ว.ส.ท.เผย จะมีกม.คุ้มครอง การสร้างตึกอาคารในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เร็วๆนี้ ด้านคณบดีวิศวะ ฯ แจง ป.ตรี ไม่มีหลักสูตรการออกแบบโครงสร้างอาคารต้านแผ่นดินไหว เป็นเพียงวิชาเลือก หากจะเรียนต้องเป็นระดับปริญญาโท แนะติดป้ายประกาศและป้องกันอันตรายหากเกิดแผ่นดินไหวในอาคาร และซ้อมป้องกันปีละครั้ง และออกกฏหมายการออกแบบสร้างอาคารป้องกันแผ่นดินไหวในระยะยาว

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : จากกรณีที่มีการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อ16 พ.ค. ที่ส่งผลกระทบทำให้อาคารสูงที่สร้างขึ้นที่กรุงเทพมหานครเกิดการสั่นสะเทือนนั้น  รศ.ดร.วิโรจน์   บุญญภิญโญ คณะอนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (ว.ส.ท.) ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ขณะนี้คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในประเทศไทยที่มีหลักสูตรการเรียนการสอนเกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้างต้านทานแผ่นดินไหว จะมีเฉพาะการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และมหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นต้น ส่วนในระดับปริญญาตรีนั้นจะเป็นเพียงวิชาเลือกหนึ่งในสาขาของวิศวกรรมโยธา

 คณะอนุกรรมการ ฯว.ส.ท.กล่าวอีกว่า การออกแบบต้านแผ่นดินไหว นั้นจะเป็นส่วนหนึ่งในวิชาวิศวกรรมโครงสร้าง ซึ่งอยู่ในสาขาวิศวกรรมโยธา โดยจะเป็นการสอนการออกแบบโครงสร้างอาคารที่สามารถต้านแรงสั่นสะเทือนของพื้นดิน
ที่มีผลกระทบต่อตัวอาคาร อีกทั้งสอนให้รู้ถึงลักษณะของการเกิดแผ่นไหวที่ส่งผลต่อตึก และอาคาร อย่างการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อวานนี้ที่เกิดขึ้นนั้น คนที่อยู่ที่ตึกสูงๆ ในกรุงเทพฯ จะรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนเพียงเล็กน้อย เพราะอยู่ห่างจากแหล่งกำเนิด แต่สำหรับคนที่อยู่ในจ.เชียงรายนั้นจะรู้สึกได้ว่าแผ่นดินไหวแรง อีกทั้งจะเห็นรอยร้าวของตึกอาคารได้

 อย่างไรก็ตามมีเพียง 9 จังหวัดทางภาคเหนือเท่านั้นที่มีกฎหมายคุ้มครองเกี่ยวกับการสร้างตึกและอาคาร
ที่จะต้องต้านการเกิดแผ่นดินไหว แต่หลังจากที่ได้ความช่วยเหลือจากกรมอุตุนิยมวิทยาในเรื่องของทุนในการจัดการ และมีเครือข่ายที่ช่วยเฝ้าระวังและวัดแรงสั่นสะเทือนมากขึ้นนั้น ทางว.ส.ท. ได้มีการดำเนินการขอกฎหมายคุ้มครองการสร้างตึกและอาคารในเขตของกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วย เพราะในกรุงเทพฯ มีตึกอาคารสูงๆเป็นจำนวนมาก การออกแบบโครงสร้างอาคารจึงมีความจำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นขอกฏษฎีกา คาดว่าน่าจะมีกฎหมายออกมาบังคับเร็วๆนี้

 ศ.ดร.วิโรจน์กล่าวต่ออีกว่า ในเรื่องการออกแบบโครงสร้างเพื่อต้านทานแผ่นดินไหว ว.ส.ท.จะมีการจัดอบรมขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งปีนี้ได้จัดเป็นปีที่ 7 แล้ว โดยจะจัดในปลายเดือนตุลาคม ที่จ.เชียงใหม่ เพื่อให้วิศวกรได้คำนึงถึงการสร้างตึกอาคาร ต้านแผ่นดินไหวได้ ส่วนเรื่องที่จะมีหลักสูตรเพื่อเปิดสอนเรื่องนี้โดยตรงหรือไม่นั้น ทางว.ส.ท.เคยได้หารือเกี่ยวกับเรื่องการจัดหลักสูตรเรื่องนี้แล้ว คาดว่าจะทราบผลเร็วๆนี้

 ด้านรศ.ดร.อุรุยา วีสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)กล่าวว่า มธ.จะมีหลักสูตรการออกแบบสร้างอาคารต้านแผ่นดินไหวนั้น ในหลักสูตรของป.โท ซึ่งจะเป็นสาชาวิชาสัมมนาพิเศษเกี่ยวกับวิศวกรรมโยธา ส่วนในระดับป.ตรี นั้นจะเป็นวิชาเลือกในสาขาวิศวกรรมโครงสร้าง โดยจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสร้างตึกเมื่อได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว แต่ถ้าเป็นหลักสูตรที่เปิดสอนเรื่องนี้โดยตรงนั้นไม่มี

 คณบดีคณะวิศวฯมธ. กล่าวอีกว่า จริงๆแล้วการเกิดแผ่นดินไหวนั้นจะขึ้นอยู่กับจุดศูนย์กลางที่เกิด และความแข็งแรงของดิน อย่างกรุงเทพฯ นั้นถือว่าค่อนข้างอันตราย เพราะพื้นดินค่อนข้างจะเป็นดินอ่อนเสี่ยงต่อตัวตึกและอาคารจะทรุดได้ง่าย แต่ที่ได้รับผลกระทบน้อยนั้น เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากจุดศูนย์กลาง ซึ่งถ้าเกิดแผ่นดินไหวที่เชียงราย หรือใกล้ๆกรุงเทพฯ ก็ถือว่าเป็นอันตรายอย่างมาก ส่วนแนวทางในการป้องกันเรื่องนี้นั้น ควรจะมีการติดป้ายประกาศและวิธีป้องกันการปฏิบัติตนเมื่อเกิดแผ่นดินไหว อาทิอยู่ใต้โต๊ะ เพื่อป้องกันสิ่งของตกใส่ศีรษะ หรือมีการซ้อมป้องกันปีละครั้ง แต่ถ้าจะป้องกันในระยะยาวนั้นจะต้องมีกฎหมายออกมากำหนดในการออกแบบสร้างอาคาร เพื่อป้องกันการเกิดแผ่นดินไหว

 ศ.ดร.ดิเรก คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าในระดับการเรียนการสอนปริญญาตรี นั้น จะไม่มีหลักสูตรที่จัดสอนเรื่องการออกแบบสร้างอาคารต้านหรือป้องกันแผ่นดินไหวโดยตรง แต่จะเป็นวิชาเลือกในหลักสูตรการออกแบบอาคารทั่วไป สาขาวิศวกรรมโยธา ซึ่งจะมีการสอนถึงการออกแบบผูกเหล็กต้านแผ่นดินไหวรวมอยู่ด้วย โดยชื่อว่าหลักสูตรการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหว เด็กจะเลือกลงเรียนหรือไม่ก็ได้ ส่วนในระดับปริญญาโทนั้นจะมีการเปิดสอนสาขาการออกแบบต้านอาคารแผ่นดินไหว

 คณบดีคณะวิศวฯ กล่าวอีกว่าการที่จะสร้างตึกหรืออาคารเพื่อป้องกันแผ่นดินไหวนั้นจะต้องคำนึงอยู่ 2 อย่าง คือ 1 จุดกำเนิดของการเกิดแผ่นดินไหว
และ 2. ระยะห่างจากจุดศูนย์กลาง อย่างในกรุงเทพฯ นั้นเป็นเพียงการสั่นสะเทือนเล็กน้อย เมื่อเทียบกับภาคเหนือ เพราะอยู่ไกลจากจุดศูนย์กลางมาก ทำให้การสร้างอาคารในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ไม่มีการบังคับให้ต้านแผ่นดินไหว

 อย่างไรก็ตามการออกแบบสร้างอาคารนั้น ควรจะต้องมีการออกแบบต้านอาคารแผ่นดินไหวทุกอาคาร โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เพราะมีอาคารสูงจำนวนมาก และถ้าอาคารเหล่านั้นได้พังลง ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็จะขยายจำนวนมาก

 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-05-18-2.html
เมื่อ 5 กรกฎาคม 2567 10:23
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv