ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 54


        จากตอนที่แล้ว   พระเจ้าวิเทหราชได้สดับคำกราบทูลรับรองว่า ที่พระนางอุทุมพรเทวีตรัสนั้นเป็นความจริงทุกประการ ก็ทรงเชื่อเพราะได้ประจักษ์ในปัญญาของมโหสถมาตามลำดับ  ทำให้ความพิโรธของท้าวเธอดับสนิทลง เกิดพระมหากรุณาธิคุณต่อพระนางมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า

        ฝ่ายพระนางอุทุมพรเทวีทรงปรารถนาจะแทนคุณของมโหสถบัณฑิตให้สมกับที่ได้ช่วยชีวิตพระนางไว้ จึงได้กราบทูลขอพรพระราชสวามี ๒  ข้อ คือขอแต่งตั้งมโหสถบัณฑิตไว้ในฐานะน้องชายของพระนาง และขอให้พระนางสามารถส่งข้าวของไปให้มโหสถได้ตามต้องการ

        เหตุการณ์ในครั้งนั้น พระเจ้าวิเทหราชก็ไม่ทรงมั่นใจในปรีชาญาณของอาจารย์เสนกะอีก ทรงดำริที่จะทดสอบปัญญาของบัณฑิตทั้ง ๕ ว่า ถ้าหากผู้ใดโง่เขลาเบาปัญญาก็จะขับออกจากพระราชวังไปเสียเลย

        วันหนึ่งท้าวเธอเสวยกระยาหารเช้าแล้ว ขณะที่ประทับยืนทอดพระเนตรออกมาทางช่องพระแกล ก็ทรงแลเห็นแพะกับสุนัขยืนแนบชิดกัน ดูท่าทางสนิทสนมกัน ดุจมิตรที่รักใคร่กันมาช้านาน
 

        ท้าวเธอทรงกระหยิ่มในพระทัยว่า “เหตุการณ์ที่เรายังไม่เคยเห็น เราก็ได้เห็นแล้วในวันนี้ ดีละ เราจักนำเงื่อนนี้ผูกเป็นปริศนาไปถามราชบัณฑิตทั้งหลาย คราวนี้ก็จักได้รู้ทั่วกันว่า ใครเป็นผู้ฉลาด ใครเป็นผู้ขลาดเขลากว่ากัน” 

        ครั้นรุ่งขึ้น เมื่อเหล่าราชบัณฑิตพากันมาเข้าเฝ้า ณ ท้องพระโรงตามปกติ พระเจ้าวิเทหราชจึงทรงมีพระราชดำรัสกับเหล่าบัณฑิตของพระองค์    คือ ท่านอาจารย์เสนกะ อาจารย์ปุกกุสะ อาจารย์กามินทะ อาจารย์เทวินทะ และมโหสถบัณฑิต ซึ่งเป็นที่โปรดปรานพระราชหฤทัยของทั้งสองพระองค์ และใกล้ชิดสนิทสนมเป็นอย่างยิ่ง “วันนี้เรามีปัญหาสำคัญข้อหนึ่ง จักขอถามท่านทั้งหลาย” ท้าวเธอตรัสนำก่อนเข้าสู่ปัญหา

        ท่านอาจารย์เสนกะเป็นตัวแทนกราบทูลรับสนองว่า “ขอเดชะ ข้าแต่พระจอมประชากร ข้าพระพุทธเจ้าทั้งมวลพร้อมอยู่แล้วที่จะสนองงาน เต็มกำลังสติปัญญาของตน พระพุทธเจ้าข้า”

        ราชบัณฑิตทั้งหลายน้อมเกล้ารับพระกระแสรับสั่งนั้น แล้วต่างก็เฝ้ารอฟังอยู่ว่า ปัญหาสำคัญที่ว่านั้นคืออะไร

         “ดีแล้วท่านอาจารย์ ถ้าเช่นนั้น ท่านทั้งหลายจงฟัง” ครั้นแล้วก็ทรงยกเอาปัญหานั้นขึ้นตรัสถามด้วยพระสุรเสียงก้องกังวาน 
 
        “ท่านทั้งหลาย ก็สัตว์เดียรัจฉานผู้เป็นศัตรูคู่ปรปักษ์กัน ไม่เคยเดินร่วมทางกันเลยแม้เพียง 7 ก้าว แม้เพียงเห็นหน้ากันก็ต้องวิวาทกันเสมอ แต่บัดนี้ เหตุอัศจรรย์ที่ไม่เคยมีก็ปรากฏขึ้นแล้ว คือสัตว์ทั้งสองกลับมาเป็นมิตรสหายกันได้ ต่างไว้วางใจกันและกัน และยังเที่ยวไปด้วยกัน นี้เป็นเพราะเหตุไร?”

        ครั้นท้าวเธอตรัสปริศนานั้นจบลงแล้ว ก็ทรงสำทับอีกด้วยว่า “หากพวกท่านไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ภายในวันนี้ เราจักขับพวกท่านไปเสียจากแว่นแคว้นของเรา เพราะเราไม่ต้องการราชบัณฑิตที่มีปัญญาทราม”

        ขณะที่ท่านอาจารย์เสนกะรับฟังปัญหานั้นแล้ว ก็ให้มืดมัวยิ่งนักเหมือนถูกจับใส่ห้องมืด ขณะเดียวกันก็สังเกตเห็นพระราชายังทรงมีพระหฤทัยชื่นบาน พระพักตร์ผุดผ่อง ซ้ำแววพระเนตรก็ยังฉายแจ่ม

        เพียงแต่พระสุรเสียงเท่านั้น ที่ขึงขังหนักแน่น เหมือนจะคาดคั้นเอาคำตอบให้ได้ในทันที จึงไม่แน่ใจนักว่า พระดำรัสที่ทรงสำทับในภายหลังนั้น ท้าวเธอทรงตรัสจริงจังสักแค่ไหน  จึงทูลถามว่า “ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท หากข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่อาจแก้ปัญหานี้ได้ พระองค์จะทรงขับไล่ข้าพระบาทออกจากแว่นแคว้นจริงๆหรือ พระพุทธเจ้าข้า”

        ท้าวเธอจึงตรัสว่า “จริงซิท่านอาจารย์ เราเป็นกษัตริย์ตรัสแล้ว ที่ไหนจะลืมคำของตนได้เล่า”

        ส่วนอาจารย์ปุกกุสะ อาจารย์กามินทะ และอาจารย์เทวินทะนั้น ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึง เพราะเข้าทำนองที่โบราณว่า “มืดไปแปดด้าน” เพราะเพียงแค่ได้ฟังข้อปัญหา ก็ยังขบปัญหาไม่แตก จำต้องใช้เวลาคลี่คลายม่านหมอกที่ปกคลุมปัญหานั้นอีกหลายชั้นนัก 

        ฝ่ายมโหสถเริ่มใคร่ครวญพระราชปุจฉานั้น ลองพิจารณาทุกแง่ทุกมุมแล้ว ก็ยังไม่เห็นเนื้อความแห่งคำตอบ จึงหวนคิดขึ้นว่า “โดยพระอัธยาศัยของพระราชานั้น ก็มิได้ทรงพระปรีชาว่องไวเท่าใดนัก การที่พระองค์มีพระดำรัสถามปริศนาที่ซับซ้อนเช่นนี้ คงมิได้ทรงดำริขึ้นในทันที แต่เห็นจะเป็นเพราะมีเค้ามูลมาก่อน จากการได้ทอดพระเนตรเห็นอะไรบางอย่างเป็นแน่”

        มโหสถดำริเช่นนี้แล้วก็นิ่งเสีย มิได้กราบทูลสิ่งใด แต่หันไปทางอาจารย์เสนกะ เพื่อรอฟังว่าอาจารย์เสนกะจะกราบทูลท้าวเธออย่างไร

        ฝ่ายอาจารย์เสนกะกำลังครุ่นคิดอยู่ว่า “มโหสถจะสามารถแก้ได้หรือไม่หนอ” จึงเหลียวดูปฏิกิริยาของมโหสถซึ่งนั่งห่างออกไป ต่างฝ่ายต่างชำเลืองแลกัน

       
ครั้นได้สบสายตากันเพียงแวบเดียวเท่านั้น ท่านเสนกะก็พอจะมองออกว่า มโหสถเองก็ยังไม่เห็นเค้าเงื่อนของปัญหาเช่นเดียวกับตน จึงนึกภูมิใจอยู่ลึกๆว่า “คนที่มืดมัวไม่รู้คำตอบนั้น ใช่ว่าจะมีเพียงเราคนเดียวเสียเมื่อไร แม้มโหสถผู้รอบรู้ ก็ยังอับจนหนทางเหมือนกัน”

        ในที่สุดท่านเสนกะจึงตัดสินใจกราบทูลว่า “ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทฯ พวกข้าพระพุทธเจ้าตระหนักดีว่า ปัญหานี้มิใช่ปัญหาธรรมดา จักต้องมีเงื่อนงำที่ลึกล้ำอยู่พอสมควร ด้วยเหตุนี้ การที่ฝ่าพระบาททรงมีพระราชประสงค์จะทราบคำตอบในทันที จึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งพระพุทธเจ้าข้า”

        ท่านเสนกะกราบทูล พลางชำเลืองดูมโหสถบัณฑิต แต่แล้วก็ไม่เห็นทีท่าว่าจะคัดค้านสิ่งใด จึงยิ่งมั่นใจว่า ตนอ่านสายตาของมโหสถไม่ผิดแน่     และเพื่อจะยืนยันถ้อยคำของตนให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้น ท่านเสนกะจึงกราบทูลต่อไปว่า “ขอเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ มหาสมาคมนี้ช่างอึกทึกครึกโครมยิ่งนัก  พวกข้าพระพุทธเจ้าต่างมีใจวอกแวก ไม่สามารถรวมจิตให้เป็นหนึ่งได้ฉะนั้นจึงไม่อาจตอบปัญหาอันลึกซึ้งนี้ได้ในทันที ต่อเมื่อได้นั่งตริตรองอยู่เพียงลำพังผู้เดียวในที่อันเงียบสงัด เมื่อนั้นปริศนานี้จึงจะกระจ่างแจ้ง ดังนั้น ขอพระองค์ทรงโปรดเลื่อนกำหนดไปอีกสักหน่อย เพื่อให้พวกข้าพระพุทธเจ้าได้มีเวลาพิจารณาข้อปัญหานี้ให้ถี่ถ้วนเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
 
        ส่วนว่าพระเจ้าวิเทหราชจะทรงผ่อนผันให้ตามที่ร้องขอหรือไม่ โปรดติดตามตอนต่อไป

พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)  
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//mahosathapandita054.html
เมื่อ 27 กรกฎาคม 2567 23:02
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv