มูลนิธิเพื่อนหญิง สนับสนุนโดยสำนักงาน
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดสัมมนา "การสรุปบทเรียนแผนพัฒนาเครือข่ายเลิกเหล้า : ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก" ของเครือข่ายการทำงานใน 8 พื้นที่ อาทิ เครือข่ายชุมชนจังหวัดชุมพร เชียงใหม่ อำนาจเจริญ สมุทรปราการและสุรินทร์ และเครือข่ายแรงงานจังหวัดนนทบุรี ลำพูน สมุทรสาครและนครปฐม ที่ห้องประชุมนนทรี เคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

นายสุจิตต์ ไตรพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า "การดื่มเหล้าเป็นตัวนำความวิบัติมาสู่ชีวิตของตนเองและครอบครัว ร้อยละ 90 ที่ฝ่ายชายกระทำความรุนแรงกับสตรีและเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการข่มขืน การทำร้ายร่างกาย การลักขโมย การทุบตีภรรยา สิ่งต่างๆ เหล่านี้มีสาเหตุเนื่องจากการดื่มเหล้าทั้งสิ้น"

นายพรณรง ปั้นทอง อดีตนักดื่มตัวยงที่ผันตัวมาเป็นแกนนำหมู่บ้าน โครงการตำบลอยู่ดีมีสุข ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า การทำงานกับชุมชนต้องทำงานด้านความคิด และเป็นความท้าทายมากที่อยู่ดีๆ จะให้คนเลิกเหล้า มีแต่คนจะเอาไม้มาตีหัว แต่ถ้าทำจริงตนยังสำมะเลเทเมา เดินเป๋ไปพูดคุยกับใครคงไม่มีคนเชื่อถือ จึงปฏิวัติตัวเองใหม่เลิกเหล้าแบบหักดิบและเริ่มงานเชิงความคิดกับผู้นำใน 13 หมู่บ้าน

การจัดประชุมพูดคุยถึงความรุนแรงและผลกระทบการดื่มเหล้า
เพื่อหาแนวร่วมและตั้งกลุ่มผู้ชายเลิกเหล้าขึ้น และเมื่อถึงเทศกาลงานบุญ การดื่มเหล้าเฉลิมฉลองเป็นที่นิยมกันมาก เพื่อแก้ปัญหาจึงจัดเวที "หมู่บ้านคำกลางพบเพื่อน...ร่วมสร้างหมู่บ้านอยู่ดีมีสุข" ขึ้นใน 13 หมู่บ้าน เพื่อรักษาไข่แดงและขยายผลการทำงานสู่ไข่ขาว ซึ่งหมายถึงการรักษาพื้นที่ของคนไม่ดื่มเหล้าและขยายไปยังหมู่บ้านรอบข้าง
เพื่อให้คนดื่มเหล้าหมดไปในหมู่บ้าน



จากการทำงานของเหล่าแกนนำและยุทธศาสตร์หลักการทำงานลด ละ เลิกเหล้า ลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชน อาทิ เกิดกระแสการจัดงานเลี้ยงไม่มีเหล้า เช่น งานศพ งานแต่งงาน งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ ชาวบ้านเฝ้าระวังปัญหา ความรุนแรงและอบายมุข ผู้ใหญ่บ้านจำนวน 12 หมู่บ้านเลิกเหล้าได้และสามารถเป็นต้นแบบให้กับลูกบ้าน และชาวบ้านในหมู่บ้านคำกลางเลิกเหล้าได้ร้อยละ 90 วัด โรงเรียน และสถานที่ราชการเป็นสถานที่ปลอดเหล้า

ด้าน นางประทุมพร ทองภูเบศร์ ผู้ประสานงานศูนย์เครือข่ายชุมชนพิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี จังหวัดชุมพร กล่าวถึงการดำเนินงานใน 5 พื้นที่เป้าหมาย ในอำเภอปะทิว อำเภอท่าแซะ อำเภอพะโต๊ะ รวมถึงชุมชนท่ายางและชุมชนเกาะแก้ว อำเภอเมืองว่า แผนงานที่โดดเด่นและประสบความสำเร็จคือโครงการสภาข้าวต้มโจ๊ก งดเหล้าหยอดกระปุกของชุมชนท่ายาง ทำให้ผู้ชายเลิกเหล้าเพิ่มขึ้น ในวงสนทนาชี้ให้เห็นว่าการดื่มเหล้าทำให้เสียสุขภาพและเกิดโรคกว่า 60 โรค และผลจากการพูดคุยทำให้เกิดการชักชวนงดเหล้า และหยอดกระปุกทำให้เพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง ถัดมาเป็นโครงการสภากาแฟของอำเภอพะโต๊ะ ให้ผู้ที่ดื่มเหล้าหันกลับมาดื่มกาแฟแทน โดยจัดทั้งที่บ้านของผู้ชายเลิกเหล้าและสถานที่ราชการ ส่วนในวงสนทนาจะพูดถึงผลกระทบต่อร่างกาย ครอบครัวและสังคม ตลอดจนความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก รวมถึงเรื่องพืชผลทางการเกษตร 
 
 

นางอรุณี ศรีโต แกนนำผู้รับผิดชอบโครงการชุมชนอุตสาหกรรมไทยเกรียง เลิกเหล้า ไร้ความรุนแรง จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า
3 ปีก่อนเริ่มทำงานไม่รู้ว่าจะเริ่มโครงการอย่างไร มันไม่ใช่เรื่องหมูๆ เดิมทีมีแต่เรื่องร้องทุกข์ ทั้งปัญหาแรงงาน ปัญหาครอบครัว จึงเริ่มต้นจากผู้หญิง คนใกล้ตัว จากครอบครัวที่รู้จัก พบปะพูดคุยเรื่องสุขภาพอนามัย เรื่องอาชีพ บางครอบครัวไม่รู้จักก็อาศัยความเชื่อมโยง การประชุม มีการพาไปเยี่ยมบ้านต่างๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคย ปีถัดมาเมื่อมีคนเลิกเหล้าได้แล้ว ทางทีมงานจึงจัดตั้งกลุ่มแกนนำผู้ชายเลิกเหล้าให้กลายเป็นผู้ชายต้นแบบ เลิกเหล้า ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก เพื่อให้ผู้ชายต้นแบบเหล่านั้นไปพูดคุยกับผู้ชายที่ยังดื่มอยู่ จะเข้าใจกันมากกว่าที่ให้ผู้หญิงที่เป็นแกนนำเข้าไป อีกทั้งยังรับรู้ปัญหาได้ง่ายและตรงจุดขึ้น การแก้ไขปัญหาไม่ควรแก้ไขที่กลุ่มผู้ชายหรือผู้หญิงแต่เพียงอย่างเดียว ควรจะแก้ไขทั้งครอบครัวให้ร่วมมือร่วมใจกัน จนเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมค่ายครอบครัวอบอุ่น

นางประนอม เชียงอั๋ง จากสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอ (วาไทย) กล่าวว่า ยุทธศาสตร์สำคัญในการทำงานคือมุ่งเน้นให้บริษัทเข้ามามีส่วนร่วม
พร้อมชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่างๆ เช่น เมื่อดื่มเหล้าก็จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ทรุดโทรม ทำงานได้ไม่เต็มที่ ขาดกำลังการผลิต หยุดบ้าง ลาป่วยบ้าง ผลที่ตามมาคือผลผลิตล่าช้า ไม่ตรงตามเวลา และไม่ได้คุณภาพ เป็นผลเสียทั้งต่อบริษัทและตัวพนักงาน และนำเรื่องแรงงานสัมพันธ์เข้ามาใช้ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นโดยไม่มีเหล้าเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ปัญหาที่พบคือเรื่องของเวลา เพราะพวกเรายังเป็นลูกจ้างที่ต้องทำงานซึ่งเวลาไม่ตรงกัน นอกจากนี้คนงานยังไม่กล้าเปิดใจเล่าถึงสาเหตุปัญหา
เพราะคิดว่าเป็นเรื่องภายในไม่ควรให้คนภายนอกรับรู้

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า สิ่งที่มองไปในอนาคตคือชุมชนแต่ละแห่งอยากให้เป็นตัวอย่างเครือข่ายหรือองค์กรที่เข้มแข็ง
และทำงานที่ต่อสู้เรื่องหญิงและเด็กด้วยตัวเขาเองได้ และเป็นองค์กรที่สร้างวัฒนธรรมใหม่เห็นว่าเหล้ากับความรุนแรงเป็นปัญหา เพราะลำพังมูลนิธิเพื่อนหญิงคนน้อย เราควรให้ความคิดนี้ต่อไปยังภาคประชาชนเพื่อต่อสู้ต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญก่อให้เกิดกระบวนการปกป้องสิทธิและปัญหาเรื่องผู้หญิงและเด็ก เรื่องเหล้ากับความรุนแรง ส่วนความเป็นไปได้มีอยู่
9 จังหวัดและมีจังหวัดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นคือ กรุงเทพฯ และจังหวัดที่เข้มแข็งมีอยู่ 5-6 จังหวัดที่พัฒนาในเรื่ององค์กรต้นแบบได้คือ ชุมพร เชียงใหม่ อำนาจเจริญ สุรินทร์ สมุทรปราการ ในอนาคตมีที่ลำพูนซึ่งเป็นสหภาพที่เข้มแข็งก็พัฒนาได้ แต่ยังมีบางพื้นที่ต้องช่วยให้เขาค่อยๆ เติบโตเป็นขั้นเป็นตอน
 
 
 
ที่มา- 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2008-03-05-1.html
เมื่อ 28 กรกฎาคม 2567 04:14
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv