นักวิจัยอังกฤษเปิดโลกมืดให้คนตาบอด ใช้เทคนิค "ยีนบำบัด" ทดลองรักษาผู้มีปัญหาดวงตา 12 ราย ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรมมาตั้งแต่กำเนิด ทำให้ต้องเผชิญกับโลกมืดตั้งแต่อยู่ในครรภ์

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : โรบิน อาลี จากโรงพยาบาลตามัวร์ฟิล์ดในกรุงลอนดอน และทีมงาน ทำการวิจัยทางคลินิกรักษาผู้ป่วย ทั้งกลุ่มผู้ใหญ่และเด็กที่เป็นโรคแอลซีเอ ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของยีนอาร์พีอี 65 ยีนดังกล่าวมีคำสั่งให้ผลิตโปรตีนสำหรับหมุนเวียนเรตินอลกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้ เรตินอลเป็นโมเลกุลที่ช่วยให้เซลล์เรตินาตรวจจับแสงสว่างได้ คนที่มีปัญหาผิดปกติของยีนตัวนี้มักสูญเสียการมองเห็นตั้งแต่เป็นทารก

ทีมแพทย์จึงหาวิธีรักษาด้วยยีน โดยเอาชุดสำเนายีนอาร์พีอี 65 ที่ปกติใส่เข้าไปในเซลล์เรตินา โดยใช้ไวรัสเป็นตัวนำพาสู่เซลล์ ก่อนหน้านี้ แพทย์เคยทดลองรักษาสุนัขที่เป็นโรคแอลซีเอ และทดสอบให้เดินผ่านเขาวงกตได้สบาย

ด้านลีโอนาร์ด เซย์มัวร์ หัวหน้ากลุ่มรักษาด้วยยีนจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ให้ความเห็นงานต่อวิจัยนี้ว่า เรตินาเป็นเซลล์ที่เหมาะสำหรับรักษาด้วยยีนบำบัด เพราะสามารถฉีดยีนเข้าไปได้โดยตรงจึงไม่มีปัญหาเรื่องการส่งยีนเข้าสู่ร่างกาย และตัวนำส่งยีนยังไม่ถูกระบบภูมิคุ้มกันทำลายด้วย

ทีมแพทย์ได้พัฒนาการรักษาแบบนี้มาเกือบ 15 ปี และการทดลองกับผู้ป่วยครั้งนี้เป็นครั้งแรก ก่อนที่จะนำยีนบำบัดไปรักษาคนที่มีปัญหาการมองเห็นแบบอื่น สำหรับผลการรักษาต้องรออีกหลายเดือนเพื่อดูว่า ยีนบำบัดใช้รักษาได้ผลกับคนจริงหรือไม่

 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-05-08-2.html
เมื่อ 6 กรกฎาคม 2567 02:37
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv