วิกฤติมลภาวะที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้จีนเริ่มดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : แนวทางล่าสุดคือการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสะอาด เพื่อดึงดูดนักลงทุนในภาคธุรกิจที่เน้นอุตสาหกรรมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่พลังงานหมุนเวียนไปจนถึงการบำบัดน้ำเสีย

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล เอเชีย รายงานว่า ผู้นำท้องถิ่นมุ่งหวังให้นิคมอุตสาหกรรมใหม่กลายเป็นพิมพ์เขียว
ของยุคแห่งการเติบโตของพลังงานสะอาด นิคมแห่งนี้ตั้งอยู่ติดกับโครงการทางรถไฟความเร็วสูงที่เตรียมการก่อสร้างในเมืองซูโจว ศูนย์กลางการคมนาคมในมณฑลเจียงซู ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างมหานคร 2 แห่ง คือกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้

รัฐบาลมณฑลเจียงซู ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่เจริญสุดของประเทศ ใช้เวลา 2 ปีในการหาพันธมิตรร่วมสร้างนิคมอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด และได้จับมือกับ คลีนเทค กรุ๊ปจากสหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอีก 2 แห่งในเครือมหาวิทยาลัยซิงหัว สถาบันเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ ได้แก่ ซิงหัว โฮลดิงส์ และซิง แคปิตอล ซึ่งเป็นบริษัทกองทุนที่เน้นเทคโนโลยีสะอาด

ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ผลักดันให้ทางการปักกิ่งเริ่มตื่นตัวและผลักดันการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
เป็นหนึ่งในภารกิจอันดับต้นๆ สภาแห่งชาติได้ฝากคำเตือนถึงเจ้าหน้าที่รัฐและผู้นำบริษัทต่างๆ ที่ล้มเหลวในการปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและควบคุมมลภาวะ ว่าจะส่งผลแง่ลบต่อการประเมินผลการดำเนินงาน

นิคมอุตสาหกรรมซูโจว ถือเป็นตัวอย่างของมาตรการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของรัฐบาล และมุ่งอุปถัมภ์บริษัทที่เต็มใจผลักดันแนวคิดเทคโนโลยีสะอาดสู่ตลาด ซึ่งรวมถึงปรับปรุงการใช้พลังงาน คุณภาพอากาศและน้ำ รวมถึงการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลได้ทุ่มงบให้โครงการนี้ถึง 130 ล้านดอลลาร์ และอาจพิจารณาเพิ่มแรงจูงใจด้านภาษีนอกเหนือจากอัตราพิเศษที่เสนอให้กับ
เขตพัฒนาเศรษฐกิจซูโจวในปัจจุบัน

นอกจากแรงจูงใจทางการเงินและโอกาสในการเข้าถึงการลงทุนแล้ว นิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ยังหวังดึงดูดบริษัทด้วยการแลกเปลี่ยนความเห็นกับ
นักคิดที่มีมุมมองเหมือนกัน

ระดมทุนเปิดโครงการ

นายตัน เหย ประธานและหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารของซิง แคปิตอล เผยว่า บริษัทจีน 4 แห่งซึ่งรวมถึงบริษัทร่วมทุนระหว่างจีนกับญี่ปุ่น ได้ตอบตกลงเข้าร่วมก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมซูโจวแล้ว ก่อนจะมีการเชื้อเชิญอย่างเป็นทางการ แต่เขาปฏิเสธที่จะระบุชื่อบริษัท เพราะยังอยู่ระหว่างการเจรจา

ด้านนายฉิน จิ้นกัน รองนายกเทศมนตรีเมืองซูโจวและผู้อำนวยการคณะกรรมการบริหารเขตพัฒนาเศรษฐกิจซูโจว ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว โดยอ้างว่ายังเร็วเกินไปที่จะเปิดเผยรายละเอียด

คลีนเทค กรุ๊ป และหน่วยงานลงทุนในเครือซิงหัว ซึ่งร่วมลงขันริเริ่มสร้างนิคมอุตสาหกรรม หวังว่าความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดกับโครงการนี้จะช่วยเปิดทางให้พวกเขา
ได้ร่วมข้อตกลงและมองเห็นโอกาสของการลงทุน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ลงทุนในระยะแรกและกำลังหารือเงินทุนที่ต้องการในอนาคต อย่างไรก็ดี คลีนเทคปฏิเสธที่จะเปิดเผยจำนวนเงินลงทุนของบริษัท

เทคโนโลยีสะอาดมีรากฐานจากสหรัฐเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเพราะความวิตกเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยหลายเมืองในรัฐแคลิฟอร์เนียและเท็กซัสได้ลดภาษีและให้แรงจูงใจ เพื่อดึงดูดธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แม้เทคโนโลยีดังกล่าวจะเพิ่งริเริ่มในแดนมังกร แต่ก็ได้รับความสนใจไม่น้อย ผลวิจัยของคลีนเทคระบุว่า นักลงทุนได้ทุ่มงบ 420 ล้านดอลลาร์ไปกับข้อตกลงเทคโนโลยีสะอาด 26 ข้อ เมื่อปีที่แล้ว มากกว่าปี 2548 กว่า 2 เท่า

ซิง แคปิตอล เป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่เข้าถือหุ้นของ ไชน่า ซันเนอร์จีย์ บริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งระดมทุนได้ 93.5 ล้านดอลลาร์ จากการเปิดตัวในตลาดหุ้นแนสแด็กเมื่อเดือนที่แล้ว นอกจากนี้ ซิง แคปิตอล ยังลงทุนในบริษัทแอลดีเค โซลาร์ ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์กเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และระดมทุนได้ 469 ล้านดอลลาร์ จากการเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (ไอพีโอ) นับเป็นการทำไอพีโอใหญ่สุดครั้งหนึ่งของบริษัทจีนในสหรัฐ

อุปสรรคพลังงานสะอาด

นายไซมอน ลิตเติลวูด หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทลอนดอน เอเชีย แคปิตอล สมาชิกเครือข่ายร่วมทุนของคลีนเทค กรุ๊ป มองว่า จีนเป็นตลาดเติบโตเร็วสุดสำหรับบริษัทเทคโนโลยีสะอาด แต่ขาดแคลนผู้สนับสนุนเงินทุนก้อนใหญ่ในธุรกิจส่วนนี้

อย่างไรก็ดี ภาวะฟองสบู่อาจก่อตัวขึ้นในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดที่ยังไม่อาจพิสูจน์ตัวเองได้ว่า จะสามารถอยู่รอดในยุคที่ราคาพลังงานผันผวน และโครงการอุดหนุนของรัฐบาลอาจจะสิ้นสุดเมื่อใดก็ได้ ขณะเดียวกัน บริษัทต่างชาติบางแห่งที่วิตกเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ยังลังเลที่จะส่งออกนวัตกรรมให้จีน อีกส่วนหนึ่งวิตกว่าภาวะล้นตลาดของเทคโนโลยีสะอาดบางชนิด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ จะขัดขวางการเติบโต

นอกจากนี้ รัฐบาลปักกิ่งยังมีนโยบายไม่แน่นอนเพื่อลดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมบางชนิด เช่น พลังงานลม ส่งผลให้การลงทุนชะลอตัวในบางครั้ง

เทคโนโลยีสะอาดในจีนยังเผชิญปัญหาท้าทายสำคัญเช่นเดียวกับหลายประเทศ นั่นคือแหล่งพลังงานสะอาดมีต้นทุนสูงกว่าพลังงานดั้งเดิมอย่างน้ำมันหรือถ่านหิน การส่งเสริมให้พลังงานสะอาดมีราคาเหมาะสมสำหรับผู้มีรายได้ต่ำจึงเป็นภารกิจสำคัญ

แม้จะมีอุปสรรคหลายอย่าง แต่นักลงทุนและกลุ่มสิ่งแวดล้อมจำนวนมากล้วนเชื่อว่า รัฐบาลจะไม่ล้มเลิกความสนใจระยะยาวในเทคโนโลยีสะอาด เพราะมีแรงผลักดันเรื่องความมั่นคงจากการเข้าถึงทรัพยากรน้ำมัน รวมถึงความวิตกเรื่องสุขภาพและผลกระทบของการพัฒนาเศรษฐกิจต่อสิ่งแวดล้อม

"คุณจะได้เห็นนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสะอาดอีกหลายแห่งภายในไม่กี่ปีข้างหน้า" นายลิตเติลวูดกล่าว พร้อมชี้ให้เห็นถึงความวิตกของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับภาวะขาดแคลนน้ำในภาคเหนือ และการขยายพื้นที่เพาะปลูกเข้าเขตทะเลทราย

แดนมังกรมีเมืองใหญ่ที่เผชิญปัญหามลภาวะมากสุดของโลกหลายแห่ง เพราะพึ่งพาถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ และขยายอุตสาหกรรมจนทำให้แม่น้ำเป็นพิษ รัฐบาลปักกิ่งได้เปิดเผยผลศึกษาชื่อ "บัญชีสีเขียว" เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว พบว่า มลภาวะได้สร้างความเสียหายแก่ประเทศราว 64,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2547 เท่ากับลดอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปีนั้นลง 3%

ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่กระตุ้นนิคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสะอาด คือ แรงจูงใจตลาดอันแข็งแกร่ง ขณะที่จีนพยายามแซงหน้าชาติกำลังพัฒนาอื่นๆ ในอุตสาหกรรมด้านนี้ ทั้งนี้ เจียงซูซึ่งเป็นมณฑลมั่งคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ยังเป็นที่ตั้งของ ซันเทค พาวเวอร์ โฮลดิงส์ ผู้ผลิตเซลล์สุริยะรายใหญ่สุดของโลกด้วย

นายทาราส วังเกวิกซ์ รองประธานบริษัทฮอไรซัน ฟูเอล เซล เทคโนโลยี ชี้ให้เห็นช่องทางการเติบโตของพลังงานสะอาดว่า ผู้บริโภคจีนสามารถปรับตัวและเต็มใจทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ มากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างว่า ประชาชนใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายตามเมืองใหญ่ เช่น นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งห้ามการขับขี่รถจักรยานยนต์

"นิคมอุตสาหกรรมซูโจวไม่ใช่โครงการทดลอง นี่เป็นนิคมอุตสาหกรรมจริงๆ และเราต้องการให้เป็นโครงการสาธิตในจีนหรืออาจขยายไปทั่วโลก" นายเจอร์รี ลี ผู้อำนวยการคลีนเทค กรุ๊ป กล่าวตบท้าย

บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-07-18-3.html
เมื่อ 5 กรกฎาคม 2567 14:19
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv