ผลวิจัยชี้ขยัน อดทน ซื่อสัตย์ สุดยอดคุณธรรม สร้างสันติ-ความมั่นคงให้ประเทศ คนเอเชียนิยมเลี้ยงลูกให้กตัญญู-อ่อนน้อม ส่วนฝรั่งเลี้ยงให้ยอมรับในความแตกต่าง ส่วนใหญ่ใช้หลักศาสนาเข้าบ่มเพาะคุณธรรม ว.วชิรเมธีระบุประเทศไทยเป็นเมืองภุชก์มีแต่ผู้โกงผู้กิน คนไทยเป็นพุทศาสติกชน ส่งผลสังคมไทยทรุด
แนะยึดคุณธรรมเป็นมั่นอย่างน้อยคนละ 1 ข้อแล้วทำแทนพูด
 
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดและปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “วิจัยกับการนำคุณธรรมสู่สังคมไทย” มรการประชุมวิชาการ การวิจัยทางการศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 12 มีคณะครูอาจารย์เข้าร่วมประมาณ 1 พันคน ว่า งานวิจัยเป็นเสมือนตัวนำพาคุณธรรมจริยธรรมสู่เป้าหมายคือสังคมที่มีคุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากวิจัยให้รู้ถึงวิธีการสอนคุณธรรมที่ดีที่สุดจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง จะช่วยกระจายให้คนไทยมีคุณธรรมเพิ่มมากขึ้น จากที่ปัจจุบันสิ่งนี้ขาดหายไปจากสังคมไทยอย่างน่าใจหาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโลกมีความซับซ้อน เปลี่ยนแปลงเละเสี่ยงตลอดเวลา
ทำให้คนเกิดความโลภและต้องการอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
แต่ถ้ามีคุณธรรมจะทำให้มีการยืนที่มั่นคง อยู่ดี อยู่รอด อยู่ปลอดภัยใครมาผลักก็ไม่ล้ม
 “เชื่อว่าถึงจะหมดวาระของรัฐบาลชุดนี้ งานด้านการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมจะไม่ถูกละเลย รัฐบาลชุดต่อไปจะต้องมองกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงเกรดเอ ที่จะต้องส่งคนดี
มีความรู้ ความสามารถ มาเป็นรัฐมนตรี ไม่ใช่มองเป็นกระทรวงเกรดซี แล้วส่งคนไม่มีความรู้ความสามารถหรือใครก็ได้มานั่งตำแหน่งรัฐมนตรี”รศ.ดร.วรากรณ์กล่าว
 พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือ ว.วชิรเมธี บรรยายพิเศษ เรื่อง “คุณธรรมกับการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน”ว่า สังคมไทยวิกฤติในแง่ของคนขาดคุณธรรม จะต้องเริ่มแก้วิกฤติที่การพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ หากคนเรามีคุณธรรมยึดมั่นอย่างน้อยคนละ 1 ข้อ ก็สามารถเขยื่อนและเปลี่ยนแปลงสังคมไทยได้
อย่างเช่น กรณีมหาตมคานธี ที่ยึดถือสัจจะยิ่งกว่าชีวิต ก็สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมโลกได้ ขณะที่เมืองไทยเห็นสัจจะเป็นการต่อรองทางสังคมเท่านั้น ทั้งที่ ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ มีวัดที่เป็นแหล่งเพาะคุณธรรมที่สำคัญกว่า 3 หมื่นแห่ง สังคมไทยยังทรุด ยังมีคุณธรรมน้อย เนื่องจากแท้จริงเมืองไทยเป็นเมืองภุชก์ หมายถึงเมืองที่มีแต่ผู้โกงผู้กิน และคนไทยส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสติกชน ไม่ใช่พุทธศาสนิกชน นับถือศาสนาพุทธตามพ่อแม่เลือกให้ตอนเกิด โดยไม่รู้ว่าแท้จริงพุทธศาสนาเป็นอย่างไร
 “การแก้วิกฤติที่เกิดขึ้นในสังคมจะแก้ด้วยเครื่องลางของขลังไม่ได้ ต้องใช้ภูมิปัญญาที่มากกว่านี้
และต้องแก้ทั้งระบบ โดยต้องทำให้เห็นแทนการสอน ใช่พร่ำสอนแต่ไม่ทำเป็นแบบอย่างอย่างเมืองไทย ต้องทำให้เห็นว่าการเมตตากรุณาต่อกันจะอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุข ที่สำคัญต้องแปรรูปคุณธรรมลงไปในวิถีชิวตคนไทยทุกรูปแบบ ไม่ใช่ให้พระมีเทศน์เท่านั้น พรรคการเมืองต้องร่วมกันสร้างสัมมาธิปไตย การศึกษาต้องเน้นพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ไม่ใช่ทักษะในการทำมาหากิน ภาคธูรกิจต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม และครอบครัว พ่อแม่ต้องเป็นผู้บังเกิดเกล้า ไม่ใช่แค่ผู้ให้กำเนิดแล้วส่งให้คนอื่นเลี้ยง”พระมหาวุฒิชัยกล่าว
 ในงานเดียวกันมีการคัดเลือกผลงานวิจัยทางการศึกษา โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม
มานำเสนอกว่า 70 เรื่อง จากที่ส่งเข้ามาทั้งสิ้นกว่า 200 เรื่อง ซึ่งหนึ่งในงานวิจัยที่น่าสนใจ อยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม โดยเป็นรายงานการสังเคราะห์งานการวิจัยคุณลักษณะและกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของประเทศต่างๆ
จัดทำโดย ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่และดร.รุ่งเรือง สุขาภิรมย์

 ดร.รุ่งเรือง สุขาภิรมย์ ผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ 15และ 17 กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) กล่าวว่า จากการสังเคราะหืรายงานการศึกาคุณลักษณะและกระบวนการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมของประเทศต่างๆ รวม 10 ประเทศ แยกเป็น ประเทศในเอเชีย 5 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐเกาหลี ไต้หวัน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ศรีลังกา และอินเดีย ในยุโรป 3 ประเทศ คือ ฟินแลนด์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน และสวิตเซอร์แลนด์ ทวีปอเมริกา 1 ประเทศ คือ แคนาดา และประเทศนิวซีแลนด์ แถบแปซิฟิคใต้

 พบว่า คุณธรรมจริยธรรมพื้นฐานสำคัญทั้งประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว เพื่อเป็นฐานในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ช่วยพัฒนาความมั่นคงของประเทศชาติ ได้แก่ ความขยัน อดทน ซื่อสัตยื มีวินัย เคร่งในระเบียบ ความรับผิดชอบ รู้หน้าที่ และประหยัด ซึ่งคุณลักษณะเด่นของคนเอเชีย คือ ความกตัญญู ความรักชาติ ความอ่อนน้อม
ส่วนคุณลักษณะเด่นของคนยุโรป อเมริกาเหนือและแปซิปิคใต้ เรื่องการยอมรับในความแตกต่างและความหลากหลาย
 
ดร.รุ่งเรือง กล่าวอีกว่า ศาสนาเป็นรากฐานสำคัญของคุณธรรมจริยธรรมของคนในสังคม
อาทิ ในเกาหลี ไต้หวันและเวียดนาม ศาสนาพุทธนิกายมหายานและคำสอนของขงจื้อ มีอิทธิพลต่อการปลูกฝังคุณลักษณะและคุณธรรมจริยธรรมเด่น เรื่องความซื่อสัตยื ความเคารพในอาวุโส
การจัดระเบียบสังคม ความสัมพันธ์และหน้าที่ระหว่างสมาชิกในครอบครัว องค์กรและสังคมโดยรวม ขณะที่คำสอนของศาสนาพุทธเถรวาท ส่งผลให้ชาวพุทธสิงหล เป็นคนอ่อนน้อม ซื่อสัตย์ และศาสนาฮินดูและคัมภีร์พระเวททำให้คนอินเดียเคร่งในศาสนาประเพณีและวัฒนธรรม เชื่อในโชคชะตา มุ่งทำกรรมดี และศาสนามีผลต่อคุณลักษณะของคนในยุโรป อเมริกาเหนือ และแปซิฟิค โดยไม่สามารถระบุชัดว่ามีผลจากศาสนาเด่นด้านใดหรือมากน้อยเพียงใด

 ทั้งนี้จากการสังเคราะห์นี้รัฐควรเร่งดำเนินการบูรณาการงานของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวกับคนให้สอดรับกันในการสร้างเสริมคุณธรรม ควรสืบทอดหลักคิดและคำสอนศูนย์รวมแห่งศรัทธาของประเทศ เร่งฟื้นฟูและสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว ปรับการเรียนการสอนเน้นการสอนคิดวิเคราะห์ รู้เหตุรู้ผล รู้แยกผิดถูก สนับสนุนสถาบันศาสนาและพัฒนาศาสนบุคคล รวมถึง องค์กร มูลนิธิ อาสาสมัคร และควรมีมาตรการกำกับดูแลสื่อมวลชนอย่างเหมาะสม แทนการปล่อยเสรีจนเกินไป






 
ที่มา- 
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-11-15-2.html
เมื่อ 27 กรกฎาคม 2567 00:25
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv