“ใครจะลุกขึ้นมาช่วยนายแม่นเข็นรถเศรษฐีที่ตกหล่มบ้าง?” เสียงตะโกนก้องกังวาน ถามเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกเกี่ยวกับการให้ ความมีน้ำใจของ มัลลิกา ตั้งสงบ ผู้นำกลุ่มนักแสดงบ้านสื่อสารการละคร สถาบันอาศรมศิลป์ ต่อเยาวชนจำนวน 400 คนที่เข้าชมละครจิตอาสาอย่างตั้งใจ ณ ศูนย์อบรมและฝึกอาชีพ สถานพินิจบ้านกรุณา สมุทรปราการ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา


การแสดงละครดังกล่าว จุดประสงค์หลักเพื่อสอดแทรกและปลุกจิตสำนึกที่ดีให้กับเยาวชนที่เคยหลงผิด แนวคิดหนึ่งของการ “แบ่งปันเพื่อสังคมที่ยั่งยืน” โครงการภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยเริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เดือน มี.ค. ปีที่แล้ว
โครงการดีๆ เช่นนี้ จุดเริ่มเกิดจากการจัดแสดงละครจิตอาสาของคนกลุ่มหนึ่งเรียกตัวเองว่า “กลุ่มละครจิตอาสา” ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสถาบันอาศรมศิลป์ของมูลนิธิโรงเรียน รุ่งอรุณ ปัจจุบันโครงการดีๆ ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันศศินทร์ฯ และองค์กรต่างๆ ที่กล่าวข้างต้นให้เยาวชนกลุ่มหนึ่งที่เรียนรู้การละคร
ในขณะที่ต้องโทษอยู่ในบ้านกาญจนาภิเษก จำนวน 5 คน โดยมีพี่ๆ ที่มีประสบการณ์ด้านการละครมากกว่าช่วยสั่งสอนด้านการแสดง เมื่อเยาวชนกลุ่มนี้พ้นโทษได้เดินสายร่วมกับสถาบันอาศรมศิลป์ เล่นละครเผยแพร่ “จิตอาสา” ไปตามที่ต่างๆ จนได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักในคนกลุ่มหนึ่ง

ละครจิตอาสา สร้างสรรค์สังคม

ละครเวทีเป็นสื่อการแสดงที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างใกล้ชิด ก่อให้เกิดผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ความเชื่อ และทัศนคติของผู้ชมอย่างเป็นธรรมชาติ โดยที่วัยรุ่นไม่รู้สึกว่าตนกำลังถูกสั่งสอนโดยตรง เสมือนหนึ่งได้เข้าไปร่วมอยู่ในเหตุการณ์ของละคร จนเกิดการเปรียบเทียบหรือเชื่อมโยงชีวิตตนเองกับสถานการณ์ที่ตัวละครกำลังเผชิญอยู่ นำไปสู่มุมมองใหม่ จนอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงทัศนคติหรือพฤติกรรมได้ในเวลาต่อมา

คณะทำงานจึงได้ออกแบบและผลิตละครเวทีแบบมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมจิตอาสาในเยาวชน
จนเกิดเป็นผลงานการแสดงจำนวน 5 รอบ กว่า 1 ปี ได้รับผลตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างดี สถานที่จัดแสดง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคราชสิทธาราม โรงเรียนรุ่งอรุณ การแสดงรอบพิเศษสำหรับผู้ชมทั่วไป 3 รอบ ลานกลางแจ้งหน้าเรือนศิลปะ โรงเรียนรุ่งอรุณ แสดงในงานปาฐกถา สถาบันอาศรมศิลป์ ศูนย์พัฒนาเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก และล่าสุดศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน สถานพินิจบ้านกรุณา สมุทรปราการ
“ละครเวที” จึงเหมือนเป็นการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดี อีกทั้งเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเองสำหรับเยาวชนจาก
ศูนย์พัฒนาและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก
ซึ่งเป็นผู้แสดงในโครงการร่วมกับนักแสดงละครอิสระจากกลุ่มต่างๆ ที่มารวมตัวกันกับกลุ่มนักแสดง นำโดย มัลลิกา ตั้งสงบ นักแสดงกลุ่มบ้านสื่อสารการละคร สถาบันอาศรมศิลป์ สุมณฑา สวนผลรัตน์ คณะละครจิตอาสา เจริญพงศ์ ชูเลิศ ฯลฯ


กว่าจะมาแสดงเป็นละครที่สื่อเรื่องราวดีๆ ต้องผ่านการทำเวิร์กช็อปเป็นเวลานาน 2 เดือน สอนเรื่องการเปล่งเสียง การแสดงท่าทางซ้ำๆ เพื่อเกิดความชำนาญอีกทั้งนักแสดงกลุ่มนี้จะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์ประกอบการแสดง เช่น เสื้อผ้า ฉาก ไฟ เครื่องเสียง อุปกรณ์ แต่งหน้า ทำผม เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแสดง และไปจัดแสดงตามสถานที่ต่างๆ

ส่วนใหญ่เรื่องราวที่พูดในละคร สื่อเกี่ยวกับเรื่องราวของการให้ การให้อภัย ความเมตตากรุณา และความเสียสละ ฯลฯ

“การที่เราอยากร่วมกลุ่มทำละครจิตอาสา เพราะเรามีที่ปรึกษาโครงการคือ รัศมี เผ่าเหลืองทอง และอดิศร จันทรสุข คุยกันแล้วก็ลองทำละครกับกลุ่มเด็กที่อยู่ในสถานพินิจต่างๆ พอเข้าไปทำแล้ว ยิ่งผูกพัน เห็นส่วนดีของเด็กๆ ที่มีมากขึ้น เด็กทุกคนยังมีส่วนดีอยู่ในตัว เราอยากพาเขาไปในทิศทางที่ดี ยืนหยัดและรู้ที่จะเลือกว่า ควรทำอะไรไม่ควรทำอะไร ก็จะเป็นประโยชน์กับตัวเขาและคนอื่นๆ เด็กก้าวพลาดส่วนใหญ่ไม่เห็นคุณค่าของพวกเขา ถ้าเขาสามารถทำให้เด็กและโลกเห็นคุณค่าในตัวเขา จะทำให้โอกาสที่เด็กก้าวพลาดอีกมีน้อยลง” มัลลิกา ผู้นำกลุ่มนักแสดงบ้านสื่อสารการละคร สถาบันอาศรมศิลป์ เล่า พร้อมทั้งบอกว่าปัจจุบันสมาชิกในกลุ่มมีประมาณ
8 คน 4 คน เคยเป็นอดีตเยาวชนจากบ้านกาญจนาฯ

สำหรับเรื่องราวที่นำเสนอในละคร ส่วนใหญ่ได้แนวคิดมาจากนวนิยายของศรีบูรพาที่พูดเกี่ยวกับการให้ บทกวีของคาริล ยิบราน ที่พูดเรื่องการเสียสละ หยิบยกและนำมาดัดแปลงเป็นการแสดงที่สื่อเรื่องราวแบบเข้าใจง่าย สื่อออกมาในละครเรื่องต่างๆ เช่น ละครใบ้ นิทานชาดก ละครขอแรงหน่อยเถอะ ละครเล็กใหญ่ เป็นต้น โดยมีการตั้งคำถามกับผู้ชม พูดคุยสอดแทรก

“เรื่องขอแรงหน่อยเถอะ นายแม่นช่วยเข็นรถเศรษฐีที่เขาเคยไปช่วยงาน
แต่เวลาที่นายแม่นขอยืมเงินไปรักษาตัว แต่เศรษฐีบอกว่า แรงงานคนไม่มีค่า แต่เวลาที่ภรรยาเศรษฐีป่วยแต่รถติดหล่ม เศรษฐีขอแรงจากนายแม่นและชาวบ้าน จะมีละครออกมาสองภาคคือ ภาคที่ช่วยเหลือ และภาคที่ไม่ช่วยเหลือ มีการขอแรงให้น้องๆ ขึ้นไปช่วยเข็นรถ เหล่านี้เป็นทัศนคติที่อยู่ในตัวว่า เราจะก้าวข้ามข้ออคติเหล่านี้ไปได้อย่างไร” หัวหน้ากลุ่มคนเดิมเล่า

น่าเสียดายที่ละครจิตอาสาดีๆ กำลังจะหมดลง เนื่องจากไม่มีงบประมาณในการตระเวนเล่นต่อ ส่วนเด็กๆ นักแสดงก็ต้องแยกย้ายไปมีชีวิตของตัวเอง

‘1 ตัวละคร’ อดีตที่เคยก้าวพลาด

ตี๋ เด็กหนุ่มร่างสันทัด วัย 22 ปี อดีตสมาชิกศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก (สถานพินิจ) ที่กลายมาเป็นส่วนร่วมแสดงละครและได้พัฒนาตนเอง เขาเล่าว่าเล่นละครได้ประมาณปีกว่าๆ แล้ว ตอนแรกไม่รู้ว่าตัวเองชอบด้านนี้ แต่ได้ลองสัมผัสก็รู้สึกรัก

“ผมเคยชมละครเวทีแบบนี้ เรื่องเส้นด้ายในความมืด สอนว่าคนเราควรขวนขวายให้ตัวเอง ไม่ใช่รอรับอย่างเดียว ตอนดูก็ได้คิด และเก็บความรู้สึกนั้นไว้ลึกๆ พอมาเจอทีมละครของพี่ๆ ทำให้ผมอยากเข้ามาสัมผัสว่าเป็นอย่างไร สิ่งที่ผมได้จากการเล่นละครก็คือ ละครที่ผมเล่นแต่ละเรื่อง เป็นเรื่องที่ให้ลองย้อนกลับมาดูและลองคิดที่จะแก้ไข เปลี่ยนแปลงและให้คนอื่นบ้าง และเวลาอยู่ในทีมก็ได้ช่วยเหลือกัน มีความอดทน รู้จักเป็นผู้ให้ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ดี แต่ก่อน เคยเป็นแต่ผู้รับอย่างเดียว พอได้เป็นผู้ให้ ทำให้รู้สึกปลื้ม ภูมิใจว่าครั้งหนึ่งเราก็ได้เป็นผู้ให้และให้อย่างจริงใจ อย่างผมมาเล่นให้น้องๆ ดู และน้องๆ สามารถรับได้กับสิ่งที่ให้ไปก็น่าจะเป็นผลดี เพราะพวกเขากำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่น ถ้าได้คิดและได้เปลี่ยนแปลง สิ่งดีๆ ก็น่าจะเกิดขึ้นกับตัวเขาและคนรอบข้างด้วย”

ในฐานะที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อน ตี๋มีคำแนะนำสำหรับน้องๆ ที่กำลังจะก้าวพลาด ตี๋อยากให้ลองดูละครเรื่อง “เล็กกับใหญ่” (ละครตอนหนึ่งของละครจิตอาสา) ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในบ้านกาญจนาภิเษก เป็นเรื่องราวของเล็กที่ไปฆ่าพ่อของใหญ่ แล้วเล็กได้มาอยู่ในสถานพินิจแห่งหนึ่ง ใหญ่อยู่ข้างนอก แต่อยากแก้แค้นให้พ่อ พยายามทำผิดเพื่อให้เข้ามาอยู่ที่เดียวกับเล็ก ในขณะที่เล็กได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ ใหญ่ก็หาทางตามไปอยู่กับเล็ก มีวันหนึ่งช่วงปลอดคน เล็กเข้าไปคุยกับป้ามลเจ้าหน้าที่ที่สถานพินิจบ้านกาญจนาฯ เล็กบอกป้าว่า โจทย์เขาเข้ามาแล้วชื่อใหญ่ ป้ามลถามว่า เล็กเคยไปมีเรื่องกับใคร หรือเคยทำอะไรกับใครไหม เล็กบอกว่าเคยทำ และลูกของคนที่เขาเคยฆ่า กำลังตามมาแก้แค้น จากนั้นป้าเรียกเด็กเข้าคุยรวมกัน ก็มีเล็กและใหญ่รวมอยู่ในนั้นด้วย ป้ามลบอกกับเยาวชนกลุ่มนี้ว่า คนที่เคยทำผิด เป็นบุคคลที่ก้าวพลาด และคนที่เคยก้าวพลาด ใช้ได้กับเล็กและใหญ่ไหม ทำให้พวกเขาคิดได้ และไม่ถือโทษต่อกัน จากนั้นก็มีการจัดงานสันติวิธีขอขมากัน แล้วทุกคนก็หยุดอาการโกรธ เคียดแค้น ชิงชังลงได้

“ผมอยากให้เรื่องนี้เป็นตัวอย่างแก่คนอื่น ว่าทำไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เล็กบอกว่าขอให้เรื่องนี้เกิดกับคนเพียงคนเดียว และเอาตัวเขาเป็นสิ่งไม่ดี และนำไปสอนใจว่าทำไม่ดีและเกิดเกี่ยวพันไปถึงชีวิตและอิสรภาพของตัวเอง ตอนผมดูผมคิดว่าการให้อภัยเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าทำได้เป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจ”

สุดท้ายตี๋ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า เขารู้สึกมีตราบาปกับชีวิต แต่บางครั้งสังคมอาจไม่ต้อนรับ แต่เขาแค่อยากขอพื้นที่เล็กๆ ให้พวกเขาได้ยืนอยู่ในสังคมบ้าง เพราะสิ่งที่พวกเขาพยายามทำ แสดงให้เห็นว่า พวกเขาได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีแล้ว

เสียงสะท้อนจากสถานพินิจบ้านกรุณา

“ไม่บ่อยนักที่สถานพินิจบ้านกรุณาจะมีละครที่สอนเกี่ยวกับ การให้ การให้อภัย และความเมตตาต่อผู้อื่น ซึ่งถือว่าให้ประโยชน์กับจิตใจเด็กๆ เป็นอย่างมาก ซึ่งแตกต่างจากความบันเทิงที่ได้จากการชมดนตรี ที่ช่วยให้ความสุขในชั่วประเดี่ยวประด๋าว” สมชาติ ชุมสวี ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน สถานพินิจบ้านกรุณา สมุทรปราการ บอก พร้อมทั้งบอกต่อว่าส่วนใหญ่เยาวชนชายอายุ 17-18 ปี จำนวน 700 คน เคยกระทำผิดในเรื่องชิงทรัพย์และยาเสพติดจาก จ.นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี นครนายก และฉะเชิงเทรา พวกเขาเหล่านี้เป็นเด็กที่เคยก้าวพลาด แต่เมื่อเยาวชนกว่า 400 คนที่ได้เข้ามาชมละครในครั้งนี้ มีผลตอบกลับที่ดีมาก จากการเข้าชมละครเวลานานทั้งหมด 1 ชั่วโมงครึ่ง เด็กๆ นั่งฟังอย่างตั้งใจ

ผมคิดว่าการชมละครในครั้งนี้จะช่วยคลี่คลายปมที่อยู่ในจิตใจของพวกเขา เด็กๆ บางครั้งบอบช้ำจากปัญหาครอบครัว ที่ถูกกระทำ ความไม่สมบูรณ์ในครอบครัว ซึ่งล้วนเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กทำผิด หลงผิด แต่หากการชมละครได้เข้าไปช่วยเปลี่ยนแปลงความคิด ทัศนคติในเชิงลึกเข้าไปถึงก้นบึ้งนับว่ามีประโยชน์มาก ยิ่งเด็กได้เข้าไปมีส่วนร่วมในละคร ยิ่งทำให้เขารู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีด้วยตัวเอง ถ้าละครทำให้เด็กเข้าใจชีวิตเพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นในละครที่พูดเกี่ยวกับการให้ การเสียสละ ความเมตตาต่อผู้อื่น ถ้าทุกคนคิดได้อย่างนี้ปัญหาสังคมจะลดลงไปเยอะ สังคมก็จะน่าอยู่” ผอ.สมชาติ บอก

 
 
 
ที่มา-น.ส.พ.
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2008-03-03-4.html
เมื่อ 28 กรกฎาคม 2567 04:10
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv