ประโยคข้างต้นเป็นคำเตือนที่ญาติและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต้องจำให้ขึ้นใจไว้ (ในจำนวนนี้รวมถึงผู้ที่มีภาวะความเสี่ยงด้วย ซึ่งจะกล่าวอย่างละเอียดต่อไป) สาเหตุที่เมื่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีอาการที่เป็นสัญญาณสำคัญ และจะต้องให้ถึงมือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในรพ.ที่มีความพร้อมให้ทันภายในเวลา 2 ชั่วโมง 30 นาทีนั้น เนื่องมาจาก ภายในระยะเวลาดังกล่าว ผู้ป่วยมีโอกาสสูงมากที่จะไม่เสียชีวิตและไม่พิการ แต่หากเกินจากนี้ คุณจะมีโอกาสที่จะเสียชีวิต และพิการไปตลอดชีวิตเป็นอย่างมาก
       
       ผศ.พญ.ศิวาพร จันทร์กระจ่าง นายกสมาคมแพทย์ระบบประสาทแห่งประเทศไทย และประธานศูนย์โรคสมองภาคเหนือ ให้ความรู้ว่า คนไทยมักจะรู้จักโรคหลอดเลือดสมอง ในนามของโรคอัมพาต แต่ถ้าผู้ป่วยรายใดมีอาการไม่รุนแรงยังพอขยับได้เรียก โรคอัมพฤกษ์ ซึ่งจริงๆแล้ว โรคอัมพฤกษ์หรืออัมพาต คืออาการที่เกิดขึ้นหลังจากป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่ไม่สามารถมาพบหมอได้ทันเวลานั่นเอง
       
       “ถ้าพูดถึงโรคหลอดเลือดสมอง ประชาชนมักเข้าใจว่า มีอาการ อัมพฤกษ์ อัมพาต การเคลื่อนไหวลำบาก ส่วนใหญ่มักพบอาการพูดไม่ชัด ปากเบี้ยว สาเหตุใหญ่ๆมาจากหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือหลอดเลือดสมองแตก
ซึ่งปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ คือ ความดันโลหิตสูง การสูบบุหรี่ โรคหัวใจ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ภาวะความเครียด พฤติกรรมการบริโภคที่รับประทานผักผลไม้น้อย เน้นเนื้อสัตว์เป็นหลัก
ซึ่งปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เมื่อดูจากพฤติกรรมของคนไทยในปัจจุบันนั้น ได้คาดการณ์กันว่า
มีคนไทยเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 10 ล้านคน”
       
       ทั้งนี้โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยเป็นอันดับ 2 รองจากอุบัติเหตุและมะเร็ง นำหน้าโรคหัวใจโรคนี้ก่อให้เกิดความพิการ และเป็นภาระค่าใช้จ่ายต่อครอบครัวตลอดจนค่าใช้จ่ายของประเทศ ประเทศไทยพบอุบัติการณ์ของโรคนี้ 690 คนต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิตปีละ 5-6 หมื่นราย มีผู้ป่วยปีละ 2.5 แสนราย โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการออกกำลังกาย การปรับพฤติกรรมการกิน ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ล้วนๆ
กินผักผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่งในทุกมื้อ ลดการกินอาหารไขมันสูง และงดการสูบบุหรี่ และสามารถรักษาแล้วอาการดีขึ้นถ้าผู้ป่วยมาพบแพทย์ทันเวลา

       “คำว่าการรักษาที่ถูกต้องฉับไวก็คือ เมื่อผู้ป่วยและผู้ที่มีภาวะเสี่ยงมีอาการที่เป็นสัญญาณของโรคนี้ คือ เวียนศีรษะ เดินเซ แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก ตาพร่ามัวหรือมองไม่เห็น พูดไม่ชัด พูดลำบาก พูดไม่ได้ หน้าเบี้ยวไปข้างใดข้างหนึ่ง สับสน สำลักบ่อย และอาจหมดสติ ให้สงสัยว่าจะมีอาการของโรคหลอดสมองอุดตัน ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดต้องสังเกตอาการที่เกิดขึ้น และรีบไปรพ.ทันที ให้ทันเวลาใน 2 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้เรามักจะบอกว่าใน 3 ชั่วโมง แต่เนื่องจากเมื่อมาถึงรพ.แล้วมีกระบวนการตรวจก่อน จึงต้องมาให้ทันใน 2 ชั่วโมงครึ่ง เพื่อที่หมอจะได้ทำการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด เพื่อหยุดความพิการ หยุดการเสียชีวิต หากมาช้าเกินกว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และหากเกินกว่า 3 ชั่วโมงแล้ว การใช้ยาละลายลิ่มเลือดจะมีความเสี่ยงสูงที่ผู้ป่วยจะเกิดภาวะเลือดออกในสมองและเสียชีวิตหรือพิการได้”พญ.ศิวาพรอธิบาย
       
       พญ.ศิวาพร ระบุว่า รพ.ที่จะสามารถรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้ ต้องเป็นรพ.ที่มีความพร้อมในการรักษา เช่น มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางระบบประสาท มีเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆที่สามารถรองรับให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น เครื่องเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan) ยาที่สามารถละลายลิ่มเลือดที่อุดตันในสมอง ห้องผ่าตัด และห้องผู้ป่วยที่สามารถให้การดูแลผู้ป่วยเฉพาะได้
       
       ด้านนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ระบุว่า การช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น หัวใจสำคัญคือ การสร้างเครือข่ายการให้บริการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างง่าย จึงได้จัดแนวทางใหม่ของระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่จะนำมาใช้ในประเทศไทยเกี่ยวกับการให้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน
โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน ซึ่งมีรพ.นำร่องเข้าร่วม 15 แห่งโดยเป็นหน่วยบริการที่มีศักยภาพในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงทีหากเมื่อผู้ป่วยร้องขอให้ช่วยเหลือนำส่งรพ. โดยนำร่องในหน่วยบริการที่มีความพร้อมก่อน หลังจากนั้นจะขยายในระดับภูมิภาคเพื่อให้มีศักยภาพสามารถให้การดูแลรักษาได้ในอนาคต ซึ่งการจัดบริการแนวใหม่นี้ จะช่วยลดความพิการ และการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้ เป็นการพัฒนามาตรฐานและรูปแบบการป้องกันความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย

พญ.ศิวาพร จันทร์กระจ่าง นายกสมาคมแพทย์ระบบประสาทแห่งประเทศไทย
       "สปสช.ได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันประสาทวิทยา มูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย สมาคมโรคหลอดเลือดสมองไทย สมาคมโรคหลอดเลือดแดงแห่งประเทศไทย และสมาคมประสาทศัลยศาสตร์แห่งประเทศไทย ดำเนินการพัฒนาระบบการดูแลโรคหลอดเลือดสมองครบวงจร ตั้งแต่การลงทะเบียนผู้ทีมีกลุ่มเสี่ยงสูง การสร้างระบบเฝ้าระวัง การแจ้งนำส่ง การดูแลรักษาที่เป็นมาตรฐานและการฟื้นฟูดูแลรักษาต่อเนื่อง ”นพ.สงวนระบุ
       
       สำหรับรายชื่อรพ.นำร่องในปี 2551 จำนวน 15 แห่งนั้น มีดังนี้ 1.รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ 2.รพ.สุราษฏร์ธานี 3.รพ.หาดใหญ่ 4.รพ.สระบุรี 5.รพ.พระปกเกล้า จ.จันทบุรี 6.รพ.มหาราชนครราชสีมา 7.รพ.พุทธชินราช จ.พิษณุโลก 8.รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น 9.รพ.ยโสธร 10.รพ.ชลบุรี 11.รพ.ลำปาง 12.รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 13.รพ.พระมงกุฎเกล้า 14.รพ.จุฬาลงกรณ์ และ 15.สถาบันประสาทวิทยา

นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์
       ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน สำหรับรพ.มหาราชนครเชียงใหม่นั้น พญ.ศิวาพร ชี้แจงว่า ศูนย์โรคสมองภาคเหนือเป็นเครือข่ายที่พร้อมให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีอาการของหลอดเลือดสมองอย่างครบวงจร โดยการจัดทำทะเบียนผู้ป่วยตั้งแต่แรกรับ การดูแลรักษา การให้คำแนะนำผู้ป่วยและญาติ ตลอดจนการติดตามประเมินผล นอกจากนี้ยังได้พัฒนารพ.ที่อยู่ในรัศมีสามารถเดินทางมาถึงรพ.ภายใน 2 ชั่วโมง ด้วยการจัดฝึกอบรมให้แพทย์และพยาบาลมีความรู้ในการดูแลรักษาพยาบาลโรคหลอดเลือดสมอง และจะจัดอบรมเครือข่ายในระดับการส่งต่ออีกครั้ง เพื่อให้ตระหนักถึงการรักษาพยาบาลที่ฉับไว ทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ
       
       ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ได้รับการรักษาเป็นประจำในรพ.อยู่แล้ว จะได้รับการอธิบายชี้แจงให้ทราบถึงขั้นตอนการปฏิบัติตัวว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อเกิดอาการผิดปกติ แต่สำหรับคนที่เกรงว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดอาจจะมีภาวะเสี่ยง สิ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจคือ เมื่อมีสัญญาณผิดปกติดังที่กล่าวไว้ข้างต้น หากรู้ว่ารพ.ไหนที่อยู่ใกล้มีความพร้อมในการรักษาก็เข้ารพ.นั้น แต่ถ้าไม่ คุณต้องติดต่อสายด่วนโทร. 1669 ซึ่งเป็นระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข หรือสายด่วนสปสช. โทร. 1330 คุณจะได้รับความช่วยเหลือ และคำแนะนำว่าต้องทำอย่างไร เพื่อหยุดภาวะเสี่ยงจากอาการของโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดขึ้น
 
 
 
 
 
ที่มา- 
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-12-27-1.html
เมื่อ 27 กรกฎาคม 2567 05:24
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv