จี้โลกใช้ 6 นโยบายคุมควันพิษร้าย



ฮูร้องเตือนโลกอาจต้องเซ่นสังเวยชีวิตกว่า 1 พันล้านคนให้แก่เพชฌฆาต"บุหรี่"ภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้ หากแต่ละประเทศยังไม่เร่งดำเนินมาตรการควบคุมการลด ละ เลิกบุหรี่อย่างจริงจัง เสนอ 6 นโยบายคุมควันพิษร้าย ชี้เพิ่มภาษี-ขึ้นราคาบุหรี่ได้ผลดีสุด

องค์การอนามัยโลก (ฮู) ออกเตือนให้โลกระวังการระบาดของภัยบุหรี่ร้ายที่กำลังขยายตัวมากขึ้นและจะฆ่าชีวิตคน
จำนวนมากกว่า 1,000 ล้านคน ภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้ หากรัฐบาลนานาชาติยังไม่เร่งดำเนินมาตรการควบคุมอย่างจริงจังให้สิงห์อมควันละลดเลิกบุหรี่

ในรายงานของฮูว่าด้วยการแพร่ระบาดของบุหรี่ทั่วโลกประจำปี 2551 ซึ่งศึกษาจาก 179 ประเทศทั่วโลก มีความยาว 330 หน้า เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุว่า การระบาดของพิษภัยบุหรี่ได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วโดยเฉลี่ย 5.4 ล้านคนต่อปี ทั้งจากการทำให้เป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจและโรคอื่นๆ และจำนวนผู้เสียชีวิตจากการสูบบุหรี่จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8 ล้านคนต่อปีได้ภายในปี 2573 ขณะที่ในศตวรรษ 20 ที่ผ่านมา มีคนทั่วโลกเซ่นโรคร้ายจากภัยบุหรี่เป็นจำนวนมากถึง 100 ล้านคน และหากยังไม่มีการดำเนินมาตรการควบคุมภัยร้ายจากบุหรี่อย่างจริงจัง ก็จะทำให้มีผู้ต้องสังเวยชีวิตให้แก่ควันพิษนี้มากกว่า 1,000 ล้านคน ภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 นี้

ทั้งนี้ 2 ใน 3 ของจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั่วโลกอยู่ใน 10 ประเทศ ได้แก่ จีน (คิดเป็นเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์) อินเดีย (ราว 10 เปอร์เซ็นต์) อินโดนีเซีย รัสเซีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น บราซิล บังกลาเทศ เยอรมนี และตุรกี

ฮูระบุอีกว่า รัฐบาลแต่ละประเทศมีรายได้รวมกันจากการจัดเก็บภาษีบุหรี่เป็นมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่รัฐบาลเหล่านั้นกลับเจียดเงินไม่ถึง
1 ใน 5 ของเงิน 1 เปอร์เซ็นต์ที่ได้มาจากรายได้ดังกล่าว เพื่อนำไปใช้ในโครงการควบคุมพิษภัยร้ายจากบุหรี่ ซึ่งสามารถป้องกันผู้คนนับหลายล้านคนให้รอดพ้นจากความตายได้

ดอกเตอร์ มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่ฮู แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า สิ่งที่จะมาเยียวยาการระบาดของบุหรี่นั้นไม่ได้อยู่ที่ตัวยาหรือวัคซีนขนานใดๆ แต่ขึ้นอยู่กับการดำเนินการอย่างจริงจังของรัฐบาลและภาคสังคมต่างหาก พร้อมกันนี้ ฮูยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลนานาชาติเร่งนำ 6 นโยบายในการควบคุมบุหรี่ที่ฮูเสนอ นำไปปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยป้องกันวัยรุ่นที่ริหันมาหัดสูบบุหรี่ได้ ทั้งยังช่วยให้สิงห์อมควันเลิกสูบบุหรี่ และป้องกันให้ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่แต่กลับได้รับพิษภัยร้ายจากควันบุหรี่มือสองได้อีกทาง

โดยนโยบายทั้ง 6 ดังกล่าวนั้น ได้แก่ มาตรการขึ้นราคาบุหรี่ให้สูงขึ้นโดยจัดเก็บภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้น ซึ่งมาตรการนี้เป็นวิธีการที่ทรงประสิทธิผลสูงสุดในการลดการบริโภคบุหรี่
 และกระตุ้นให้สิงห์อมควันเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างมาก ส่วนที่เหลืออีก 5 มาตรการ ได้แก่ การห้ามโฆษณาบุหรี่, การสนับสนุน ส่งเสริมและป้องกันผู้คนได้รับควันบุหรี่มือสอง, การกระตุ้นเตือนให้เห็นถึงภัยอันตรายจากบุหรี่, การช่วยให้สิงห์อมควันเลิกสูบบุหรี่ และการเฝ้าสังเกตสถานการณ์สูบบุหรี่เพื่อทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาจากพิษภัยบุหรี่ (เอพี)
 
 
 
 
ที่มา- 
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2008-02-09-1.html
เมื่อ 27 กรกฎาคม 2567 18:35
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv