ร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ผ่านกรรมาธิการ จ่อเข้า สนช.วาระ 2 และ 3 “วิจิตร” พอใจผลงานดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โว! ตั้งใจไว้แค่ 5 แห่ง แต่ทำได้ถึง 6 แห่ง เตรียมลุ้นจุฬาฯ อีกฉบับ ระบุ กฎหมายจุฬาฯ ทำตามกระบวนการ และหลักการเดียวกับ ม.อื่น ไม่น่าจะมีเหตุผลใดที่จะไม่ผ่าน สนช.
       
       ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ...เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ว่า ที่ประชุมได้เชิญผู้แปรญัตติมาชี้แจงต่อ กมธ.และได้มีการแก้ไขสาระร่าง พ.ร.บ.ตามที่มีการแปรญัตติดังกล่าว ดังนี้ เขียนบทบัญญัติยืนยันให้จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่รัฐต้องจัดการอุดหนุนให้อย่างเพียงพอ และต่อเนื่อง เพื่อเป็นหลักประกัน ว่า เมื่อออกนอกระบบไปแล้วก็ยังคงเป็นหน่วยงานของรัฐที่ยังต้องสนับสนุนงบประมาณ
ตามความจำเป็น และตามแผนพัฒนา
       
       นอกจากนี้ ได้เขียนบัญญัติให้หลักประกันผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างแท้จริงให้ได้เรียนจนจบปริญญาตรี เพื่อบังคับให้มหาวิทยาลัยรับผิดชอบ เป็นการลบล้างข้อวิตกว่าเมื่อออกนอกระบบไปแล้วจะทำให้ค่าเล่าเรียนแพง และคนจนจะได้รับผลกระทบ ส่วนประเด็นที่หวั่นกันว่าจะมีการสืบทอดอำนาจของผู้บริหารนั้น ได้มีการเขียนบัญญัติให้ผู้บริหารตั้งแต่ระดับคณบดีขึ้นไป ให้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่องติดต่อกันไม่เกิน 2 วาระ เป็นต้น
       
       ศ.ดร.วิจิตร กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อห่วงใยเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินของจุฬาฯ นั้น กมธ.ก็รับฟัง แต่ถือเป็นเรื่องที่สภามหาวิทยาลัยจุฬาฯ ต้องรับผิดชอบ และตัดสินใจ เราก็จะไม่ก้าวล่วง แต่ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับการออกนอกระบบ เพราะแม้ยังอยู่ในระบบราชการก็เกิดปัญหาขึ้นได้ เพราะเป็นเรื่องของการบริหารงาน ซึ่งจุฬาฯก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อย่างไรก็ตามการแก้ไขดังกล่าวเป็นที่พอใจของผู้แปรญัตติ โดยที่ไม่มีการสงวนความเห็น และจากนี้จะนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 2 และ 3 ต่อไป ส่วนจะมีการบรรจุวาระเมื่อไหร่นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับประธาน สนช.ซึ่งในส่วนของ กมธ.ถือว่าได้ทำตามหน้าที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังมีความเชื่อมั่นว่า ร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ จะแล้วเสร็จภายในรัฐบาลนี้หรือไม่ นายวิจิตร กล่าวว่า ในแง่นิติบัญญัติแล้วหลักการ และกระบวนการของร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ก็เหมือนกับร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ผ่าน สนช.ไปแล้วก่อนหน้านี้จึงไม่น่ามีเหตุผลที่จะไม่ผ่าน สนช.วาระ 2 และ 3 แต่หาก สนช.จะไม่บรรจุเข้าสู่วาระ 2 และ 3 ก็เป็นอำนาจของ สนช.พ้นจากอำนาจและหน้าที่ของตนและรัฐบาลไปแล้ว ส่วนข้อเรียกร้องของอาจารย์จุฬาฯ ที่ขอให้ สนช.ไม่บรรจุวาระร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ในวาระ 2 และ 3 นั้น ถือเป็นสิทธิที่กระทำได้ และตนจะไม่ขัดขวาง แต่อย่าทำให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น
       
       ต่อข้อถามว่า พอใจกับการดำเนินการผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบหรือไม่ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ถือว่าได้เกินเป้า 100% เพราะเดิมตั้งใจจะผลักดันร่าง พ.ร.บ.เพียง 5 ฉบับ ได้แก่ ม.ทักษิณ ม.บูรพา ม.มหิดล ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และจุฬาฯ แต่ตอนนี้มีแนวโน้มว่ามีอีก 2 ฉบับที่จะผ่านความเห็นชอบจาก สนช.คือ ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งหากจุฬาฯ ผ่านอีก 1 ฉบับ ก็จะเป็น 7 ฉบับ ถือว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านในชุดนี้เป็น พ.ร.บ.ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมาสำหรับรองรับมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ จนมหาวิทยาลัย 6 แห่งที่ออกนอกระบบไปก่อนหน้านี้เสนอขอให้มีการปรับแก้กฎหมายให้มีหลักการเดียวกับร่าง พ.ร.บ.เหล่านั้น ซึ่งตนจะเตรียมยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ทั้ง 6 แห่งไว้ให้กับรัฐบาลชุดหน้าหากเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไข จะได้เดินหน้าได้ทันที
 
 
 
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-12-08-1.html
เมื่อ 27 กรกฎาคม 2567 02:20
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv