ภาพจำลองจากศิลปินแสดงให้เห็นลักษณะของดาราจักร 3C321 ที่มีหลุมดำอยู่ตรงกลาง เป็นตัวการปล่อยลำแสงพุ่งสู่ดาราจักรเพื่อนบ้าน เปรียบเทียบกับภาพขวาล่างคือภาพที่บันทึกได้จริง แต่ประกอบขึ้นจากการบันทึกในย่านรังสีต่างๆ นับเป็นครั้งแรกที่พบว่าหลุมดำปล่อยลำรังสีไปยังกาแลกซีอื่น (Credit: Image: X-ray: NASA/CXC/CfA/D.Evans et al.; Optical/UV: NASA/STScI; Radio: NSF/VLA/CfA/D.Evans et al., STFC/JBO/MERLIN; Illustration: NASA/CXC/M. Weiss)
 
 
 
นาซา/เอพี/เอเอฟพี/เอเยนซี - อาชญากรรมขโมยก๊าซจากกาแลกซีข้างเคียงมาสร้างดาวดวงใหม่ก่อนหน้านี้ อาจจะกลายเป็นเพียงคดีเล็กน้อย เมื่อล่าสุดกล้องโทรทรรศน์ทั้งในและนอกโลกต่างจับภาพอาชญากรรมครั้งใหม่ ที่กาแลกซีใหญ่ระเบิดกาแลกซีข้างเคียง ด้วยลำพลังงานและรังสีที่พุ่งออกมาอย่างรวดเร็ว โดยอำนาจของหลุมดำที่อยู่ใจกลางดาราจักร
       
       ด้วยความร่วมมือขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) หอดูดาวดาราศาสตร์กล้องโทรทรรศน์วิทยุสหรัฐ (National Radio Astronomy Observatory) และมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester) ในสหราชอาณาจักรที่ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกทั้งแบบใช้แสงและคลื่นวิทยุ รวมทั้งกล้องโทรทรรศน์อวกาศทั้งสาม ได้แก่ ฮับเบิล (Hubble Space Telescope), จันทรารังสีเอกซ์ (Chandra X-ray Observatory) และสปิตเซอร์รังสีอินฟราเรด (Spitzer Space Telescope) ทำให้สามารถบันทึกการก่อการร้ายครั้งใหญ่กลางจักรวาลได้ในหลายความยาวคลื่นซึ่งรวมทั้งช่วงคลื่นที่ตามองเห็นด้วย
       
       ภาพจากกล้องโทรทรรศน์ทั้งหลายได้บันทึกภาพเหตุการณ์ที่กลุ่มดาวงู (Serpens) ห่างจากโลกออกไป 1.4 พันล้านปีแสง เมื่อกาแลกซีหรือดารา 3C321 ได้ยิงลำอนุภาคแผ่รังสีไปยังกาแลกซีซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 10 เท่าที่ห่างออกไปประมาณ 2.4 หมื่นปีแสง สิ่งที่ปรากฏตามมาคล้ายว่ากาแลกซีทั้ง 2 กำลังรวมเป็นหนึ่งเดียว
       
       ที่สำคัญพบการเติบโตอย่างรวดเร็วของหลุมดำที่มีมวลยิ่งยวด (supermassive black hole) เผยออกมาที่ที่ใจกลางของกาแลกซีทั้ง 2 ซึ่งกล้องฮับเบิลจับภาพในคลื่นแสงที่ตามองเห็น (ภาพสีส้ม) พบว่าลำแสงดังกล่าวที่พุ่งออกมาจากใจกลางกาแลกซีอันธพาลนั้นยาวถึง 850,000 ปีแสง เลยกาแลกซีเคราะห์ร้ายนั้นออกไปอีกด้วยซ้ำ
       
       กาแลกซีทั้ง 2 ต่างมีระบบดาวเคราะห์เป็นของตัวเอง และโคจรในทิศทางตามเข็มนาฬิกา จึงทำให้เห็นว่ากาแลกซี่เพื่อนบ้านที่เคราะห์ร้ายนั้นโคจรเข้าสู่เส้นทางที่ลำแสงจากกาแลกซี่ใหญ่พวยพุ่ง
       
       ดาเนียล อีวานส์ (Daniel Evans) จากศูนย์การศึกษาดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ฮาวาร์ด-สมิทโซเนียน (Harvard-Smitsonian Center for Astrophysics) ผู้นำการศึกษาครั้งนี้กล่าวว่า หากโลกอยู่ในวิถีของลำแสงดังกล่าว อนุภาคพลังงานสูงและลำรังสีที่พุ่งอย่างรวดเร็ว จะปลดเปลื้องชั้นโอโซนและบีบอัดสนามแม่เหล็กที่พิทักษ์โลก
       
       จากนั้นก็จะกลายเป็นการเปิดโอกาสให้รังสีจากดวงอาทิตย์และลำรังสีเอกซ์ระเบิดดาวเคราะห์
ด้วยอนุภาคพลังงานสูง
และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่จะถูกสลายไป ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ของอีวานส์จะปรากฎในแอสโทรฟิสิกคอล จอร์นอล (Astrophysical Journal) ฉบับปีหน้า
       
       พร้อมกันนี้เขาได้ตั้งชื่อกาแลกซีอาชญากรว่า "กาแลกซีดาวแห่งความตาย" (death star galaxy)
       
       ด้านนาซากล่าวว่าระบบในหอดูดาวได้บันทึกการยิงกันครั้งนี้ ซึ่งภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นจุดสว่างที่กาแลกซีที่เล็กกว่าอันเป็นบริเวณที่ถูกลำรังสีกระทบ และสิ่งที่ปรากฏนั้นถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เมื่อเทียบกับอายุของจักรวาล โดยอาชญากรรมครั้งนี้ได้ขึ้นเมื่อล้านปีก่อน และคาดว่าการทะลักของลำพลังงานและรังสีปริมาณมหาศาลจากกาแลกซีขนาดใหญ่ จะทำให้เกิดการก่อตัวของดวงดาวและดาวเคราะห์จำนวนมากภายหลังการทำลายล้างสมบูรณ์
       
       "มันเหมือนอันธพาล เป็นหลุมดำอันธพาลที่ชกจมูกกาแลกซีที่ผ่านมาเข้ามาใกล้" ความเห็นของ เนล เดอเกรส์ส ไทสัน (Neil deGrasse Tyson) ผู้อำนวยการท้องฟ้าจำลองเฮย์เดน (Hayden Planetarium) นิวยอร์ก สหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้ร่วมในการวิจัยครั้งนี้ และท้ายที่สุดการชกกันครั้งนี้ได้นำมาซึ่งความตายของอีกฝ่าย
       
       "เราเคยเห็นการปล่อยลำรังสีจากหลุมดำมาหลายครั้ง แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เราเห็นว่าหลุมดำปล่อยลำรังสีไปยังกาแลกซีอื่นอย่างที่เราเห็น ซึ่งยังไม่เป็นที่เข้าใจว่าทำไมกาแลกซีที่ใหญ่กว่าจึงยิงลำรังสีมฤตยูนี้ เราเพียงทราบว่าสามารถติดตามหลุมดำได้จากอันตรกริยาระหว่างกาแลกซีทั้งสอง
เพราะมีการรบกวนสนามโน้มถ่วงที่ก่อนหน้านี้เคยเสถียร" ไทสันกล่าว
       
       ส่วนอีวานส์กล่าวว่ากาแลกซีทั้งสองปรากฏคล้ายอยู่ในกระบวนการที่ใช้เวลานับพันล้านปี
เพื่อรวมเป็นหนึ่งเดียว
และทำในสิ่งที่คล้ายกำลังเต้นรำรอบกันและกัน ขณะที่ไทสันกล่าวสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจไม่ได้หมายถึงความตายหรือแม้แต่การสร้างในลักษณะของเหตุการณ์ที่นำไปสู่การอนุบาล
ระหว่างดวงดาวและก่อให้เกิดดาวดวงใหม่
       
       "สิ่งนี้เตือนให้ระลึกว่า คุณไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวในเอกภพนี้เพียงลำพัง คุณไม่ได้แยกออกมาเป็นเอกเทศ คุณไม่ได้อยู่แค่เกาะแห่งหนึ่งเท่านั้น และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงหลุมดำ ถ้าสามารถทำได้" ไทสันกล่าวถึงบทเรียนจากการค้นพบในครั้งนี้
 
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-12-22-1.html
เมื่อ 27 กรกฎาคม 2567 02:09
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv