เตรียมใช้คะแนนคุณธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของการ พิจารณาเข้ามหาวิทยาลัย สพฐ.เผยกำลังจัดทำเกณฑ์วัดคุณธรรม คาดเสร็จเดือนธันวานี้ พร้อมส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยร่วมมือกับ ร.ร.ในพื้นที่ จัดโควตารับเด็กที่มีคุณธรรมจากกลุ่ม ร.ร.ที่ตั้งอยู่รอบมหาวิทยาลัย ด้าน “ชัยอนันต์” แนะให้โรงเรียนจัดตารางกิจกรรมไว้ในตางรางสอน ขณะที่ ประธาน ทปอ.ระบุนำเรื่องนี้หารือในการประชุม ทปอ.15 ธ.ค.นี้ เพื่อหาข้อสรุปว่าจะใช้คะแนนเมื่อไหร่ ไฟเขียวให้มหาวิทยาลัยที่รับตรงใช้คะแนนคุณธรรมคัดเลือกเด็ก
       
       วันนี้ (13 พ.ย.) ที่หอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวในการ สัมมนาเรื่อง “เด็กดีมีที่เรียนในมหาวิทยาลัย" จัดโดย คณะกรรมาธิการการ ศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ทาง สพฐ.เดินหน้าเตรียมความพร้อมในการนำผลการประเมินคุณธรรมของนักเรียนออกมาเป็นคะแนน
แล้วนำมาใส่ไว้ในรายงานผลการศึกษาของนักเรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) ที่ต้องการให้นำคะแนนคุณธรรมมาใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อใน มหาวิทยาลัย        
       ทั้งนี้ สพฐ.เร่งจัดทำเกณฑ์วัดคุณธรรมของนักเรียนอยู่ คาดจะเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อนำผลการประเมินมาใช้ในปีการศึกษา 2551 อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าการวัดคะแนนคุณธรรม จะพิจารณาจากเรื่องใดบ้าง ซึ่งเบื้องต้นได้มีการตั้งตุ๊กตาเพื่อใช้ในการวัดจาก 3 เรื่อง ได้แก่ การบริการสาธารณะ การพัฒนาตนเอง และการทำความดีอื่นๆ
       
       นอกจากนี้ สพฐ.ต้องการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยร่วมมือกันโรงเรียนในพื้นที่เปิดโควตาพิเศษ
รับเด็กที่มีคุณธรรมจริยธรรมจากโรงเรียนในพื้นที่ ซึ่งมหาวิทยาลัยและโรงเรียนร่วมมือควรมีการกำหนดคุณธรรม จริยธรรม คุณลักษณะความดีที่ต้องการให้ให้ชัดเจน จากนั้นสร้างเกณฑ์ขึ้นมาใช้ประเมิน เหมือนกรณีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จ.นครปฐม เขต 1 จัดทำโครงการรับนิสิตโควต้าพิเศษสำหรับผู้มีคุณธรรม และบริการสังคม
       
       นายชัยอนันต์ สมุทวณิช ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา และการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุว่า โรงเรียนกับมหาวิทยาลัยควรนำเรื่องการที่เด็กเป็นคนดีบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมนั้น
มาเป็นส่วนหนึ่งในการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัย เพราะที่ผ่านมาการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัยได้แต่กรอกประวัติการศึกษาเท่านั้น แต่ไม่มีรายละเอียดแสดงว่าเด็กคนไหนได้ทำคุณงามความดี หรือทำประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างไรบ้าง
       
       ดังนั้น เราควรกำหนดเกณฑ์การพิจารณารับนักศึกษาในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย
โดยใช้คะแนนความดีให้ชัดเจนว่าจะใช้เกณฑ์ใดบ้าง
       
       นายชัยอนันต์ กล่าวต่อว่า ปัญหาของระบบการศึกษาไทยก็คือ ไม่ได้มีเวลาให้เด็กได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ เพราะโรงเรียนได้จัดตารางสอนเพียงอย่างเดียว ถ้าหากจะมีการนำคะแนนคุณประโยชน์มาใช้ในการประเมิน โรงเรียนควรจะจัดเวลาให้เด็กมีกิจกรรมเสริม ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน เช่น การจัดกิจกรรมเป็นทีมไปช่วยเหลือชาวบ้าน หรือ ช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส ฯลฯ ทางโรงเรียนควรมีการตั้งเกณฑ์การวัดการประเมินผลการ ทำความดีของเด็ก เมื่อมีเกณฑ์ ชัดเจนแล้วจะทำให้เด็กมั่นใจในการบำเพ็ญประโยชน์
       
       “การพิจารณาการทำกิจกรรมของเด็กแต่ละคนควรดูว่าเด็กทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องรึเปล่า อาจจะต้องใช้เวลาสังเกตพฤติกรรมของเด็กเป็นเวลา 3-4 ปี ไม่ใช่ประเมินแค่ 3-4 วันที่เด็กเข้าร่วมกิจกรรม อย่างไรก็ตามการบำเพ็ญประโยชน์เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน เพราะฉะนั้น กมธ.,
สนช., สพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการ การอุดมศึกษา (สกอ.) ควรจับมือกันกำหนดเกณฑ์ให้ชัดเจนเพื่อนำมาใช้ในการประเมินเข้า มหาวิทยาลัย โดยอาจจะใช้เป็นคะแนนส่วนหนึ่งของการสัมภาษณ์ “
       
       รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ตามกำหนดการประชุม ทปอ.ในวัน ที่ 15 ธ.ค.นี้ จะนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุมว่า การนำคะแนนคุณธรรม มาใช้ในแอดมิชชั่นควรเริ่มดีเดย์ได้เมื่อไหร่
ทั้งนี้ สามารถนำผลการประเมินมาใช้ในการรับตรงของมหาวิทยาลัย แต่ปีแรกที่ทดลองใช้นั้น คงไม่ถึงขั้นให้คะแนนคุณธรรมเป็นส่วน หนึ่งของคะแนนคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย แค่ให้ใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินใจ เช่น ถ้านักเรียนได้คะแนนสอบคัดเลือกเท่ากัน ให้พิจารณาเลือกผู้ที่ได้คะแนนคุณธรรมมากกว่าเข้าเรียน แต่ในระยะยาวเมื่อพิสูจน์แล้วว่าเกณฑ์วัดคุณธรรมของ สพฐ.เชื่อถือได้ ทปอ.ต้องการให้คะแนนคุณธรรมเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย
       
       อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ตอบรับกับการนำคะแนนคุณธรรมใช้ในคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัย
       
       ผศ.ดร.ชวลิต ฮงประยูร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก) วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมา มก.วิทยาเขตกำแพงแสนร่วมมือกับ สพท. นครปฐม เขต 1 จัดทำโครงการรับนิสิตโควตาพิเศษสำหรับผู้มีคุณธรรม และบริการสังคม ขณะนี้นิสิตที่รับผ่านโครงการนี้รุ่นแรกกำลังเรียนอยู่ชั้นปี 2
อย่างไรก็ตาม ซึ่งเร็วเกินไปที่จะบอกว่าดีหรือไม่ แต่ผลการเรียนของพวกเขาไม่แตกต่างจาก นิสิตที่รับผ่านระบบเอ็นทรานซ์ สิ่งที่เห็นชัดเจนก็คือเด็กกลุ่มนี้ยังทำกิจกรรมหรือโครงการ เพื่อสังคม เพื่อคุณธรรมใน มหาวิทยาลัยต่อเนื่อง และยังเป็นแกนนำดึงเด็กคนอื่นให้มาร่วมกิจกรรมด้วย
       
       “การนำคะแนนคุณธรรมมาเป็นส่วนหนึ่งในการรับนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยนั้น น่าจะทำระดับเขตพื้นที่มากกว่าทำในภาพรวมทั้งประเทศ เพราะมหาวิทยาลัยสามารถทำงานใกล้ชิดโรงเรียนในพื้นที่มากกว่า และหากทำในระดับพื้นที่ก็จะไม่มีปัญหาเส้นสาย” ผศ.ดร.ชวลิต แนะนำ
       
       ขณะที่นายถาวร ชัยจักร ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยม ฐานบินกำแพงเสน จ.นครปฐม หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการรับนิสิตโควต้าพิเศษสำหรับผู้มีคุณธรรมและบริการสังคม กล่าวว่า ถ้ามีโครงการรับนักศึกษาที่พิจารณาจากคะแนนคุณธรรมของเด็กเช่นเดียวกับ โครงการนี้แล้ว จะช่วยแก้ปัญหานักเรียนแห่กวดวิชา เด็กไม่ต้องไปกวดวิชา แต่สามารถเอาเวลาว่างไปทำกิจกรรมเพื่อบริการสังคมหรือกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งโรงเรียนส่งเสริมเด็กทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง บางวิชาจะวัดผลจากทำกิจกรรมควบคู่กับวัดผลโดยการสอบ เพราะฉะนั้นถ้าทำกิจกรรมได้ดีมีสิทธิได้เกรด 4 เหมือนกัน โดยไม่ต้องท่องหนังสือมากนัก แต่ก่อนที่จะมีการนำกิจกรรมมาเป็นเกณฑ์ในการเข้าศึกษาต่อ โรงเรียนควรเชิญผู้ปกครองเข้าร่วมอบรมว่า เลี้ยงลูกอย่างไรถึงได้ดี เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมแต่จะหนุนให้เด็กเรียนกวดวิชา เพื่อให้เก่งวิชาการ
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมเพื่อสังคมโรงเรียนทำอยู่แล้วและประสบความสำเร็จอย่าง มากในการช่วยปลูกฝังคุณธรรมให้เด็ก จนทางนายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ส่งคนมาศึกษาเรื่องนี้ที่โรงเรียนเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน               นายสุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ระบุว่า การนำคะแนน คุณธรรมมาใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัยเป็นหน้าที่ของ ทปอ. ส่วน สกอ.มีหน้าที่ควบคุมให้ดำเนินการไปได้อย่างดี และส่วนตัวมองว่าเรื่องความดีไม่ใช่นามธรรม สามารถวัดผลได้ แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ มหาวิทยาลัยจะจัดระบบส่งเสริมให้นักเรียนที่ทำกิจกรรมเพื่อคุณธรรม เพื่อบริการสังคมเหล่านี้ มีเวทีที่จะทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องได้หรือไม่ ต้องอาศัยคณะกรรมการประสานงานนิสิต นักศึกษา สถาบันอุดมศึกษา แห่งประเทศไทย เข้ามาช่วยดูในเรื่องส่งเสริมกิจกรรมนี้
       
       “โครงการนี้ถือว่าดีมาก แต่ว่าเราส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมเพื่อบริการสังคมก่อนเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย เกรงว่าพอเข้าเรียนแล้วเด็กจะไม่ทำกิจกรรมต่อเนื่อง ฉะนั้น ควรหาเวทีให้เด็กทำกิจกรรมต่อเนื่อง เพื่อปลูกจิตสำนึกทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม”
 
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-11-13-2.html
เมื่อ 26 กรกฎาคม 2567 23:31
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv