เอเจนซี - แต่ก่อนแต่ไร เส้นตายการส่งงานและการมาทำงานให้ทันคือปัญหาหลักที่สร้างความกดดันแก่พนักงานส่วนใหญ่ แต่ในโลกศิวิไลซ์ยุคนี้ พนักงานต้องผจญกับความเครียดชนิดใหม่ในการรีบเช็คและตอบอีเมล ทำให้สมองอ่อนล้า หงุดหงิด และทำงานไม่มีประสิทธิภาพ บางคนกังวลขนาดต้องเช็คเมลชั่วโมงละกว่า 40 ครั้ง
       
       งานวิจัยของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์และมหาวิทยาลัยเพสลีย์ในสก็อตแลนด์ พบว่าพนักงานเช็คเมลบ่อยกว่าที่ระบุไว้ในแบบสำรวจ
       
       ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่าง 177 คนบอกว่า เช็คเมลชั่วโมงละมากกว่าหนึ่งครั้ง โดย 35% เช็คทุก 15 นาที แต่อุปกรณ์ติดตามผลที่ติดอยู่กับเครื่องพีซีฟ้องว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเช็คเมลบ่อยกว่านั้น
       
       พนักงานยังบ่นว่า รู้สึกว่าตัวเองถูกบังคับให้เช็คว่ามีเมลด่วนเข้ามาหรือไม่
       
       คาเรน เรโนลด์ นักวิทยาศาสตร์สาขาคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ชี้ว่าอีเมลเป็นเครื่องมือที่น่าอัศจรรย์ แต่ขณะเดียวกัน ก็สร้างปัญหาต่อการทำงาน เพราะอีเมลจะคอยเร่งเร้าให้พนักงานอยากรู้ว่า เมลนั้นมาจากคนที่บ้าน เพื่อน หรือเจ้านาย จึงต้องวางมือจากงานไปอ่านเมลก่อน
       
       “เมื่อกลับมาทำงานอีกครั้ง ความคิดเกี่ยวกับงานก็หายไปหมดแล้ว เท่ากับว่าประสิทธิภาพการทำงานถดถอยลง”

       
       นอกจากนั้น ยิ่งเสียสมาธิไปกับสิ่งเร้า ซึ่งรวมถึงอีเมล มากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้สมองเหนื่อยล้าและประสิทธิภาพการทำงานด้อยลง
       
       เรโนลด์, จูดิท แรมเซย์ นักจิตวิทยา และมาริโอ แฮร์ นักสถิติจากมหาวิทยาลัยเพสลีย์ ทำการสำรวจนักวิชาการและคนทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อศึกษาว่าคนเหล่านี้จัดการกับอีเมลที่ได้รับในที่ทำงานอย่างไร
       
       ทีมนักวิจัยพบว่า 34% ของกลุ่มตัวอย่างเครียดกับอีเมลจำนวนมากที่เข้ามา รวมถึงความรับผิดชอบในการตอบอีเมลเหล่านั้นโดยเร็ว, 28% บอกว่าการได้รับอีเมลทำให้รู้สึกถูกกดดันให้ต้องอ่าน ที่เหลือ 38% รู้สึกผ่อนคลาย เพราะจะตอบอีเมลหลังจากได้รับ 1 วันหรือ 1 สัปดาห์
       
       การวิจัยยังพบว่า ผู้หญิงรู้สึกกดดันให้รีบตอบอีเมลมากกว่าผู้ชาย
       
       ขณะเดียวกัน คนทำงานที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ หรืองานที่ต้องใช้สมาธิเป็นเวลานานๆ เพื่อให้โครงการสำคัญลุล่วง เช่น นักวิชาการ นักเขียน สถาปนิก และนักหนังสือพิมพ์ มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากที่สุด
       
       นักวิจัยแนะนำว่า คนที่ส่งอีเมลไม่ควรกดดันให้ผู้รับตอบกลับโดยเร็วเหมือนการรับโทรศัพท์ ขณะที่ผู้รับควรหลีกเลี่ยงการนั่งเฝ้าอีเมล เนื่องจากจะกระทบต่อกิจกรรมการทำงานอื่นๆ ทั้งหมด แต่ควรกำหนดช่วงเวลาเฉพาะสำหรับการอ่านเมลแทน
 
 
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-08-16-3.html
เมื่อ 6 กรกฎาคม 2567 04:37
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv