ใต้ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ลึกกว่า 2 กิโลเมตร มีซากพืชซากสัตว์ยุคโบราณถูกฝังอยู่ และสามารถสกัดเอาดีเอ็นเอบริสุทธิ์ได้ พบว่ามีอายุถึง 450,000 ปี นับเป็นดีเอ็นเอที่เก่าแก่ที่สุดในโลก 
 
 
เอเอฟพี/บีบีซีนิวส์ – สำรวจชั้นน้ำแข็งกรีนแลนด์ พบดีเอ็นเอเก่าแก่ที่สุดในโลก ชี้บริเวณนั้นเคยปกคลุมด้วยผืนป่ามาก่อน นักวิจัยยันภาวะโลกร้อนเคยมีมาแล้วเมื่อหลายแสนปีก่อน แถมอุณหภูมิยังสูงกว่าปัจจุบันถึง 5 องศาเซลเซียส แต่ธารน้ำแข็งกลับไม่สะท้าน
       
       บริเวณ Dye 3 คือบริเวณที่ทีมวิจัยขุดธารน้ำแข็งขึ้นมาสำรวจพบ และพิสูจน์ดีเอ็นเอที่สกัดได้ พบว่าบริเวณดังกล่าวเคยเป็นผืนป่ามาก่อน
 
ทีมนักวิทยาศาสตร์ออกสำรวจและเก็บตัวอย่างชั้นน้ำแข็ง
ทางตอนใต้ของเกาะกรีนแลนด์ พบใต้ชั้นน้ำแข็งลึกกว่า 2 กม. เต็มไปด้วยซากสิ่งมีชีวิตถูกฝังมายาวนาน บ่งชี้ว่าบริเวณดังกล่าวเคยเป็นป่าเขียวชอุ่มก่อนที่จะเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง ทั้งยังมีอุณหภูมิสูงกว่าในปัจจุบันถึง 5 องศาเซลเซียส หรือเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงโลกร้อน ดังเช่นสถานการณ์ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยได้ตีพิมพ์รายงานลงในวารสารไซน์ (Science) และหวังใช้เป็นแนวทางสำหรับศึกษาสิ่งที่อยู่ภายใต้ชั้นน้ำแข็งบริเวณอื่นๆ ทั่วโลกต่อไป
       
       "การศึกษาตัวอย่างดีเอ็นเอที่ได้มาจากซากสิ่งมีชีวิตใต้ชั้นน้ำแข็ง ทำให้เราสามารถจำลองสภาพแวดล้อมบริเวณนั้นเมื่อครั้งอดีตได้แม่นยำมากขึ้น" มาร์ติน ชาร์ป (Martin Sharp) ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็ง จากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา (University of Alberta) แคนาดา เปิดเผย
       
       ซากสิ่งมีชีวิตที่พบใต้ชั้นน้ำแข็งยังไม่เน่าเปื่อยผุพัง ทำให้สกัดดีเอ็นเอบริสุทธิ์ได้ พบว่ามีอายุเก่าแก่ถึง 450,000 ปี และเมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งมีชีวิตในยุคปัจจุบัน ทีมสำรวจสันนิษฐานว่า ในอดีตธารน้ำแข็งกรีนแลนด์เคยถูกปกคลุมด้วยป่า ทั้งยังมีความหลากหลายทางชีวภาพด้วย โดยต้นไม้ส่วนใหญ่เป็นพวกสนชนิดต่างๆ และเต็มไปด้วยแมลงหลากชนิด ทั้งผีเสื้อ แมงมุม เต่าทอง ด้วง เป็นต้น
       
       ทั้งนี้ ป่าที่เคยอุดมสมบูรณ์ทางตอนใต้ของกรีนแลนด์อยู่ในช่วง 450,000 – 900,000 ล้านปีก่อน และเป็นช่วงที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นในยุคนั้น หรือที่เรียกว่า ช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็ง (Interglacial Period) โดยอุณหภูมิขึ้นสูงสุด 10 องศาเซลเซียส ในฤดูร้อน และต่ำสุด -17 องศาเซลเซียส ในฤดูหนาว ต่อมาเมื่ออุณหภูมิลดต่ำลงและเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้งเมื่อราว 450,000 ปีก่อน ความหนาวเย็นและธารน้ำแข็งก็เข้าปกคลุมพื้นที่ป่าบริเวณดังกล่าว สิ่งมีชีวิตต่างๆ จึงถูกฝังและแช่แข็งอยู่ใต้ธารน้ำแข็งโดยไม่เน่าเปื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
       
       ก่อนหน้านี้เคยมีการค้นพบฟอสซิลอายุ 2.4 ล้านปี ทางตอนเหนือของกรีนแลนด์ และเป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าสภาพพื้นที่ของกรีนแลนด์เมื่อ 2.4 ล้านปีที่แล้ว เคยเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์มาก่อน
       
       นอกจากนี้ยังพบว่าช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย คือเมื่อ 116,000 – 130,000 ปีก่อน อุณหภูมิบริเวณธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ยังสูงกว่าในปัจจุบันถึง 5 องศาเซลเซียส แต่ธารน้ำแข็งที่หนา 1,000-1,500 เมตร กลับไม่หลอมละลายไปจนหมด ทั้งที่จากการวิจัย อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเพียง 3 องศาก็สามารถทำให้ธารน้ำแข็งหลอมเหลวได้แล้ว
       
       “ชั้นน้ำแข็งที่เราขุดลึกกว่า 2 กม. ต่างจากกรีนแลนด์ที่เราเห็นในปัจจุบันมาก” ศาสตราจารย์เอสเก วิลเลอร์สเลฟ (Eske Willerslev) จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน (University of Copenhagen) ประเทศเดนมาร์ก หนึ่งในผู้ร่วมศึกษา กล่าวและเพิ่มเติมว่า ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์นี้มีเสถียรภาพมากกว่าที่คิดกันไว้เสียอีก
       
       จากการศึกษานี้ ทำให้นักวิจัยทราบว่าปรากฏการณ์โลกร้อนเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ทั้งยังร้อนกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเสียอีก แต่ธารน้ำแข็งก็ยังคงตัวอยู่ได้ ขณะที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายลงรวดเร็วกว่าเมื่อครั้งอดีต โดยปี 2539 ละลายไป 100 ลูกบาศก์เมตร และเพิ่มขึ้นเป็น 220 ลูกบาศก์เมตรในปี 2548 หากธารน้ำแข็งละลายจนหมด ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นถึง 7 เมตร แต่ที่เกิดขึ้นคือ เมื่อธารน้ำแข็งบริเวณหนึ่งละลายจนบางลง จะพบบริเวณอื่นหนาขึ้นมาแทน
       
       นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งทีมวิจัยทางฝั่งยุโรปที่ดำเนินโครงการอีพีไอซีเอ (EPICA : European Project for Ice Coring in Antarctica) เพื่อสำรวจใจกลางชั้นน้ำแข็ง โดยพวกเขาได้ขุดธารน้ำแข็งบริเวณทิศตะวันออกของแอนตาร์กติกาลึกลงไปถึง 3,260 เมตร และศึกษาฟองอากาศของดิวเทอเรียม (ไอโซโทปของไฮโดรเจน) ที่ถูกกักอยู่ในชั้นน้ำแข็งมาเป็นเวลายาวนาน พบว่า บริเวณนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิในช่วงกว้างตลอด 800,000 ปีที่ผ่านมา โดยอุณหภูมิสูงสุด 15 องศาเซลเซียส และในช่วงปลายยุคน้ำแข็งซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อ 11,000 ปีก่อน อุณหภูมิต่ำกว่าปัจจุบันถึง 10 องศาเซลเซียส
       
       อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกในอดีต พบว่ายุคน้ำแข็งเคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งหลายหนแล้ว ซึ่งเมื่อยุคน้ำแข็งสิ้นสุดลง อุณหภูมิโลกก็จะค่อยสูงขึ้น อากาศอบอุ่นขึ้น ที่เรียกว่า ช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็ง โดยจะกินเวลานานนับหมื่นหรือแสนปีก่อนที่จะเข้าสู่ยุคน้ำแข็งอีกครั้ง และติดตามมาด้วยช่วงอบอุ่นที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าภาวะโลกร้อนที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่นี้อาจจะ
เป็นช่วงอบอุ่นระหว่างยุคน้ำแข็งที่หมุนเวียนกลับมาอีกครั้ง เพียงแต่ในอดีตไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากมายเช่นในปัจจุบัน
 
 
 
 
 
 
 
 
ที่มา- 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-07-10-1.html
เมื่อ 26 กรกฎาคม 2567 10:57
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv