ขอหมอฟัน แก้ไขด่วน ลบปมด้อย




ฟันเหลือง- สภาพฟันนักเรียนหนึ่งในหลายรายของโรงเรียนวัดทุ่งเศรษฐี อ.เมืองอุตรดิตถ์ เป็นคราบเหลืองกินถึงเนื้อฟัน สาธารณสุขจังหวัด ระบุเกิดจากน้ำบาดาลที่ใช้ดื่มกินมีสารฟลูออไรด์เกินมาตรฐาน ตามข่าว

ตะลึงพบหนูน้อยเกือบ60คนเป็นโรคฟันตกกระ หลังตรวจฟันเด็กในโรงเรียนที่จ.อุตรดิตถ์ พบสาเหตุมาจากบ่อน้ำบาดาลที่ขุดขึ้นมาใช้เมื่อ 10 กว่าปีก่อน พบสารฟลูออไรด์เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อฟันอย่างรุนแรง กินเนื้อฟันขาวจนเหลืองเป็นลายทางยาว บางรายเป็นคราบหนา ผญบ.วอนสสจ.ส่งทีมทันตแพทย์เร่งช่วยเหลือด่วน หวั่นเป็นปมด้อยกับเด็กเมื่อเรียนสูงขึ้น เพื่อนอาจจะล้อเลียนได้

เมื่อวันที่ 3 มี.ค. นายสมชาย รอดเกลี้ยง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดทุ่งเศรษฐี บ้านห้วยบง ต.ป่าเซ่า อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เปิดเผยว่า จากการสำรวจสุขภาพของเด็กนักเรียนเป็นที่น่าตกใจว่า ในจำนวนนักเรียนรวมทั้งหมด 63 คน พบว่าส่วนใหญ่ฟันของเด็กนักเรียนแตกต่างจากของผู้อื่น ฟันแต่ละซี่มีลักษณะเป็นจุดขาวขุ่น หรือสีเหลืองปนน้ำตาลในเนื้อฟัน ซึ่งเป็นลักษณะคล้ายกับผิวหนังตกกระ จึงนำเด็กไปพบทันตแพทย์ที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ทันตแพทย์ระบุว่า อาการดังกล่าวเป็นโรคฟันตกกระ สาเหตุเกิดจากฟลูออไรด์เป็นพิษ และสำรวจพบว่าฟันในปากของเด็กทุกคนเกือบ 80% เป็นโรคเดียวกันหมด โดยเฉพาะเด็กที่เริ่มมีฟันแท้ออกมาจะสังเกตเห็นได้ง่าย และพบมากในเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 4-6

"ครั้งแรกที่พบว่าฟันของเด็กนักเรียนตกกระก็รู้สึกตกใจมากว่า
ฟันของเด็กเป็นอะไร ทำไมจึงมีลักษณะที่แตกต่างจากคนอื่นทั่วไป ดูแล้วไม่สวยงาม เหมือนผิวหนังตกกระ ฟันบางซี่เป็นคราบลายสีน้ำตาลหนาเป็นทางยาว บางซี่เป็นคราบลายสีน้ำตาลบางแต่เป็นทางยาว ที่หนักที่สุดฟันบางซี่สึกผุกร่อนหรือแตกออกจากกัน รู้สึกสงสารเด็กมาก ไม่รู้จะหาหนทางช่วยเหลืออย่างไร"

ด.ช.กษิดิ์เดช ขำทับทิม นักเรียนชั้นป.5 กล่าวว่า อยากมีฟันสวยงามเหมือนกับคนอื่น และอยากให้หมอมาช่วยรักษาให้ที่โรงเรียน เพราะเพื่อนหลายคนเป็นเหมือนกัน เมื่อเรียนจบแล้วไปเรียนต่อที่อื่นอาจจะถูกเพื่อนล้อเลียน อยากให้โรคฟันตกกระหายไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุที่ฟันของเด็กนักเรียนตกกระ
เกิดจากการดื่มน้ำในบ่อน้ำบาดาลในหมู่บ้านด้านทิศใต้ ใกล้กับโรงเรียน บ่อน้ำแห่งนี้ขุดขึ้นมาใช้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2538 ชาวบ้านนำน้ำมาใช้ดื่มเป็นประจำทุกวัน และเมื่อพบว่ามีฟลูออไรด์เกินมาตรฐานก็ถูกปิดในปีพ.ศ.2550 และมีการขุดเจาะบ่อบาดาลขึ้นมาใช้ใหม่ แต่บ่อมีความตื้นเขิน อยู่ใกล้คอกวัว ชาวบ้านเกรงว่าจะเกิดโรคระบาด

นายจินดา มาฮวด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 กล่าวว่า โรคฟันตกกระพบมากที่สุดในหมู่บ้านแห่งนี้ เกิดจากการดื่มน้ำที่มีฟลูออไรด์เป็นพิษ และบ่อน้ำเจ้าปัญหานี้ถูกปิดลงไปแล้ว แต่ฟันที่ตกกระของเด็กนักเรียนยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ปัญหาที่เกิดขึ้นอยากให้ทางจังหวัดส่งทีมงานทันตแพทย์ลงมาดูแล
และรักษาโรคฟันให้กับเด็กภายในหมู่บ้านทุกคนด้วย เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพราะไม่อยากให้ฟันของเด็กเป็นแบบนี้ตลอดไปจนชั่วชีวิต ไม่อยากให้เด็กเป็นปมด้อยไปจนโต จะถูกล้อเลียน การเข้าทำงานก็จะลำบากเพราะฟันไม่สวย

"ในเรื่องของการรักษาเชื่อว่าบางคนที่เป็นรุนแรง การรักษาคงจะลำบากพอควร เพราะกินถึงเนื้อในของฟันแล้ว อยากร้องขอความเมตตาจากผู้ใหญ่ในจังหวัด ให้ช่วยส่งทันตแพทย์มาตรวจดูและรักษาฟันให้กับเด็กทุกคนในหมู่บ้านด้วย เพราะถ้าจะให้เด็กไปรักษาที่คลินิกก็คงจะสู้ราคาแพงไม่ไหว" นายจินดากล่าว

ด้านนายสืบศักดิ์ เจริญเกษมวิทย์ หัวหน้างานทันตสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับโรคฟันตกกระที่เกิดขึ้นมานั้น สาเหตุเมื่อประมาณ 12 ปีที่ผ่านมา องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จัดงบพัฒนาหมู่บ้านขุดแหล่งน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ และนำน้ำนั้นมาใช้แทนระบบน้ำหน้าดินที่มีอยู่ 2 แห่ง เป็นบ้านเหนือและบ้านใต้ เมื่อมีการจัดทำแหล่งน้ำขึ้นมาใหม่ ด้านการตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มไม่มีการบรรจุตัวเลขฟลูออไรด์เอาไว้ และมีการจ่ายน้ำให้เด็กได้ดื่มกินกันในช่วงที่ผ่านมา
โดยไม่ทราบว่าปริมาณฟลูออไรด์มากเกินไป แต่จะมารู้เอาอีกทีตอนที่มีอาการปรากฏอยู่ในช่องปากของเด็กและกินเข้าไปถึงเนื้อฟันแล้ว

นายสืบศักดิ์กล่าวว่า ปัญหาฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำที่ตรวจพบในพื้นที่หมู่บ้านห้วยบง ต.ป่าเซ่านั้น พบว่ามีปริมาณฟลูออไรด์ที่เกินค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก คือ อยู่ที่ 4.14 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามที่มีการกำหนดเอาไว้เพียง 4.00 มิลลิกรัมต่อลิตร โรคที่พบจึงถือว่าเข้าข่ายรุนแรง ในระดับขั้นต้นของเด็ก จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย ในช่องปากจะพบเห็นฟันตกกระได้ทันที ปริมาณฟลูออไรด์ที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสติปัญญาด้านการพัฒนาการทางสมองที่ช้ากว่าเด็กปกติ เบื้องต้นได้แจ้งให้กระทรวงสาธารณสุข และสาธารณสุขจังหวัดทราบแล้ว พร้อมเตรียมประสานงานกับศูนย์โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ ให้จัดส่งคณะทีมงานทันตกรรมเข้าไปดูแลและรักษาฟันให้กับเด็กนักเรียนในหมู่บ้าน 75% ที่มีการตรวจพบและกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนวัดทุ่งเศรษฐีและโรงเรียนทุ่งกะโล่วิทยา
ด้วยการอุดปิดหน้าฟัน หรือทำการครอบฟันให้เด็กใหม่ด้วย
 
 
 
 
ที่มา- 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2008-03-04-1.html
เมื่อ 28 กรกฎาคม 2567 04:08
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv