมื่อมีการเข้าไปช่วยเหลือเหยื่อเหล่านี้และปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของไทยขณะนี้ไม่แน่ชัดว่าจะส่งผลต่อจำนวนเหยื่อจากการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นด้วยหรือไม่
       
       อย่างไรก็ตาม การค้ามนุษย์เป็นด้านลบของกระแสโลกาภิวัตน์ และเป็นการค้าทาสยุคใหม่ ซึ่งจะได้เร่งแก้ปัญหาโดยมีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ในกรณีเด็กและหญิงซึ่งตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ เป็น 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยจะลงนามในวันที่ 8 พฤษภาคม 2550 นี้
       

       รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ของประเทศก็จะเร่งทำข้อตกลงร่วมกันด้วย ซึ่งเชื่อว่า หากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งการส่งเสริมศักยภาพ, แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร, การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เพื่อให้กฎหมายมีความเป็นปัจจุบัน, การรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์, การฟื้นฟูและเยียวยาแก่ผู้ถูกกระทำ
       
       นางกานดา กล่าวต่อว่า จะมีการตั้งสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ เช่น จ.นนทบุรี, พิษณุโลก, นครราชสีมา, สุราษฎร์ธานี, ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา อ.แม่จัน จ.เชียงราย ฯลฯ รองรับเหยื่อโดยไม่เลือกเพศและสัญชาติ และการเปลี่ยนทัศนคติของคนในสังคมเพื่อให้ผู้ถูกกระทำกลับสู่สังคมได้อย่างปกติ จะเป็นมาตรการที่จะดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาต่อไป
       
       ด้าน นายอมรพันธุ์ นิมานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศสหภาพพม่า และ สปป.ลาว สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนทางแม่น้ำโขงและ
ในอนาคตจะมีเส้นทางถนน เช่น R3a ที่สมบูรณ์ จึงเป็นเส้นทางที่จะมีประชากรจากเพื่อนบ้านเข้ามาใน จ.เชียงราย ได้ง่าย รวมทั้งชาวไทยภูเขา และอาจเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ได้
       
       ทั้งนี้ ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความยากจน, ขาดโอกาสทางการศึกษา, การตกอยู่ในกระแสบริโภคนิยมลการถูกล่อลวงไม่เท่าทันต่อปัญหา ดังนั้น ต้องเร่งสร้างความมั่นคงในอาชีพ และระบบการศึกษาจะต้องเอื้อให้ประชาชนได้เรียนต่อในระดับสูงให้มากจึงจะลดปัญหาลง
และต้องบังคับใช้กฎหมาย การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ให้จริงจัง
       
       สำหรับข้อมูลของพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย พบว่าในปี 2548 ถึงต้นปี 2549 มีการดำเนินคดีเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ 15 คดี 33 ราย และมีการส่งฟ้องผู้ต้องหา 12 ราย และช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ 51 คน ส่วนมากเป็นเรื่องเกี่ยวกับเพศพาณิชย์
       

       ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมจังหวัดเชียงราย ระบุว่า ปัญหาการค้าประเวณีในปัจจุบัน เริ่มพบว่ามีชาวต่างด้าวจากสหภาพพม่า เข้ามาค้าประเวณีมากขึ้น ทั้งสมัครใจ และถูกหลอก โดยใช้เส้นทางผ่าน จ.เชียงราย เพื่อเดินทางต่อไปภาคกลาง
       
       นอกจากนี้ ยังพบว่า บางส่วนถูกส่งต่อไปค้าประเวณีที่ ประเทศมาเลเซีย, สิงคโปร์, บรูไน โดยมีขบวนการนำพากันเป็นระบบ และบางรายเมื่อไปค้าประเวณีจนมีฐานะในระดับหนึ่งก็จะกลับมาชักชวนคนในพื้นที่ไปต่อ
ทำให้ปัญหาไม่จบสิ้น โดยสาเหตุมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ และขาดความรู้ เป็นสำคัญ และ ประเทศสหภาพ พม่า เป็นประเทศเดียวที่ องค์กรระหว่างประเทศไม่สามารถเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาได้ ้้เนื่องจากถูกบอยคอตจากนานาประเทศ
ทำให้ปัญหายังมีต่อเนื่อง
       
       ส่วนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.เชียงใหม่ รายงานว่าห้วงเดียวกันพบปัญหา 51 คน และ 80% เป็นปัญหาเกี่ยวกับเพศพาณิชย์ และ 9% เป็นกรณีเกี่ยวกับการเร่ร่อนขอทาน และ 1% เป็นเรื่องของการถูกหลอกมาแต่งงาน
 
 
 
 
ที่มา- 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-05-04-1.html
เมื่อ 5 กรกฎาคม 2567 10:23
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv