หากพูดถึง “เกียรตินิยม” เชื่อว่านักศึกษาส่วนมากต่างฝันอยากได้มาครอบครอง แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อหันกลับมามองเกรดเฉลี่ยที่สะสมเอาไว้ของตัวเอง และรายวิชาที่เหลืออยู่ สำหรับใครที่คิดได้ว่ายังไม่สายเกินไป Life on Campus ก็สรรหาเทคนิค และคำแนะนำดี ๆ จากเหล่านิสิต นักศึกษา ที่ได้รับการการันตีความเก่งด้วยเกียรตินิยมกัน มาแล้ว ไม่แน่ว่าปริญญาบัตรของคุณอาจมีคำว่าเกียรตินิยมต่อท้ายก็เป็นได้
       
       ธนาวัฒน์ การย์กุลวิทิต (อ๊อฟ) จบปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ เอกเยอรมนี โทอังกฤษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.98 เกียรตินิยมอันดับ 1 บอกถึงเทคนิคในการเรียนว่า ทุกครั้งก่อนเข้าห้องเรียนควรจะอ่านหนังสือวิชานั้น ๆ ไปก่อน จะช่วยให้เข้าใจในเนื้อหาได้เร็วขึ้น และเมื่ออาจารย์ถามต้องพยายามตอบ ผิด-ถูกไม่เป็นไร การบ้านทุกชิ้นต้องทำครบทุกครั้ง ทั้งหมดนี้จะทำให้เราเรียนรู้ได้ดีกว่าการนั่งฟังอย่างเดียว
       
       “เนื่องจากสาขาที่อ๊อฟเรียนเป็นภาษาเยอรมนี การที่มีเพื่อนเป็นเจ้าของภาษาก็ช่วยได้มาก อย่างมีศัพท์คำไหนที่ไม่เข้าใจก็ส่งอีเมลไปถามเพื่อนได้ หรืองานเขียนก็ได้เจ้าของภาษาช่วยตรวจทานให้อีกที งานจึงออกมาดีส่งผลให้ได้คะแนนดีตามไปด้วย”
       
       นอกจากนั้นอ๊อฟยังบอกด้วยว่า การที่จะเรียนให้เก่งนั้นจำเป็นที่จะต้องมีความรับผิดชอบ ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่เครียดจนเกินไปด้วย หรืออยากได้เกียรตินิยมอย่างไรก็ไม่ควรมุ่งเรียนอย่างเดียว แต่ควรจะแบ่งเวลาทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ บ้างจะได้ไม่เครียด ส่วนเทคนิคการอ่านหนังสือสอบของอ๊อฟนั้น แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคืออ่านเนื้อหาทั้งหมด และนำมาทบทวนอีกครั้งเพื่อความมั่นใจ
       
       วนิดา เกตุประสาท (จิตร) สาวดีกรีปริญญาตรีจากคณะวิทยาการจัดการ หลักสูตรวิชานิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาราชภัฏจันทรเกษมกับเกรดเฉลี่ย 3.60 เกียรตินิยมอันดับ 1 เผยเคล็ดลับว่า จะสังเกตจากอาจารย์แต่ละท่านว่ามีสไตล์การสอนอย่างไร เจ้าระเบียบ หรือเป็นกันเอง มีการเช็คชื่อหรือไม่ กำหนดส่งงานเป็นอย่างไร แล้วเราก็ปฏิบัติตามแบบนั้น
       
       “ต้องเข้าเรียนทุกวัน เพราะเนื้อหาทุกคาบมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกันหมด ที่ผ่านมาวิชาหนึ่งจะขาดเรียนไม่เกิน 2 ครั้งเท่านั้น ตอนเรียนต้องตั้งใจฟังที่อาจารย์สอนถ้าไม่เข้าใจให้ถามทันที ก่อนสอบจะเอาทุกอย่างที่อาจารย์สอนมาลิสต์รายการ จัดเป็นหมวดหมู่เพื่อทบทวน หรือจะจับกลุ่มติวกับเพื่อนๆ ซึ่งก็ถือเป็นการทบทวนอีกทางหนึ่ง”
       
       “ความมีวินัยในการเข้าเรียนเป็นสิ่งสำคัญ ควรทำตามระเบียบแบบแผนรู้ว่าอะไรมาก่อนมาหลัง ควรจัดตารางเวลาให้เหมาะสม ว่าเวลาไหนควรทำอะไร แต่ก็ไม่ถึงขนาดต้องซีเรียสจนเกินไป อย่าหวังพึ่งคนอื่น เพราะไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากตัวเราเองค่ะ”
       
       ด้านสุทธิกา จันทรอัมพร (ตาล) จบปริญญาตรีจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เกรดเฉลี่ย 3.33 เกียรตินิยมอันดับ 2 กล่าวว่า ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนไม่ค่อยขยันแล้วก็ไม่ชอบอ่านหนังสือเท่าไร จึงอาศัยการเข้าเรียนทุกครั้งฟังอาจารย์สอนให้เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ถาม งานทุกชิ้นที่อาจารย์สั่งต้องส่งตรงตามเวลา จัดแผนการทำงานให้ดีว่าอะไรต้องส่งก่อนหลัง ควรรีบทำก่อนตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้ามาเร่งทำตอนใกล้กำหนดส่งงานจะออกมาไม่ดี และคะแนนก็จะไม่ดีตามไปด้วย
       
       “ช่วงใกล้สอบจะหาหนังสือจากข้างนอกมาอ่านเสริมจากตำราเรียน รวมทั้งนำชีทที่เรียนในห้องมาอ่านแล้วสรุปทั้งหมดอีกครั้ง ตอนสอบก็มาอ่านทบทวนอีก 1 รอบ อีกเทคนิคหนึ่งที่ใช้ได้ดีในการช่วยให้เราจำได้แม่นขึ้นคือ การใช้รูปและสี ส่วนวิชาที่เป็นคำนวณอย่างคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ก็อาศัยการทำแบบฝึกหัดเยอะๆ ก็ช่วยได้มาก”
       
       จากการเปิดเผยของเหล่านักศึกษาเกียรตินิยม ทุกเทคนิคแทบจะกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปที่ใคร ๆ ก็ทราบเป็นอย่างดี และดูเหมือนสามารถทำได้สำเร็จง่าย ๆ แต่ความแตกต่างระหว่างผู้สำเร็จการศึกษาพร้อมเกียรตินิยมกับคนที่พลาด คงหนีไม่พ้นเรื่องของความมีระเบียบวินัยในตัวเอง ที่บัณฑิตแต่ละคนมีอยู่ไม่เท่ากัน
 
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2008-01-30-1.html
เมื่อ 27 กรกฎาคม 2567 04:10
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv