บีบีซีนิวส์ – พบยีนมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อความสุขในชีวิต นักวิจัยสก็อตต์ชี้พันธุกรรมอาจควบคุมบุคลิกภาพครึ่งหนึ่งที่ทำให้คนเรามีความสุข ส่วนอีกครึ่งเป็นผลจากไลฟ์สไตล์ หน้าที่การงาน และความสัมพันธ์
       
        นักจิตวิทยาได้พัฒนาวิธีการประเมินประเภทของบุคลิกภาพ และระดับความสุข โดยในการศึกษาของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก สก็อตแลนด์ และสถาบันการวิจัยทางการแพทย์ในควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย ได้มีการศึกษาและติดตามผลฝาแฝด 900 คู่
       
        แนวคิดในการศึกษาจากคู่ฝาแฝดคือ เนื่องจากฝาแฝดคู่เหมือนที่เกิดจากไข่ใบเดียวกันจะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกัน ขณะที่ฝาแฝดที่ปฏิสนธิจากไข่มากกว่า 1 ใบไม่ได้เป็นแบบนั้น ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเปรียบเทียบผลลัพธ์จากสองกลุ่มนี้ เพื่อนำมาคำนวณหาอิทธิพลของพันธุกรรมที่มีต่อความสุข
       
        ในกรณีนี้ นักวิจัยศึกษากลุ่มคนที่แนวโน้มเป็นคนสบายๆ ไร้กังวล ชอบสังสรรค์ และรอบคอบ โดยบุคลิกทั้งสามแบบนี้ถูกงานวิจัยของสถาบันอื่นนำไปเชื่อมโยงกับความสุข
หรือภาวะที่เป็นสุข
       
       ความแตกต่างระหว่างผลลัพธ์ที่ได้จากแฝดเหมือนและแฝดที่เกิดจากไข่คนละใบ
บ่งชี้ว่า บุคลิกลักษณะเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยทางพันธุกรรมถึง 50%
       
        ดร.อเล็กซานเดอร์ เวส จากสาขาปรัชญา จิตวิทยาและภาษาศาสตร์ สำทับว่าการแสวงหาความสุขเป็นความปรารถนาที่แท้จริงของมนุษย์ เช่นเดียวกับชีวิตและเสรีภาพ
       
        “แม้ความสุขเกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกมากมาย แต่เราพบองค์ประกอบของความสุขที่ถ่ายทอดมาทางสายเลือด ซึ่งสามารถอธิบายได้โดยโครงสร้างพันธุกรรมของบุคลิกภาพ”
       
        ปัจจุบัน ศาสตร์ความสุขกำลังเป็นที่สนใจมากขึ้น ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างต้องการรู้ลึกเกี่ยวกับภาวะที่เป็นสุขด้านอารมณ์
       
        ตัวอย่างเช่น เซนเตอร์ ฟอร์ แอปพลายด์ โพสิทีฟ ไซโคโลจีได้ส่งเสริมการวิจัยหาเทคนิคในการกระตุ้นความรู้สึกรื่นรมย์
       
        ดร.อเล็กซ์ ลินลีย์ จากศูนย์ฯ ดังกล่าว ให้ทัศนะว่าแม้การศึกษามากมายสนับสนุนประเด็นด้านพันธุกรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าธรรมชาติตั้งโปรแกรมความสุขให้แต่ละคนมาตั้งแต่ปฏิสนธิ
       
        “หมายความว่าแทนที่จะมุ่งที่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่เราต่างมีระดับความเป็นไปได้ของความสุขที่แตกต่างหลากหลาย และเป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะใช้เทคนิคบางอย่างเพื่อส่งเสริมภาวะที่เป็นสุข ซึ่งจากการทดลองพิสูจน์แล้วว่าได้ผล
       
        “การกระทำง่ายๆ บางอย่าง เช่น ตรึกตรองว่าเรามีจุดแข็งอะไรบ้างและนำมาใช้ในแนวทางใหม่ๆ ทุกวัน หรือบันทึกสิ่งที่ทำให้คุณเป็นสุขคืนละสามอย่าง เท่านี้ก็ทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นกับชีวิตแล้ว
 
 
 
ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2008-03-15-2.html
เมื่อ 27 กรกฎาคม 2567 23:09
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv