ทีมวิจัยจากยูซีแอลเอสหรัฐ ค้นพบเหตุผลทางพันธุกรรมที่อธิบายได้ว่า ทำไมคนที่อ้างว้างเปล่าเปลี่ยวถึงมีสุขภาพทรุดโทรม
ยิ่งเปลี่ยวเหงาร่างกายยิ่งกระตุ้นแอนติบอดีทำงานมากขึ้นจนเนื้อเยื่ออักเสบเปิดเปิง
นักวิจัยพบยีนกลุ่มหนึ่งทำงานมากผิดปกติเมื่อคนรู้สึกโดดเดี่ยวจากสังคม 
และสามารถระบุยีนหลายตัวที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกันและทำให้เนื้อเยื่ออักเสบ
ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยหลายเรื่องพิสูจน์ให้เห็นความสัมพันธ์ชัดเจนว่า 
คนที่โดดเดี่ยวอ้างว้างกับความเจ็บป่วยมักเป็นของคู่กัน เช่น โรคหัวใจ 
 
นักวิจัยเนเธอร์แลนด์เคยศึกษาความเกี่ยวข้องกันระหว่างยีนและความเปลี่ยวเหงา
กับฝาแฝด 8,000 รายมาแล้ว และชี้ให้เห็นความเกี่ยวพันดังกล่าว
ส่วนงานของมหาวิทยาลัยยูซีแอลเอศึกษาเชิงลึกมากขึ้นเพื่อดูว่า 
ยีนตัวไหนที่เข้ามาเกี่ยวข้องบ้างโดยใช้อาสาสมัคร 14 ราย 
และประเมินระดับความสัมพันธ์ทางสังคม โดยนำระบบให้คะแนนมาวัด 
ต่อมาทีมวิจัยได้ศึกษาดูการทำงานของยีนในเซลล์เม็ดเลือดขาว 
และพยายามเปรียบเทียบผล 
ผลปรากฏว่าในกลุ่มอาสาสมัครที่ "โดดเดี่ยว" 
พบยีนหลายตัวที่มีแนวโน้ม "แสดงออกมาเกินไป" 
เมื่อเปรียบเทียบกับยีนชุดเดียวกันในอาสาสมัครอีกกลุ่มหนึ่ง 
ยีนชุดนี้เป็นที่รู้กันว่า เกี่ยวข้องกับกลไกต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกายเช่น 
ทำให้เกิดการอักเสบ และเมื่อร่างกายอักเสบมากเข้าเนื้อเยื่อจึงเสียหาย และทำให้เจ็บป่วย
ส่วนยีนกลุ่มอื่นที่เชื่อว่ามีบทบาทสำคัญจัดการกับไวรัส และผลิตสารแอนติบอดี 
ซึ่งเป็นระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอย่างหนึ่ง พบว่ามีกิจกรรมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับ
อาสาสมัครกลุ่มที่ไม่เปลี่ยวเหงา
ดร.สตีเฟนโคล หัวหน้าทีมวิจัย สรุปว่า งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า 
ผลกระทบทางร่างกายที่เกิดจากความว้าเหว่ในสังคม 
มีผลไปถึงกระบวนการพื้นฐานภายในร่างกายที่สำคัญ 
นั่นคือ กิจกรรมของยีน และการค้นพบนี้ช่วยให้มองหาทางคิดค้นยามาขัดขวาง 
ไม่ให้ร่างกายได้รับผลกระทบจากโรคว้าเหว่ และผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่จำกัดเพศ วัย 
คนรวย และคนจน
นักวิจัยยังกล่าวด้วยว่าคนที่มีเพื่อนมากไม่ได้หมายความว่าไม่โดดเดี่ยว 
แต่ขึ้นอยู่กับคนเหล่านั้นมีความสัมพันธ์แนบสนิทกับเพื่อนฝูงหรือไม่
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-09-17-2.html
เมื่อ 5 กรกฎาคม 2567 18:10
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv