คณบดีวิทยาลัยแพทย์ฯ ม.รังสิต แนะอยากเรียนแพทย์ ต้องอดทน ขยัน เสียสละ รับผิดชอบ ย้ำต้องคิดให้ดี ถ้าไม่อยากเรียนอาจเรียนไม่สำเร็จ พบนักศึกษาแพทย์บางคนเรียนเพราะผู้ปกครอง เพื่อน เผยไทยยังขาดแพทย์เพียบ
       
       สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย จัดโครงการ “เปิดรั้วโรงเรียนแพทย์ ครั้งที่ 5” ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา โรงพยาบาลราชวิถี โดยมีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจากทั่วประเทศสมัครเข้าร่วมกว่า 1,700 คน
       
       ศ.คลินิก พญ.บุญเชียร ปานเสถียรกุล คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า การเรียนแพทย์ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่นักเรียนหลายคนคิด นักเรียนที่ตัดสินใจเข้ามาเรียนจะต้องพบกับความเหนื่อยยาก ตลอดทั้งชีวิตอาจจะต้องทิ้งการแสวงหาความสุขอย่างที่คนอื่นมี สิ่งที่จะต้องมี ความอดทน ขยัน เสียสละ และรับผิดชอบ การเรียนแพทย์ใช้เวลา 6 ปี หลังจากเรียนจบต้องทำงานใช้ทุนคืนให้ประเทศอีก 3 ปี หลังจากนั้นถึงจะมีโอกาสไปศึกษาต่อแพทย์สาขาเฉพาะทางอีก 3-5 ปี
       

       พร้อมกันนี้ นักเรียนแพทย์จะต้องรักษาสุขภาพ ระมัดระวังอย่าให้ป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างศึกษา ซึ่งจะทำให้เรียนไม่ต่อเนื่อง ขณะที่เรียนหนักจนแทบไม่มีเวลาให้ครอบครัว ที่สำคัญที่สุดคือ ตัวนักเรียนต้องมีความเต็มใจ ต้องอยากเรียนเอง ไม่ใช่เพราะผู้ปกครองอยากให้เรียน หรือเรียนตามเพื่อน หรือเรียนเพราะอยากมีเกียรติ อยากมีรายได้ดี ซึ่งจะทำให้เมื่อเข้ามาเรียนแล้วเรียนไม่จบ
       
       “มีนักเรียนบางคนเพราะตามใจพ่อแม่ เรียนตามเพื่อน ซึ่งไม่ได้อยากเรียนแพทย์จริงๆ หรือไม่ได้เต็มใจอยากเรียนแพทย์ เข้ามาจะมีปัญหามากในการเรียน บางคนสอบตกต้องเรียน 9-12 ปี เมื่อจบไปก็ไม่ได้เป็นแพทย์ บางคนเปลี่ยนเส้นทางไปเลย แต่บางคนก็ไปทำงานเป็นฝ่ายบริหารของโรงพยาบาล หรือห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ซึ่งก็ถือว่าไม่ห่างจากวิชาชีพนัก จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งคือ การสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม หากไม่ตั้งใจเรียนจะสอบไม่ได้ ก็จะไม่ได้เป็นแพทย์เช่นกัน” ศ.คลินิก พญ.บุญเชียร กล่าวถึงคนที่อยากเรียนแพทย์จริง ๆ แต่ไม่มีเงิน ขอให้แสดงความตั้งใจมุ่งมั่นให้ชัดเจน เพราะทุนที่ให้แก่ผู้เรียนแพทย์มีอยู่มากและเพียงพอ แต่เมื่อเรียนจบอาจต้องทำงานใช้คืนทุนนานกว่าคนอื่น
       
       ในขณะนี้ประเทศไทยยังถือว่าขาดแพทย์อีกมาก คิดเป็นอัตราส่วนแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,600 คน แต่ที่เหมาะสม น่าจะไปถึง 1 ต่อ 800 คน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกนานกว่า 10 ปี แต่ละปีมีนักศึกษาแพทย์เรียนจบประมาณ 1,250 คน การศึกษาแพทย์วิชาชีพเฉพาะทางในไทยรับได้ประมาณปีละ 300 คน ปัญหาในการเรียนการสอนแพทย์ขณะนี้อยู่ที่ปี 1-3 หรือชั้นพรีคลินิก อาจารย์จะสอนวิทยาศาสตร์แท้ ๆ โดยไม่ได้ระบุชัดเน้นเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับแพทย์ ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิรูปหลักสูตร
 
 
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-08-18-1.html
เมื่อ 26 กรกฎาคม 2567 13:21
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv