ในขณะที่ "พระไตรปิฏก" ฉบับภาพยนตร์ซึ่งมีการเปิดตัวไปแล้วอย่างเป็นทางการมีงบให้ใช้จ่ายในหลักพันล้าน อีกฟากหนึ่งแห่งความปรารถนาดีต่อพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกันของทีมผู้สร้างการ์ตูนเรื่อง “ประวัติพระพุทธเจ้า” (The Life of Buddha)ที่มีหัวเรือในการผลิต อย่าง "ดร.วัลลภา พิมพ์ทอง" และ "อี้ แทนคุณ จิตต์อิสระ" กลับต้องเผชิญกับเรื่องของทุนในการทำงานชิ้นที่ว่านี้มาอย่างต่อเนื่อง
       
        ทั้งๆ ที่เสียงตอบรับของคนทั่วไปที่ได้ชมภาพตัวอย่างของหนังเรื่องนี้ทั้งที่เคลื่อนไหวและภาพนิ่ง
ภายใต้การผลิตของบริษัท มีเดียสแตนดาร์ด จำกัด ที่ผ่านงานระดับสากลในส่วนของการ์ตูน "วอลท์ ดิสนีย์" มาแล้วล้วนแต่เป็นไปในแง่บวก แต่ก็หาคนที่จะมาสนับสนุนได้น้อยมากๆ ด้วยความเป็นภาพลักษณ์ของบริษัทๆ หนึ่ง        
        ผลจากการบานปลายของงบประมาณจาก 50 ล้านบาทกระทั่งไปแตะหลัก 100 ล้านบาท ทำให้งานผลิตการ์ตูนเรื่องนี้ต้องหยุดมาเป็นระยะ แม้ผู้สร้างเองจะมีความพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวถึงขนาดที่ต้องขายบ้านและรถของตนเองแล้วก็ตาม
       
        “ตอนนี้ถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้วครับในขั้นตอนพากย์เสียง เรียกว่าเหลือทำเพลงประกอบ ซึ่งเราดูอยู่ว่าจะเอาเพลงร้องหรือเพลงบรรเลงดี..." คำบอกเล่าถึงความคืบหน้าล่าสุดของการ์ตูนเรื่อง“ประวัติพระพุทธเจ้า” ที่มีกำหนดเข้าฉายในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 เพื่อร่วมฉลอง 80 พรรษาขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จาก "อี้" แทนคุณ จิตต์อิสระ
       
        "เพราะถ้ามีเพลงด้วยเนี่ย เด็กก็จะสนใจ แต่ทีนี้ถ้ามีเพลงมันก็เซ้นสิทีฟน่ะครับ เพราะเสียงร้องถ้าเป็นเสียงผู้ชายปุ๊บเนี่ย คนก็จะคิดว่าพระพุทธเจ้าร้อง คือมันจะมีช่วงที่อาจใส่เพลงได้เพราะว่าในเรื่องจะมีการขัดแย้ง ในเรื่องของการออกบวช และการครองราชย์ซึ่งตรงนั้นอาจใส่เสียงเพลงเข้าไป แต่ต้องดูอีกทีหนึ่ง”
       
        “จริงๆ การ์ตูนเรื่องนี้มีให้ดูตั้งแต่ก่อนประสูติด้วยตั้งแต่ท่านเป็นเทวดาชั้นสูงมาเลยน่ะครับ แล้วเราก็อ้างอิงมาจากหนังสือพระไตรปิฎก แล้วไล่มาจนถึงว่าก่อนตรัสรู้ และเลือกเหตุการณ์ที่น่าจะถูกใจเด็กๆ และวัยรุ่น นั่นคือช่วงที่แก่งแย่ง อย่างเช่นเรื่องพระเทวทัตยิงหงส์มาเป็นของตัวเอง ซึ่งเจ้าชายสิทธัตถะ จะเอาไปรักษา ยื้อแย่งกันอยู่พักหนึ่ง"
       
        "ซึ่งเรื่องราวก็จะไปจบลงที่ว่ามีคนมาตัดสินว่าคนช่วยชีวิตคือคนให้ชีวิต คือจะมีแง่คิดตลอด คือจะสื่อออกมาหลายตอน เราเลือกฉากที่เด็กๆ ดูแล้วเข้าใจ ธรรมะมันต้องสอดแทรกได้ง่ายๆ น่ะครับ แล้วก็มีแสงสีสันดูแล้วก็มีความสนุกสนานเราสื่อออกมาเชิงสัญลักษณ์มากกว่า”
       
        ส่วนกรณีของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อภาพลักษณ์ของ "มาร์ค สงกรานต์ ทัพมณี" ใน "พระไตรปิฎก" ฉบับภาพยนตร์นั้น อี้แสดงความคิดเห็นว่า...“คือเขาจะทำให้มันเข้ากับยุคสมัยใหม่ แล้วก็เอาดาราเอาอะไรมาแสดงใหม่ สิ่งสำคัญในเชิงละครเนี่ย พระพุทธเจ้าคือตัวแบบคือฮีโร่เลยที่จะได้รู้จัก เราไปเปรียบเทียบตรงนั้นไม่ได้"
       
        "แต่ที่ผมทำคือทำแนวสัญลักษณ์มากกว่า เอาตัวธรรมะออกมา การที่เอาใครมาเล่นไม่จำเป็นแล้ว สิ่งที่ผมกลัวมากที่สุดคือถ้าไม่เลือกคนที่ดีมันลำบากนะ อย่างน้อยมีศีล 5 ครบก็ยังดี อย่างผม ผมก็ไม่อยากเห็นว่าคนที่มาพากย์เสียงพระพุทธเจ้าเนี่ยที่สุดแล้วมาแสดงเป็นพระพุทธเจ้า เดี๋ยวมีข่าวมั่วยา มั่วเพศ มันอันตรายน่ะครับ ยิ่งจะทำให้พุทธศาสนาดูแย่ลงไปด้วย ดังนั้นเราจึงต้องเลือกนักแสดงให้ดีที่สุด”
       
        “หน้าตาอย่างเดียวไม่ได้ คนที่มาแสดงต้องดีทั้งชื่อเสียง ดีจากใจ หน้าตารองลงมา อีกอย่างหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือความรู้ความสามารถในเชิงธรรมะ ตัวละครตัวนี้ถ้าพูดตรงๆ คือความสำคัญมากที่สุดต้องสื่อสารธรรมะได้ ต้องอยู่ในศีลในธรรมควรมีสักหน่อยหนึ่ง ควรมีพฤติกรรมที่ดี"
       
        "ไม่ใช่ว่าไม่ให้โอกาสคนที่เคยผิดพลาดนะ แต่ถ้าเลือกได้เราก็ควรพิถีพิถันซักนิดหนึ่งครับ"
       
        "คนพากย์ของเราตอนนี้มีคนแนะนำมาอยู่น่ะครับ คือเราอยากได้คนอายุ 20 - 35ปี ไม่เกิน 35 แล้วอาจจะต้องเลือกตามช่วงวัย วิธีการในการแคสก็ขอคนที่มีศีลธรรม ขอคนที่ไม่ดื่มเหล้า เพราะไม่อยากเจอข่าวในทางลบ สนใจศึกษาธรรมะอยู่บ้าง เวลาไปพูดคุยสัมภาษณ์ก็สามารถตอบได้บ้าง ซึ่งผมเองช่วยเหลืออยู่แล้วน่ะครับ ยินดีเป็นพี่เลี้ยง"
       
        "แล้วเราจะดันคนพากย์เสียงไปทำกิจกรรมกับเราด้วยเลยเพราะว่างานนี้เราจะทำยาว แล้วเราก็จะทำประวัติของพระอานนท์ต่อ คัดเลือกในส่วนที่น่าสนใจมาทำน่ะครับ ซึ่งมีเรื่องราวน่าสนใจเยอะ”
       
        พร้อมยกตัวอย่างเมื่อครั้งมีการคัดเลือกตัวละครที่จะมาเป็น "จะเด็ด" ทั้งๆ ที่เป็นตัวละครที่เป็นพม่าเสียด้วยซ้ำไป
        "ขนาดนั่นคือตัวละครที่เป็นพม่านะ เราต้องหาให้ดีแล้วนี่คนที่จะมาเล่นเป็นพระพุทธเจ้านะ ยิ่งต้องดูให้ดี ผมเห็นด้วยที่ต้องมีการคัดเลือกให้เหมาะกับกลุ่มผู้ชม ไม่จำเป็นต้องโด่งดัง หรือต้องหน้าตาดี หลักๆ คือต้องดูพฤติกรรม แต่นี่คือจุดบอดของดาราไทยมาช้านานแล้วครับ เพราะเราไม่เคยมองกันตรงนี้ ซึ่งในต่างประเทศเขาจะมีที่เรียกว่าจริยบัตร ผมอยากรณรงค์ให้มีนะ"
       
        "เพราะมันคือสิ่งการันตีว่าเรามีจรรยาบรรณอย่างไรบ้างในอาชีพ ไม่ใช่ว่าวันๆ หาช่องทางทำให้ตัวเองดังอย่างเดียว เด่นดัง ไม่เกี่ยวกับเรื่องดีน่ะครับ สังคมไม่ได้อะไรจากตรงนี้เลย เราต้องมีต้นแบบคนที่อยู่ตรงนี้ล่ะครับ ซึ่งจริงๆ มี แต่มีน้อย คือจะบอกว่าเวลาเลือกใครมาเล่นเนี่ยก็ควรจะรู้ทางรอดด้วยไม่ใช่ว่าพอโดนวิจารณ์ก็ไม่ทำอะไรต่อ มันไม่เกิดอะไรน่ะครับ”
       
        เผยเหตุที่ทำเป็นหนังการ์ตูนเพราะอยากจะปลูกฝังให้เด็กๆ ได้รับรู้ในตัวพระศาสดาของพระพุทธศาสนา ซึ่งที่ผ่านมาในขั้นตอนการผลิตต่างมีปัญหามาโดยตลอด เฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ "ทุน"
        "ผมคิดว่าผู้ใหญ่ถ้าเขาสนใจจริงๆ เรื่องนี้จริงๆ เนี่ย เขามีช่องทางได้ ซึ่งเด็กเนี่ยไม่มีสื่อแบบนี้ให้เขา เขาก็ไม่วิ่งหา เราตั้งใจให้บ้านเราเนี่ยเป็นศูนย์กลางเรื่องสื่อด้านศาสนา ให้เด็กๆ เข้าถึง เอาธรรมะเดลิเวอรี่ให้เด็กเยาวชนสนใจมากกว่าการดูปลุกเสกจตุคาม เพราะตอนนี้เด็กสับสนว่าอะไรคือพุทธ อะไรคือพราหมณ์ อะไรคือผีน่ะครับ เราสอนผ่านตัวละคร”
       
        “แต่ที่เสียดายคือหน่วยงานภาครัฐไม่เห็นความสำคัญตรงนี้ จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีหน่วยงานไหนยื่นมือมาช่วยหรือผลักดันช่วยเหลือต่อ จนมาเจอ อ.วัลภา คนที่เริ่มต้นแกมอบทุกอย่างให้แผ่นดิน แต่พอไปขอให้เป็นสปอนเซอร์ ก็มีแต่คนขอแบ่งเปอร์เซ็นต์ ทั้งที่จริงๆ รายได้ในการฉายเราทูลเกล้าถวายในหลวงทั้งหมดอยู่แล้ว ถึงไม่มีคนดู หรือดูไม่เยอะมากก็ตั้งใจถวาย"
       
        “แต่ตอนนี้ขาดแคลนงบอยู่10 ล้าน ซึ่งจากเดิม 100 ล้าน อ.วัลภาออกเองไป 80 กว่าล้านแล้วครับ หนี้สินของเขาจะได้เบาบางบ้าง พอเราขอความร่วมมือหลายภาคส่วน แต่บางค่ายไม่สนใจเลย เห็นเป็นหนังศาสนา ขายไม่ได้กำไร เป็นหนังการ์ตูนบ้างอะไรบ้าง ข้ออ้างเยอะน่ะครับ เราผลิตด้วยเอกชนแต่เราไม่ได้มามุ่งเอากำไร คนไม่เข้าใจเจตนาก็มี"
       
        "แต่ตอนนี้น่าจะชัดเจนขึ้น ซึ่งอ.วัลภาท่านก็อยากจะทิ้งตรงนี้ทิ้งไว้ให้เด็กๆ เลยเอาทุนที่ท่านสะสมมาลง มาทำให้คนอื่นบ้าง นี่คือพูดแล้วทำด้วย ผมเลยรับหน้าที่มาพูดแทนอาจารย์ ไม่อยากให้แกโดดเดี่ยวครับ ช่วยกัน”
       
        ออกปากเคยขอทุนจากรัฐบาล ทว่าด้วยกฏระเบียบมากมายทำให้ต้องถอย
        "มันมีข้อจำกัดหลายอย่างมาก เขาบอกไม่สามารถช่วยได้ เพราะว่าเป็นบริษัทเอกชนเดี๋ยวจะเข้าข่ายล็อกสเป็กบ้าง อะไรบ้าง ที่จริงนี่ก็หนังพุทธศาสนานะครับ สิ่งที่สำคัญคือกระบวนการก่อนหนังเสร็จครับไม่ใช่แค่การช่วยกันประชาสัมพันธ์อย่างเดียว ซึ่งผมเองก็ไม่เคยขอสปอนเซอร์นะ แต่เร็วๆ นี้ก็ต้องได้ออกเดินไปขอกันบ้าง บางทีเอาตัวอย่างไปยังไม่สนใจเลย แต่ก็อยากให้ได้ดูภาพกันก่อน”
 
 
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-08-14-1.html
เมื่อ 5 กรกฎาคม 2567 16:09
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv