นักวิชาการหวั่น “ฮิ” หาย เด็กจัน-ระยอง-ตราดเมินพูดภาษาถิ่น เหตุอายเพื่อน-ถูกล้อว่า “แอ๊บแบ๊ว” ขณะที่ “ภาษาชอง” ของชนพื้นเมืองใกล้สูญหายแล้ว เสนอทางออกเร่งรณรงค์ใช้ภาษาถิ่นในบ้าน โรงเรียน

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :

คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมเสวนา เรื่อง “เรื่องภาษาถิ่น : ภาษาไทย”(ภาคตะวันออก) ที่ศาลาประชาคมจังหวัดตราด อำเภอเมือง จังหวัดตราด เมื่อวันที่ 3 ก.ย. ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยภาษาไทยในปัจจุบันอย่างยิ่ง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ภาษาไทย เป็นเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่่่งประชาชนควรจะภูมิใจในภาษาไทย ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งก็มีการใช้ภาษาไทยแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น

แต่ปัจจุบันพบว่าคนในท้องถิ่นเห็นความสำคัญของภาษาถิ่นน้อยลง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนเห็นเป็นเรื่องที่น่าอาย ดังนั้น วธ.จึงได้จัดสัมมนาภาษาถิ่น ภาษาไทยขึ้นทั้ง 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันอกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เพื่อรับฟังปัญหาและแนวทางแก้ไขภาษาถิ่นวิกฤติ เพื่อจัดทำเป็นแผนการส่งเสริมภาษาถิ่นเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) บรรจุเป็นหลักสูตรท้องถิ่นต่อไป

ผศ.สุเรขา สุพรรณไพบูลย์ ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี กล่าวว่า การที่ภาษาถิ่นมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากราชการใช้ภาษากรุงเทพเป็นเกณฑ์ตัดสินภาษาถิ่นว่า ไม่ใช้ภาษากลาง ส่งผลให้ประชาชนแถบจันทบุรี ระยอง ตราดพูดภาษาถิ่นลดลง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เช่น คำสร้อยที่ลงท้ายประโยคว่า ฮิ มักจะถูกล้อว่า ฮิเล็ก ฮิใหญ่ จนเป็นเรื่องน่าขบขัน สองแง่สามง่าม เป็นภาษาที่ไม่สุภาพ

ดังนั้น สิ่งที่ภาครัฐควรเร่งแก้ไขก่อนที่ เด็กรุ่นใหม่จะไม่พูดภาษาถิ่น คือ 1.รณรงค์ให้มีการใช้ภาษาถิ่นที่บ้าน โรงเรียน สถานที่ราชการ 2.อย่านำภาษากลางของคนกรุงเทพมาตัดสินว่า ถ้าพูดฮิ จะไม่สุภาพ นอกจากนี้ยังพบว่า การใช้ภาษาชอง ของชนพื้นเมืองดั้งเดิมของตราดอยู่ในภาวะวิกฤติ เพราะราชการไม่ยอมรับภาษาถิ่นในการติดต่อสื่อสาร รวมทั้งโรงเรียนไม่มีการสอนภาษาชอง ทำให้คนชองไม่มีโอกาสพูดภาษาชองของตนเอง

นายวัฒนะ บุญจับ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กล่าวว่า จุดเด่นของภาษาถิ่นของภาคตะวันออก จะอยู่ที่คำว่า ฮิ ลงท้าย และมีการพูดด้วยสำเนียงถิ่น แต่ปัจจุบันคนในภาคตะวันออก โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนอายที่จะพูด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะเมื่อเด็กไม่พูดภาษาถิ่น จะทำให้เด็กลืมพื้นฐานท้องถิ่นของตนเอง ทั้ง ความคิด ความเชื่อ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการปลูกฝังเด็กและเยาวชนของเราว่า ภาษาถิ่นเป็นภาษาบ้านนอก ดังนั้น ทุกหน่วยงานควรที่จะช่วยกันปรับทัศนคติของเด็กเสียใหม่ในการรักภาษาถิ่น โดยเฉพาะระบบการศึกษา

นายอดิศร จันทราวัฒน์ นักเรียนชั้นม.4 โรงเรียนตราษตระการคุณ จ.ตราด กล่าวว่า ปกติใช้ภาษาตราดพูดในชีวิตประจำวันทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน และมีโอกาสพูดภาษาตราดออกเสียงตามสายของโรงเรียนเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับศัพท์ภาษาไทยถิ่น โดยมีอาจารย์คอยให้คำแนะนำ แต่เมื่อใช้ภาษาตราดพูด เพื่อนๆจะบอกว่า เชย ไม่เท่ห์ บางคนล้อว่า ตนพูดภาษาตราดเหมือนคนพูดแอ๊บแบ๊ว แต่ก็ไม่อาย เพราะคิดว่านี่คือภาษาของเรา ในฐานะเป็นเยาวชนคนหนึ่งอยากชวนให้พ่อ แม่ พูดภาษาถิ่นกับลูก ตลอดจนอยากให้ชาวตราดอนุรักษ์ภาษาถิ่น เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-09-04-1.html
เมื่อ 5 กรกฎาคม 2567 18:06
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv