ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา

“ผมใช้เวลานานเกือบ 20 ปี เพื่อศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถม มัธยม จนสำเร็จระดับปริญญาเอกกว่าจะได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ แต่สารภาพว่าไม่เคยใช้เวลาเพื่อเตรียมตัวที่จะเป็นพ่อ ไม่เคยเรียนรู้ก่อนว่าเมื่อเป็นพ่อแล้วจะต้องทำอย่างไร ผมจึงเป็นพ่อที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไม่รู้แม้ที่จะพัฒนาให้ลูกเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ”

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : คำพูดข้างต้นเป็นคำสารภาพของนักวิทยาศาสตร์ไทยชื่อดัง ที่เป็นผู้คิดค้นระบบลงจอดยานอวกาศบนดาวอังคารให้กับองค์การนาซ่า “ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา” ที่หันมาให้ความสนใจในการพัฒนามนุษย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารโรงเรียนสัตยาไส จังหวัดลพบุรี โดยกล่าวในการบรรยายพิเศษการประชุมวิชาการ “การพัฒนาสติปัญญาเด็กไทย ครั้งที่ 4” ประจำปี 2550 จัดโดยกรมสุขภาพจิต

ดร.อาจอง บอกว่า ปัญหาข้างต้นไม่เพียงเป็นสิ่งที่เกิดกับตนเท่านั้น แต่เป็นปัญหาสำคัญของมนุษย์ เพราะไม่ว่าก่อนที่เราจะทำอะไรก็ตาม มักมีการเตรียมตัว เตรียมความพร้อมสำหรับสิ่งนั้น ๆ ไว้เสมอ แต่กับ “ลูก” เรากลับไม่เคยเตรียมตัวเลยที่จะเป็นพ่อแม่คน เมื่อแต่งงานแล้วก็มีลูก การเป็นพ่อแม่จึงค่อยเริ่มต้นขึ้น เป็นสาเหตุที่ทำให้สังคมวุ่นวายเหมือนเช่นทุกวันนี้ เพราะเราไม่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาการของลูก ทั้งที่ควรเริ่มเตรียมตั้งแต่ก่อนแต่งงาน

รวมทั้งการตั้งท้องที่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุด เพราะการเรียนรู้และพัฒนาการของลูกได้เริ่มต้นที่นี่แล้ว จนมีคำพูดที่ว่า การฝึกพัฒนาการ หากเริ่มต้นในช่วงอนุบาลก็ถือว่าสายไปแล้ว

สำหรับการสร้างพัฒนาการของลูก ก่อนอื่นพ่อแม่จะต้องเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของลูกก่อน จึงจะทำให้ลูกมีพัฒนาการเป็นไปในทางที่ดี โดยกำหนดว่าอยากให้ลูกเป็นอย่างไร ซึ่งการรับนักเรียนเข้าโรงเรียนสัตยาไสนั้น ไม่เพียงแต่จะพิจารณาที่ตัวเด็กเท่านั้น แต่จะวิเคราะห์ถึงพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย หากพ่อแม่เด็กบอกว่า อยากให้ลูกเป็นคนเก่ง คงจบกันแค่นี้ไม่ต้องพูดอะไรกันอีก เพราะตนมองว่าควรฝึกให้ลูกเป็น “คนดี” เพราะคนดีเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงสังคมได้

“ผมเห็นว่า คนเก่งตอนนี้มีเยอะแล้ว และคนเก่งก็เป็นคนที่สร้างปัญหาต่าง ๆ ให้กับโลกใบนี้มากมาย ทั้งการคิดค้นอาวุธร้ายแรงก็มาจากคนเก่ง สงครามก็มาจากคนเก่งกับคนเก่งที่ต้องการเอาชนะกัน อีกทั้งคนเก่งย่อมไม่ชอบให้คนอื่นเก่งกว่าอีก หากใครเก่งกว่าก็ต้องพยายามแข่งขัน ซึ่งเป็นต้นเหตุของความวุ่นวาย ดังนั้นจึงควรหันมาเน้นการพัฒนาด้านจิตใจเป็นสำคัญ ให้มีการยอมรับ รู้จักเหตุ รู้จักผล”

อีกทั้งสภาพแวดล้อมปัจจุบัน เด็กตกเป็นกลุ่มเป้าหมายของนักการตลาด ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดความต้องการและแข่งขันกันอย่างรุนแรง อย่างโทรศัพท์มือถือธรรมดาที่โทรเข้าโทรออกได้ ราคา 1,350 บาท แต่ถ้าเด็กๆ เห็นก็จะบอกว่า หน้าจอไม่เป็นสี ไม่มี MP3 ไม่ใช่ MP4 ถ่ายรูปไม่ได้ เพื่อนมีแบบไหนก็ต้องมีเหมือนกัน รวมถึงของเล่น เกมคอมพิวเตอร์ เป็นความต้องการไม่มีที่สิ้นสุดที่ก่อปัญหาให้สังคม เพราะจะต้องดิ้นรนเพื่อให้ได้มาตามความต้องการ

เมื่อเด็กต้องการมากก็ผิดหวังมาก หากต้องการน้อยก็ผิดหวังน้อย แต่ถ้าไม่ต้องการก็ไม่ผิดหวังอะไรเลย ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างภูมิต้านทานนี้ให้กับเด็กก่อนเติบโตก่อนไปเป็นผู้ใหญ่

ดร.อาจอง เล่าว่า จากประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษาวิจัย “เด็กเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไร” อะไรเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงให้เด็กที่โรงเรียนสัตยาไสมีจิตใจที่ดีขึ้น พบว่า การมี “ครูที่ดี” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด นั่นหมายถึงพ่อแม่ที่เป็นครูคนแรก ต้องร่วมกันทำงานกับครูที่โรงเรียนเพื่อช่วยกันสอนเด็กตลอดเวลา โดยเฉพาะพ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี หากเราใช้อารมณ์ในการเลี้ยงดู ลูกก็จะจดจำเลียบแบบ เมื่อโตขึ้นจะใช้อารมณ์ในการตัดสินใจหรือทำสิ่งใดๆ เหมือนเป็นกระจกที่เงาสะท้อนให้เห็นถึงตัวเราเอง

ทั้งนี้พ่อแม่และครูจะต้องไม่ใช่แค่บอกหรือสอนเท่านั้น แต่จะต้องทำให้เขารู้จักคิด วิเคราะห์ และขวนขวายหาความรู้ด้วยตัวเองมากที่สุด เรามีหน้าที่เพียงแต่อำนวยความสะดวกสนับสนุนให้การเกิดการพัฒนาเท่านั้น เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เขาสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้

ปัจจัยต่อมาคือ “สมาธิ” ซึ่งการฝึกสมาธิทำได้ ไม่ว่าศาสนาใด เพราะจะช่วยให้เด็กมีจิตใจที่สงบ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง มีเวลาคิดและพิจารณาในสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น รู้จักแยกแยะผิดถูก มีสติมากขึ้น ซึ่งเมื่อตอนที่ยังเด็ก ตนเองก็เคยเป็นเด็กเกเรมากก่อน แต่เมื่อฝึกสมาธิได้เพียงแค่เดือนเดียวก็มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี

แต่หากเป็นเด็กโตในระดับมัธยมนั้น ยังต้องอาศัยอีกปัจจัยที่ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นั่นคือ “เพื่อน” ที่มีอิทธิพลอย่างมาก ดังนั้นจำเป็นต้องระมัดระวังว่าลูกเราคบใคร มีเพื่อนแบบไหน เพราะการมีเพื่อนที่ดีจะสามารถชักจูงเด็กให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีได้

ทั้งนี้ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า พ่อแม่ส่วนใหญ่ต่างมุ่งพัฒนา IQ (Intelligence Quotient: ระดับเชาว์ปัญญาหรือความสามารถของมนุษย์ในการเรียนรู้ วิเคราะห์ ทำความเข้าใจ) เพื่อให้ลูกเป็นคนฉลาดเท่านั้น ซึ่งความจริงไม่เพียงพอ เพราะต้องพัฒนา EQ (Emotional Quotient: ความฉลาดทางอารมณ์) และ MQ (Moral Quotient:ศีลธรรม) ควบคู่จึงจะนำลูกไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้

และหากเราเริ่มต้นพัฒนาจาก EQ และ MQ จะทำให้ลูกเป็นคนดี มีความสุข และ IQ ก็จะตามมา เป็นการดึงความฉลาดจากภายใน เพราะ EQ และ MQ เป็นการสร้างจิตสำนึก ทำให้ลูกรู้จักหน้าที่ ความรับผิดชอบ ขยันสนใจการเรียนนำไปสู่การพัฒนาที่ดีจนเป็น “มนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ” ซึ่งพ่อแม่และครูเองจะต้องให้ความรัก ความอบอุ่น เวลาและความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมให้ลูกเดินไปในทางที่ถูกต้อง และที่สำคัญจะต้องเป็นต้นแบบที่ดีเพื่อให้ลูกเดินตาม

 
 
 
 
 
 
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-06-25-2.html
เมื่อ 5 กรกฎาคม 2567 12:13
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv