ไซน์เดลี - อย่าโทษหรือตำหนิตัวเองที่เผลอใจตรงรี่ไปยังร้านขนมปัง
หรือโดนัททันที ที่กราดสายตาไปเจอแป้งอบ ของหวานๆ ล่อตาอยู่ตรงหน้า งานวิจัยเผยทั้งหมดเป็นผลมาจากการทำงานของสมอง ที่แม้แต่หัวใจก็สั่งห้ามไม่ไหว
       
       งานวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไฟน์เบิร์ก มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (Northwestern University's Feinberg School of Medicine) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ "ซีรีบรัล คอร์เท็กซ์" (Cerebral Cortex) เปิดเผยกลไกของความหิวในสมอง และวิธีที่เซลล์ประสาทกระตุ้นให้เราปราดเข้าหาอาหาร
ประเภทแป้งและของหวานอย่างไม่ทันยั้งคิด        
       ตัวผลักดันสำคัญในการค้นหาคำตอบของนักวิจัยสหรัฐฯ ทีมนี้หนีไม่พ้น "คริสปีครีม" (Krispy Kreme) โดนัทอันแสนอร่อยเลื่องชื่อของอเมริกันชน (เสียดายที่ไม่มีสาขาในประเทศไทย) ที่กระตุ้นความอยากกินของผู้คนเสมอ รวมทั้งตัวนักวิจัยเอง
       
       พวกเขาแบ่งการทดลองเป็น 2 ครั้ง ครั้งแรกให้อาสาสมัครที่กินโดนัทของคริสปีครีมมากกว่า 8 ชิ้น มากินโดนัทต่อจนไม่สามารถจะกินได้อีก และอีกวันให้งดอาหาร 8 ชั่วโมง จากนั้นจึงนำกลุ่มตัวอย่างเข้าเครื่องสแกนการทำงานของสมอง (fMRI) โดยขณะสแกนอาสาสมัครจะได้ชมภาพชุดภาพของโดนัทและไขควง ส่วนนักวิจัยก็ดูการทำงานของระบบประสาทในสมองแบบเวลาจริง (เรียลไทม์)
       
       ผลการทดลองพบว่า หลังจากที่พวกเขากินโดนัทจนพุงกาง สมองของเหล่าอาสาสมัครไม่สนใจภาพโดนัทเท่าใดนัก ทว่าเมื่อแสดงรูปชุดเดิมอีกครั้งหลังจากอดอาหารนาน 8 ชั่วโมง กลับพบว่ามีปฏิกิริยาตอบสนองในทันทีที่สมอง 2 แห่ง จนดูคล้ายกับการจุดดอกไม้ไฟ
       
       ส่วนแรกคือ "สมองส่วนลิมบิก" (limbic brain) ซึ่งพบได้ในสัตว์ทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์ โดยสมองส่วนนี้เป็นส่วนที่ลึกที่สุด คอยควบคุมอารมณ์ ความจำ ความประพฤติ ความอิ่มทางกายและทางเพศ
       
       "สมองส่วนนี้สามารถตรวจจับสิ่งกระตุ้นที่มีนัยสำคัญได้ มันไม่ได้บอกเพียงว่าหิว แต่ยังบอกด้วยว่ามีอาหารอยู่ที่นี่" มาร์เซล มีซูลาม (Marsel Mesulam) ศาสตราจารย์พิเศษด้านจิตเวชศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไฟน์เบิร์ก และประสาทแพทย์จากโรงพยาบาลนอร์ธเวสเทิร์น เมโมเรียล ผู้เขียนรายงานอาวุโสกล่าว
       
       ส่วนสมองอีกส่วนคือ เครือข่ายสมองที่เกี่ยวข้องกับความสนใจ ที่จะยกระดับความหิวไปสู่สิ่งที่ต้องการตัวใหม่ ซึ่งตามการทดลองคือโดนัทของคริสปีครีม
       
       "ถ้าเราไม่มีสมองส่วนนี้ ทุกครั้งที่เราเดินผ่านร้านเบเกอรี เราจะไม่สามารถควบคุมการกินได้ เพราะถ้าเซลล์ประสาทของคุณตอบสนองทุกครั้งที่คุณได้รับกลิ่นของสิ่งที่กินได้ จะทำให้คุณต้องกินตลอดเวลา ไม่เฉพาะแต่เวลาหิวเท่านั้น" มีซูลามอธิบายเพิ่มเติม
       
       "ในสมองมีระบบที่ซับซ้อนมาก ที่นำพาความสนใจของเราไปสู่สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความต้องการของเรา ยกตัวอย่างเช่นอาหาร ที่เป็นจุดสนใจเมื่อยามเราหิว แต่ไม่ใช่ตอนที่เราอิ่ม" อะพราจิตา โมฮานตี (Aprajita Mohanty)หัวหน้าทีมวิจัยและนักศึกษาหลังปริญญาเอก
ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไฟน์เบิร์กกล่าว
       
       นอกจากนั้น มีซูลามยังบันทึกผลการวิจัยถึงวิธีที่สมองจะตัดสินใจว่า
ควรให้ความสนใจกับสิ่งไหนในโลก ที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้ามากมายด้วยว่า หากคุณได้ยินเสียงคนเหยียบใบไม้ดังกรอบแกรบในป่า บริบทแวดล้อมจะกระตุ้นให้คุณพุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่นั่น เพราะอาจเป็นสัญญาณของอันตรายได้ แต่เมื่อคุณอยู่ในสำนักงาน เสียงแบบเดียวกันจะมีความสำคัญน้อยลง แสดงให้เห็นว่าภารกิจหลักของสมองจะมีปฏิสัมพันธ์กับบริบท
       
       "ผมรู้แล้วว่าทำไมถึงห้ามใจไม่ให้ เดินเข้าไปที่ร้านเบเกอรีไม่ได้ เมื่อผมได้กลิ่นขนมปังสโคนที่เพิ่งทำเสร็จหมาดๆ" มีซูลามติดตลก ซึ่งผลการทดลองครั้งนี้ก็ทำให้เขาเข้าใจพฤติกรรมของตัวเอง
ที่ทนต่อสิ่งเร้าอันแสนหอมหวานนี้ไม่ได้.
 
 
 
ที่มา-
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2008-03-12-1.html
เมื่อ 27 กรกฎาคม 2567 23:02
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv