มหาวิทยาลัยศรีปทุมลุยหลักสูตรดิจิตอลมีเดีย (School of Digital Media) แบบครบวงจร พร้อมสร้างห้องตัดต่อที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หวังพัฒนานักแอนิเมชัน และนักพัฒนาเกมมืออาชีพป้อนตลาด ด้วยงบประมาณกว่า 80 ล้านบาท
       
       ดร.สุชาย ธนวเสถียร คณบดีคณะดิจิตอลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุมเปิดเผยว่า "เราต้องการเป็นอันดับหนึ่งในวงการดิจิตอลมีเดีย ซึ่งการจะไปให้ถึงในจุดนั้น เราจำเป็นต้องมีคณาจารย์ที่เก่ง ในข้อนี้ อาจารย์ประจำของเราทุกท่านต่างสำเร็จการศึกษาด้านดิจิตอลมีเดียจากต่างประเทศ   นอกจากนั้นยังมีบุคคลในแวดวงอุตสาหกรรมแอนิเมชันของประเทศไทยเข้าร่วมด้วยมากมายหลายท่าน และอีกกลุ่มหนึ่งก็คืออาจารย์จากต่างประเทศ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ"
       
       ดร.กมล จิราพงษ์ รองคณบดีคณะดิจิตอลมีเดียและหัวหน้าสาขาดิจิตอลอาร์ทส์ กล่าวเสริมว่า "คณะดิจิตอลมีเดียของเราแบ่งออกเป็น 2 สาขาคือ
สาขาดิจิตอลอาร์ทส์ และสาขาแอนิเมชันและเกม ซึ่งมีความโดดเด่นกันคนละด้าน ดิจิตอลอาร์ทส์จะเน้นเรื่องการออกแบบสร้างสรรค์ให้ภาพออกมาสวยสมจริง ทั้งแบบสองมิติ - สามมิติ, ภาพเคลื่อนไหว - ไม่เคลื่อนไหว, ภาพบนอินเทอร์เน็ต - ภาพบนสื่อแบบ offline
ขณะที่แอนิเมชันและเกมจะเน้นที่การสร้างโปรแกรม เมื่อมีโครงการต่าง ๆ  นักศึกษาทั้งสองสาขาจะร่วมผลิตชิ้นงานด้วยกัน จุดเด่นของการเรียนการสอนคณะดิจิตอลมีเดียคือการได้เรียนรู้ครบกระบวนการทำงานจริงของอุตสาหกรรมดิจิตอลคอนเทนต์ และการทำงานเป็นทีม"
       

       จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ชี้ว่า ปัจจุบัน ตลาดแอนิเมชันมีมูลค่าสูงถึง 2,500 ล้านบาท ส่วนเกมอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท และยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ทั้งนี้ จะพบว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมดิจิตอลแอนิเมชันมีการใช้งานเพิ่มสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์โฆษณา เกมคอมพิวเตอร์ ทั้งออฟไลน์และ
ออนไลน์        
       ทั้งนี้ เพื่อตอบรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน ปริญญาบัตรของคณะดิจิตอลมีเดียทั้งสองสาขาจึงมีความแตกต่างกัน โดยสาขาดิจิตอลอาร์ทส์ จะเป็นปริญญาตรีด้านศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต      ส่วนสาขาแอนิเมชันและเกมจะเป็นปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตรบัณฑิต
       
       แพน - พงศ์ชรัตน์ อุดมเดชา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะดิจิตอลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุมเปิดเผยว่า           ตั้งใจเข้ามาเรียนเพราะสนใจงานด้านแอนิเมชัน ซึ่งในปี 1 จะเริ่มตั้งแต่เรียนวาดรูป ดรออิ้ง สีน้ำ เขียนแบบ พอปีสองเริ่มวาดการ์ตูน 2 มิติ ทำแฟลช ใช้โปรแกรมต่าง ๆ เช่น อาฟเตอร์เอฟเฟ็กต์ โฟโต้ช้อบ, illustrator ซึ่งก่อนจบจะต้องผลิตชิ้นงานแอนิเมชัน 1 ชิ้น และเมื่อเรียนจบไปก็อยากทำงานด้านนักออกแบบแอนิเมชันครับ "
       
       สำหรับห้องแล็ปของทางคณะนั้น ทางคณบดีได้แจ้งว่า เตรียมพื้นที่เก็บข้อมูลไว้มากถึง 20 เทราไบต์ พร้อมระบบแบ็คอัพ ซึ่งห้องแล็ปดังกล่าวจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอชจากค่ายแอปเปิ้ล และเครื่องคอมพิวเตอร์พีซี          พร้อมโปรแกรมด้านแอนิเมชันแบบลิขสิทธิ์ให้ใช้งาน และไม่มีการแชร์พื้นที่กับทางคณะอื่น ๆ แต่อย่างใด และทางมหาวิทยาลัยจะเปิดให้มีการรับงานจากภายนอกเข้ามาให้นักศึกษาได้ทำ อย่างเป็นระบบด้วย
       
       "ปกติตอนนี้เด็ก ๆ เขาก็รับจ็อบพิเศษทำกัน แต่มันไม่เป็นระบบ เราก็อยากทำให้เป็นระบบ มีศูนย์รับงานโดยเฉพาะ และเด็กจะได้เรียนรู้กระบวนการทำงานที่แท้จริง เมื่อจบไปจะได้เข้าใจกระบวนการของอุตสาหกรรมแอนิเมชัน และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ดร.สุชายกล่าวทิ้งท้าย




ที่มา-
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//2008-04-06-2.html
เมื่อ 28 กรกฎาคม 2567 01:30
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv