นักธรณีวิทยาพบหุบเหวลึกใต้ทะเลบริเวณช่องแคบอังกฤษเป็นทางยาวหลายกิโลเมตร เชื่อว่าในอดีตเคยเป็นร่องน้ำที่ถูกกัดเซาะเมื่อ 4 แสนกว่าปีก่อนตอนเกิดอุทกภัยครั้งรุนแรงจนทำให้แผ่นดินอังกฤษถูกตัดขาดจากทวีปยุโรป
 
เอพี/เอเอฟพี/บีบีซีนิวส์/เนเจอร์ – ถ้าอังกฤษติดกับฝรั่งเศส แผ่นดินยุโรปก็จะเป็นผืนเชื่อมต่อให้ประชากรไปมาหาสู่กันได้ไม่ลำบาก แต่เพราะเหตุใดอังกฤษจึงถูกตัดขาดจากทวีปยุโรป? เป็นข้อถกเถียงกันมานานและมีสมมติฐานมากมาย ล่าสุดพบหลักฐานว่าเพราะน้ำท่วมใหญ่ในประวัติศาสตร์โลกเมื่อหลายแสนปีก่อน ย้ำทฤษฎีแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน
       
       ทีมนักวิจัยของอิมพีเรียลคอลเลจ (Imperial College) ลอนดอน เผยผลการสำรวจทางธรณีวิทยาของพื้นผิวใต้ทะเลบริเวณช่องแคบอังกฤษ (English Channel) ลงในวารสารเนเจอร์ (Nature) พบร่องรอยที่บ่งบอกว่าน้ำท่วมครั้งใหญ่เคยอุบัติมาแล้วในยุคน้ำแข็ง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกาะอังกฤษถูกตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่ และก่อเกิดเป็นช่องแคบระหว่างหน้าผา 2 ฟากแผ่นดินดังที่เห็นในปัจจุบัน
       
       "ถ้าไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประวัติศาสตร์โลกครั้งนั้น ตอนนี้เกาะอังกฤษก็คงยังเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ เป็นคาบสมุทรของยุโรป เราสามารถเดินข้ามไปมาระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสได้อย่างสบาย" ซานจีฟ กุพตา (Sanjeep Gupta) นักธรณีวิทยา หัวหน้าทีมสำรวจ ตั้งข้อสังเกตและบอกด้วยว่าน้ำท่วมใหญ่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง จนเป็นผลให้เกาะอังกฤษและแผ่นดินใหญ่ขาดการเชื่อมถึงกันมาจนทุกวันนี้
       
       กุพตาเปิดเผยว่าพวกเขาสำรวจพื้นผิวใต้ทะเลบริเวณช่องแคบอังกฤษ โดยใช้เครื่องสะท้อนเสียงใต้น้ำประสิทธิภาพสูง (High-resolution sonar) ที่สามารถจำลองภูมิประเทศใต้น้ำได้ใกล้เคียงของจริงมาก และทีมสำรวจต้องตื่นเต้นกันยกใหญ่เมื่อเครื่องโซนาร์ตรวจจับหุบเหวขนาดใหญ่ใต้ทะเลได้
       
       บริเวณดังกล่าวเป็นเหวลึกถึง 50 เมตร และยาวหลายกิโลเมตร ซึ่งทีมสำรวจวิเคราะห์กันว่าหุบเหวใต้ทะเลนี้เป็นร่องรอยของที่เกิดจาก
การกัดเซาะของน้ำท่วมใหญ่ครั้งโบราณกาล
       
       จากหลักฐานทางธรณีวิทยา นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า
ทางตอนใต้ของทะเลเหนือ (North Sea) ที่เห็นกันอยู่ปัจจุบัน ในอดีตเคยเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่รองรับน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำไรน์และแม่น้ำเทมส์ ด้านทิศเหนือของทะเลสาบเป็นธารน้ำแข็ง ส่วนทิศใต้มีแนวสันเขาวีลด์-อาร์โทอิส (Weald-Artois) ที่เป็นแผ่นดินเชื่อมระหว่างอังกฤษกับยุโรปและเป็นเสมือนเขื่อนกั้นน้ำในทะเลสาบไม่ให้ไหลลงสู่ทางใต้
       
       น้ำท่วมใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อราว 400,000 ปีก่อน เป็นช่วงสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง ธารน้ำแข็งละลายทำให้ระดับน้ำในทะเลสาบเพิ่มขึ้นจนแนวสันเขาต้านทานรับไม่ไหวและพังทลายในที่สุด กระแสอันน้ำเชี่ยวกรากกว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตรไหลทะลักลงทิศใต้สู่มหาสมุทรแอตแลนติกและ
กัดเซาะแผ่นดินจนเกิดเป็นร่องน้ำลึกยาวหลายสิบกิโลเมตร
       
       ต่อมาได้เกิดน้ำท่วมใหญ่อีกครั้งเมื่อประมาณ 200,000 ปีที่แล้ว เป็นช่วงที่ยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้ายสิ้นสุด และน้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งแรกมาก ท่วมท้นแผ่นดินกินบริเวณกว้าง และกัดเซาะเป็นสันเขาที่พังทลายจากน้ำท่วมครั้งแรกเป็นช่องแคบโดเวอร์ (Strait of Dover) แยกเกาะอังกฤษออกจากยุโรป ส่วนร่องน้ำลึกที่เกิดจากน้ำท่วมใหญ่ครั้งแรกก็ต้องจมอยู่ใต้น้ำนับแต่บัดนั้น กระทั่งนักธรณีวิทยาตรวจจับสัญญาณได้ว่าเป็นหุบเหวลึกใต้ทะเลของช่องแคบอังกฤษนั่นเอง
       
       นักธรณีวิทยาอธิบายว่า บริเวณหน้าผาโดเวอร์ ทางฝั่งอังกฤษและแหลมกรีซ-เนซ (Cap Gris-Nez) ของฝรั่งเศส คือร่องรอยของสันเขาวีลด์-อาร์โทอิส และเป็นหลักฐานบ่งชี้ว่าเกาะอังกฤษเคยเป็นแผ่นดินที่เชื่อมกับทวีปยุโรปก่อนพังทลายลง
เมื่อเกิดมหาอุทกภัยรุนแรง กลายเป็นช่องแคบโดเวอร์
       
       "เหตุการณ์ครั้งนั้นอาจเป็นมหาอุทกภัยครั้งยิ่งใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์โลกก็เป็นได้ การค้นพบนี้จะช่วยให้พวกเราเข้าใจกำเนิดของเกาะอังกฤษได้มากยิ่งขึ้น" กุพตา กล่าว
       
       ด้านศาสตราจารย์คริส สตริงเจอร์ (Chris Stringer) ผอ.โครงการเอเอชโอบี (Ancient Human Occupation of Britain: AHOB) แสดงความคิดเห็นว่า ทฤษฎีการเกิดช่องแคบเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมายาวนาน ซึ่งมันก็ทำให้อังกฤษกลายเป็นเกาะอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้จริง
       
       และก่อนหน้านี้เคยมีการศึกษาซากฟอสซิลของสัตว์ที่พบในเกาะอังกฤษ พบว่ามีอายุราว 500,000 ปี เป็นข้อสนับสนุนทฤษฎีน้ำท่วมทำลายแนวแผ่นดินที่เชื่อมระหว่างสองฟากฝั่งได้ และบ่งชี้ว่าแนวแผ่นดินนั้นเป็นเส้นทางสัญจรของสิ่งมีชีวิต
       
       นักวิชาการได้ให้ข้อเสนอแนะว่าการอพยพเข้าสู่อังกฤษในยุคแรก
ต้องอาศัยแนวแผ่นดินดังกล่าวเป็นเส้นทางสัญจร ส่วนมนุษย์ที่เคยครอบครองแผ่นดินอังกฤษในยุคโบราณมี 8 เผ่าพันธุ์หลัก อพยพเข้าไปในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน และหลังจากที่น้ำท่วมได้ตัดขาดแผ่นดินเป็น 2 ฝั่ง ภูมิอากาศ ระยะห่างของแผ่นดินและความลึกของน้ำก็มีผลต่อช่วงเวลาย้ายถิ่นฐานและจำนวนประชากร
       
       เกาะอังกฤษ หรือ เกรทบริเทน (Great Britain) เป็นเกาะใหญ่ที่สุดในยุโรป และใหญ่เป็นอันดับที่ 8 ของโลก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสหราชอาณาจักร (ประกอบด้วยอาณาเขตอังกฤษ เวลส์ และสก็อตแลนด์)
 
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-07-20-1.html
เมื่อ 5 กรกฎาคม 2567 14:23
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv