ปราฟดา – ไม่นานมานี้ องค์การเพื่อการวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (ไอเออาร์ซี) เพิ่งประกาศรวมการทำงานกะกลางคืนไว้ในรายชื่องานที่เสี่ยงต่อมะเร็ง เช่นเดียวกับงานที่ต้องสัมผัสกับรังสีอุลตราไวโอเล็ต คาร์บอนแบล็ก สารย้อม ฯลฯ ดังนั้น พนักงานจึงมีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าชดเชย หากได้รับอันตรายหรือล้มป่วยจากการถูกบังคับให้ทำงานกลางคืน
       
        นักวิจัยญี่ปุ่นที่ศึกษาเรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อมและอนามัยในที่ทำงาน เฝ้าสังเกตและติดตามผลกลุ่มตัวอย่าง 14,000 คนเป็นเวลา 10 ปี และพบว่า ผู้ชายที่ทำงานในชั่วโมงที่ยืดหยุ่นเป็นมะเร็งต่อมอัณฑะมากกว่าผู้ชายที่ทำงานเฉพาะกลางวันเท่านั้น
       
        ขณะเดียวกัน นักวิจัยเดนมาร์กจากสถาบันระบาดวิทยามะเร็งในโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก ศึกษาผู้หญิง 7,000 คน อายุ 30-54 ปี พบว่า ผู้ที่ทำงานกลางคืนอย่างน้อย 6 เดือน มีโอกาสมากขึ้นที่จะเป็นเนื้องอกที่เต้านม
       
        ริชาร์ด สตีเวนส์ ศาสตราจารย์จากศูนย์สุขภาพ มหาวิทยาลัยคอนเน็กติกัต เป็นนักวิจัยคนแรกที่สังเกตเห็นความเกี่ยวข้องระหว่างการทำงานกลางคืนกับมะเร็งเต้านมเมื่อปี 1987 จากการทดลองเพื่อค้นหาว่า เหตุใดมะเร็งเต้านมจึงแพร่หลายในช่วงทศวรรษ 1930 เมื่อธุรกิจมากมายเริ่มทำงานตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อดึงดูดแรงงานหญิงมาทำงานทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน
       
        สตีเวนส์ พบว่า พวกที่ทำงานกลางคืนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นโรคหัวใจ ขณะที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิลาน ศึกษาพนักงานชายที่มีหน้าที่แยกโลหะจากแร่ 22 คนที่ทำงานในกะต่างๆ ช่วงกลางคืน
       
        จากการสังเกตการทำงานของหัวใจของคนเหล่านี้ พบว่า อัตราการเต้นของหัวใจ กิจกรรมของระบบประสาท และภูมิหลังด้านฮอร์โมน ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างการทำงานตอนกลางคืน
       
        หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า คนที่ตื่นและทำงานตอนกลางคืน ขณะที่หัวใจและหลอดเลือดหัวใจทำงานในโหมดหลับ เท่ากับว่าร่างกายและระบบประสาททำงานเกินกำลังระหว่างช่วงกลางคืน
       
        ราฟาเอลโล เฟอร์แลน หัวหน้าโครงการวิจัยเชื่อว่า ร่างกายคนเราไม่สามารถยอมรับกิจกรรมตอนกลางคืนได้ ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ อย่างไรก็ดี นักวิจัยยังไม่รู้กลไกที่แน่นอนในเรื่องนี้ แต่เสนอทฤษฎีไว้หลายอย่าง
       
        ทฤษฎีที่แพร่หลายที่สุดคือ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใช้ชีวิตในตอนกลางวัน การทำงานกลางคืนและนอนตอนกลางวันจึงสร้างปัญหาต่อวงจรพลังชีวิตประจำวัน และนำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บ
       
        ร่างกายมนุษย์ผลิตเมลาโทนิน หรือฮอร์โมนการนอนหลับในเวลากลางคืน ฮอร์โมนนี้จะควบคุมจังหวะทางชีวภาพ รวมถึงฮอร์โมนอื่นๆ ทั้งหมด ดังนั้น หากไม่นอนตอนกลางคืน ระบบดังกล่าวจะทำงานผิดปกติ
       
        ผลลบของการทำงานกลางคืนยังรวมถึงอาการคลื่นเหียน มีกรดในกระเพาะอาหาร ปวดท้อง ท้องเสีย เบื่ออาหาร ซึ่งเป็นอาการปกติของคนนอนดึก หรือคนที่ต้องทำงานกลางคืน เนื่องจากทำให้นาฬิกาชีวภาพแปรปรวน
       
        นอกจากนั้น การทำงานกลางคืนยังทำให้คนผู้นั้นถูกโดดเดี่ยวจากครอบครัวและเพื่อน กลายเป็นสถานการณ์แห่งความตึงเครียดและเศร้าหมอง
 
 
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2007-12-27-2.html
เมื่อ 27 กรกฎาคม 2567 04:17
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv