หัวใจเป็นอวัยวะสำคัญในการส่งเลือดจากหัวใจไปเลี้ยงตามอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย แต่หากหัวใจไม่ได้รับออกซิเจนและอาหารในเลือดจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเพียงพอ เนื่องจากมีแผ่นไขมันหนาๆ เกาะสะสม หรือที่เรียกว่า "โรคหัวใจขาดเลือด" หรือ "หลอดเลือดหัวใจตีบ" (Coronary Arterial Disease) จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้นขาดเลือด และส่งผลให้การทำงานของหัวใจลดลง ซึ่งอาจทำให้บุคคลนั้นเสียชีวิตเฉียบพลัน หรือทำให้อวัยวะสำคัญต่างๆ อาทิ สมอง ไต ได้รับเลือดมาเลี้ยงน้อยลง ผลที่ตามมาคือการทำงานของอวัยวะนั้นๆ ผิดปกติ

โรคหัวใจเป็นหนึ่งในโรคที่พบบ่อยในประเทศไทยและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้ จากการศึกษาของภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจ หลอดเลือด และเบาหวาน ทุก 6 นาที และทุกชั่วโมงมีคนกรุงเทพฯ อย่างน้อย 8 คนเสียชีวิตจากโรคหัวใจ นอกจากนี้ จากสถิติทางการแพทย์ พบว่า ในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา โรคหัวใจขาดเลือดคือสาเหตุของการตายอันดับหนึ่งของประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้ว

พ.ญ.อรนุช ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ไฟเซอร์ ประเทศไทยและอินโดไชน่า กล่าวว่า หน่วยงานด้านสุขภาพทั่วโลกได้ชูแนวคิดหลัก คือ "ร่วมมือร่วมใจเพื่อสุขภาพหัวใจที่ดี" ให้ความสำคัญกับบทบาทของสถาบันครอบครัวที่มีต่อสุขภาพหัวใจสมาชิกในครอบครัว เนื่องจากสถาบันครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นที่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการกำหนดรูปแบบการดำเนินชีวิตในอนาคต

ครอบครัวควรปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมตั้งแต่ในวัยเด็ก อาทิ การกินอาหารที่มีความสมดุลทางโภชนาการ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ ไม่เสพของมึนเมา การเฝ้าระวังน้ำหนัก เและการตรวจสุขภาพประจำปี โดยแฉพาะอย่างยิ่งการตรวจวัดระดับโคเลสเตอรอลอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ครอบครัวของเราเป็นครอบครัวที่มีหัวใจแข็งแรง




เมื่อปีที่ผ่านมา บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) ร่วมกับศูนย์หัวใจสิริกิติ์ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดกิจกรรม "รักหัวใจใส่ใจโคเลสเตอรอล" เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนถึงสาเหตุ วิธีการสังเกตอาการเริ่มต้น วิธีการป้องกันตนเองให้ห่างไกลจากโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการดูแลปฏิบัติตนหากเป็นโรค

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหัวใจขาดเลือด มีหลายสาเหตุด้วยกัน หลักๆ ได้แก่ "ไขมันในเลือดสูง" ผู้ที่มีโคเลสเตอรอลในเลือดสูงจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่มีไขมันในระดับปกติถึง 5 เท่า การตรวจวัดระดับโคเลสเตอรอลเป็นประจำ (อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง) จะช่วยให้เราป้องกันและรักษาภาวะโคเลสเตอรอลสูงได้อย่างทันท่วงที

ปัจจัยต่อมาคือ "ความดันโลหิตสูง" นับเป็นภัยมืดที่ก่อตัวอย่างเงียบๆ ในร่างกายของเรา โดยมากกว่า 90% ไม่ทราบถึงสาเหตุของการเกิดโรคที่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมาจากพันธุกรรม เชื้อชาติ ความเครียด ความอ้วน และการสูบบุหรี่ มีส่วนนน้อยที่สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน (จากเนื้องอกบางชนิด) ภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือเกิดจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด เป็นต้น

มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ประกาศในปี พ.ศ. 2542 ถือว่าผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง คือ ผู้ที่มีค่าความดันโลหิตตัวบนมากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันโลหิตตัวล่างมากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท และจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 160/95 มิลลิเมตรปรอท

"การสูบบุหรี่" ตามรายงานองค์การอนามัยโลกพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่จัดจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 3 เท่า

"อายุ" แผ่นไขมันสะสมในหลอดเลือดมีแนวโน้มจะเกิดมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นอุบัติการณ์ของ การเกิดโรคนี้จึงมากขึ้นตามอายุ และพบมากในผู้ที่อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป




"เพศ" เป็นที่ทราบกันว่าเพศชายมีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากกว่าเพศหญิงซึ่งอยู่ในวัยที่ยังไม่หมดประจำเดือน แต่ภายหลังจากที่หมดประจำเดือนแล้ว โอกาสเป็นจะเท่ากันทั้งในชายและหญิง

นอกจากนี้ ความเครียด ความอ้วน และการขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงโรคบางชนิด อาทิ โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ โรคเกาต์ เป็นต้น ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจอีกด้วย

อาการหลักของภาวะหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ได้แก่ อาการจุกแน่นหน้าอก ซึ่งมีลักษณะจำเพาะดังนี้

ตำแหน่งการเจ็บ มักเป็นตรงกลางหน้าอกเยื้องลงมาทางลิ้นปี่เล็กน้อย และมักจะรู้สึกเจ็บลึกๆ อยู่ภายใน บางครั้งอาการปวดนี้จะอยู่ตรงกลางหน้าอกทางด้านล่างและอาจเลยลงมาถึงบริเวณช่องท้องส่วนบนได้

ลักษณะเจ็บ มักจะมีอาการจุกๆ แน่นๆ อึดอัด บางทีรู้สึกเหมือนถูกรัดหรือมีก้อนอะไรมาทับหน้าอก อาจจะมีการปวดร้าวไปจนจุกคอหอย บางทีอาจปวดร้าวไปที่หัวไหล่ ต้นแขน หรือด้านในของแขน และอาจเลยไปถึงข้อมือหรือนิ้วมือ ซึ่งบางครั้งอาจปวดร้าวไปที่กรามและคอด้านซ้ายอีกด้วย

ระยะเวลาการเจ็บ มักเจ็บหน้าอกอยู่ราว 2-10 นาที และมักจะหายได้โดยการพัก ถ้าเจ็บนานกว่านี้ และพักแล้วไม่หายแสดงว่าอาการขาดเลือดอยู่ในระดับรุนแรงมาก

อาการอื่นที่อาจพบร่วมด้วย บางรายมีอาการใจหวิว ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ บางรายมีอาการเหงื่อซึม เป็นลม ตัวเย็น คลื่นไส้ อาเจียน โดยในผู้สูงอายุอาจมีอาการเหนื่อยง่าย เหนื่อยหอบ และหายใจลำบากร่วมกับอาการแน่นๆ ในหน้าอก หรือรู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง จนถึงหมดสติ หรือในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตแบบปัจจุบันทันด่วน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นได้ภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังจากเริ่มมีอาการดังกล่าว

สำหรับการป้องกันภาวะหัวใจขาดเลือด หรือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบทำได้โดย

1. ควบคุมน้ำหนักตัว หากอยากทราบว่าเรานั้นมีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ ทำได้ด้วยการคำนวณหาค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) โดยนำน้ำหนัก (หน่วยเป็นกิโลกรัม) ส่วนสูง 2 (หน่วยเป็นเมตร) ซึ่งควรมีค่า BMI อยู่ในระดับ 18-23 จึงจะถือว่าไม่อ้วน หรือประเมินโดยการวัดรอบเอว ซึ่งผู้ชายไม่ควรเกิน 36 นิ้ว และผู้หญิง 32 นิ้ว

2. กินอาหารให้ได้สมดุล โดยเน้นกินผักและผลไม้สดให้ได้อย่างน้อยวันละ 5 ทัพพี และหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีไขมันสูง (อาหารที่มีโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์สูง) อาทิ เนื้อสัตว์ติดมัน หนังเป็ด หนังไก่ นม เนย ไข่แดง เครื่องในสัตว์ อาหารที่ปรุงจากกะทิ ควรใช้น้ำมันชนิดไม่อิ่มตัว อาทิ น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง หรือน้ำมันข้าวโพด ในการประกอบอาหาร (เพราะมีส่วนผสมของกรดไลโนเลอิกที่เป็นตัวนำโคเลสเตอรอลไปเผาผลาญได้ดี) แทนน้ำมันหมูหรือน้ำมันมะพร้าว และควรหลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง (เพราะมักมีส่วนผสมของเกลือในปริมาณสูง) รวมถึงอาหารรสจัด

3. รักษาโรคความดันโลหิตสูง และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง

4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละไม่ต่ำกว่า 30 นาที และไม่ควรออกกำลังกายโดยใช้กำลังและแรงเบ่งสูง เช่น การยกน้ำหนัก วิดพื้น วิ่งอย่างรวดเร็ว เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรทำตัวให้ว่องไว กระฉับกระเฉงอยู่เสมอ

5. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง

6. ไม่สูบบุหรี่
7. รู้จักปล่อยวาง เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดทางอารมณ์และจิตใจมากจนเกินไป สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการหายใจช้าๆ และสูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ โดยหายใจเข้าให้นับ 1-3 แล้วจึงค่อยหายใจออกพร้อมกับนับ 1-4 ทั้งนี้การฝึกหายใจช้าๆ จะช่วยให้หัวใจเต้นช้าลง และความดันโลหิตลดลงอีกด้วย
 
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2008-01-09-1.html
เมื่อ 6 กรกฎาคม 2567 02:39
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv