สธ.เตรียมออกกฎเหล็กห้ามสูบบุหรี่ในผับ บาร์ เปิดฟังความเห็นรอบสุดท้ายก่อนทำโพลใหญ่ มั่นใจผู้ประกอบการ พนักงาน ประชาชนหนุนเต็มที่ คาดประกาศใช้ต้นปีหน้า
       
       วันนี้ (6 ก.ย.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มีการจัดประชุมเสวนาวิชาการและรับฟังความคิดเห็นเรื่อง “สถานบริการบันเทิง ผับ และบาร์ ปลอดบุหรี่” ใน 25 จังหวัดภาคกลาง โดยมีนักวิชาการ ผู้ประกอบการสถานบันเทิงร่วมเข้าประชุม ซึ่งภายหลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นครบทั้ง 4 ภาค จะมีการนำความคิดเห็นทั้งหมดประมวลผลก่อนการออกข้อกำหนดให้สถานบันเทิงเป็นเขตปลอดบุหรี่
       
       นพ.เสรี หงส์หยก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานบริการบันเทิงมากขึ้น จาก 5,249 แห่ง ในปี 2548 เป็น 6,583 แห่ง ในปี 2549 ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการชัดเจน ว่าควันบุหรี่มือสอง ทำให้ผู้ไม่สูบบุหรี่แต่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีควันบุหรี่เป็นมะเร็งของอวัยวะต่างๆ เช่น โรคมะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง โรคถุงลมโปร่งพอง ฯลฯ ซึ่งการกำหนดให้สถานบันเทิงผับ บาร์ เป็นเขตปลอดบุหรี่ เป็นการอาศัยอำนาจ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 เพื่อครอบคลุมสถานบริการบันเทิงที่มีการยกเว้นไว้ ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยไม่ได้ห้ามการสูบบุหรี่ 100% ผู้ไปใช้บริการสามารถสูบบุหรี่ในที่ที่จัดไว้ หรือด้านนอกสถานบริการได้
       
       “ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่กำหนดให้สถานบันเทิงผับบาร์เป็นเขตปลอดบุหรี่ แต่ในแอฟริกาใต้ ประกาศห้ามตั้งแต่ 7 ปีที่แล้ว หรือในภูมิภาคเอเชีย อย่างประเทศภูฎานก็ดำเนินการไปแล้ว ขณะนี้มี 14 ประเทศที่ประกาศให้ผับ บาร์ เป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% ซึ่งทำให้เกิดผลดีต่อสุขภาพ ไม่ส่งผลต่อยอดการขายของสถานประกอบการ แต่กลับทำให้มีผู้มาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น” นพ.เสรีกล่าว
       
       นพ.เสรี กล่าวต่อว่า การเปิดรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ เพื่อให้ความรู้ ทำความเข้าใจ โดยจะนำความคิดเห็นทั้งจาก 4 ภาคทั่วประเทศ และแบบสอบถามที่สำรวจความคิดเห็นสถานที่ข้าราชการต่างๆ มาประมวลผลจากนั้นจะมีการสำรวจความคิดเห็นประชาชนอีกครั้งหนึ่งทั่วประเทศ โดยคาดว่าน่าจะใช้เวลา 3-4 เดือน จึงจะสามารถประกาศบังคับใช้ได้ นอกจากนี้ มาตรการการควบคุมอื่นๆ เช่น มาตรการทางภาษีสามารถช่วยลดปริมาณการสูบบุหรี่ได้ โดยหากขึ้นภาษี 10% ของราคาขายปลีกจะช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ได้ 2-5% จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน
       
       นพ.เสรี กล่าวด้วยว่า ส่วนประสบการณ์ของผู้ประกอบการผับ บาร์ในประเทศไทย ที่มีการดำเนินการให้เป็นสถานบริการปลอดบุหรี่แล้ว เช่น ร้านอาหารโรงเบียร์เชียงใหม่เยอรมัน หรือสถานประกอบการในจังหวัดพิษณุโลก ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และมีผู้ใช้บริการในกลุ่มครอบครัวเพิ่มขึ้นด้วย
       
       นพ.เสรี กล่าวอีกว่า ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันมีผู้สูบบุหรี่ทั่วโลก 1,300 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ 1 ใน 10 คน โดยในปี 2020 จะมีผู้สูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 1,700 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 6 คน หรือประมาณ 10 ล้านคน/ปี ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมหาศาล ทั้งนี้แนวโน้มการเสียชีวิตของประชากรโลก ในปี 2020 ประเทศพัฒนาแล้วจะมีการเสียชีวิตจากบุหรี่เพิ่มขี้นจากปี 1990 จำนวน 1.6 ล้านคนเป็น 2.4 ล้านคน ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 1.5 ล้านคนเป็น 6 ล้านคน ส่วนประเทศไทย มีนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชน ไทยปีละประมาณ 200,000 คน จากจำนวนผู้สูบบุหรี่เป็นประจำที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไป ทั้งนี้ จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2549 พบว่า กลุ่มเยาวชน ระหว่าง 15-24 ปี มีอัตราการบริโภคยาสูบสูงเป็นอันดับ 3 รองจากกลุ่มคนทำงานอายุ 25-59 ปี
       
       ด้าน นพ.สมาน ฟูตระกูล หัวหน้ากลุ่มควบคุมบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทั้งนี้ หากมีการดำเนินการบังคับใช้ กำหนดให้สถานบริการบันเทิงเป็นเขตปลอดบุหรี่ ผู้ละเมิดฝ่าฝืนไม่จัดเขตปลอดบุหรี่จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท โดยเบื้องต้นจะเป็นการแนะนำ ตักเตือน ก่อนจึงจะทำการจับปรับ
       

 
 
 
 
 
ที่มา- 

 
 
 
 


 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-09-06-2.html
เมื่อ 26 กรกฎาคม 2567 11:13
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv