ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  พระเตมีย์   ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี  ตอนที่ 16
  
    จากตอนที่แล้ว พระวิสสุกรรมเทวบุตรได้รับพระบัญชาของท้าวสักกเทวราช ให้นำเครื่องประดับทิพย์มาประดับกายพระโพธิสัตว์  ซึ่งพระโพธิสัตว์ครั้นได้รับการประดับพระกายเสร็จแล้ว จึงเสด็จไปประทับยืนที่ริมปากหลุมตรัสถามนายสารถีว่า ท่านจะขุดหลุมไปทำไม ส่วนนายสารถี ได้กล่าวตอบไปว่า พระโอรสของพระราชาเป็นง่อยเปลี้ย  พระราชารับสั่งให้เราฝังท้าวเธอเสียในป่า

    พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า เราไม่ได้เป็นคนหนวก ไม่ได้เป็นคนใบ้ ไม่ใช่คนง่อยเปลี้ย ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ก็เท่ากับว่า ท่านทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม แล้วจึงทรงเหยียดพระหัตถ์ออกตรัสเชื้อเชิญให้สารถีมองดูพระองค์ด้วยพระดำรัสว่า เชิญท่านดูขาและแขนของเราซิ แล้วเชิญฟังคำภาษิตของเรา
 
    สุนันทสารถีได้ฟังดังนั้นก็คิดว่า เขาเป็นใครหนอ จึงหยุดพักการขุดหลุมแล้วเงยหน้าขึ้นแลดู เมื่อได้เห็นพระโพธิสัตว์ ก็อัศจรรย์ใจ คิดไม่ถึงว่าจะได้พบคนที่แต่งกายงดงามดังเทวดาท่ามกลางราวไพรแห่งนี้ จึงถามไปว่า ท่านเป็นใคร เป็นเทวดาหรือคนธรรพ์ หรือเป็นท้าวสักกเทวราช หรือว่าเป็นบุตรของใคร

    พระโพธิสัตว์จึงตรัสว่า  เราไม่ใช่เทวดา  แต่เราเป็นโอรสของพระเจ้ากาสิกราชผู้ที่ท่านกำลังจะฆ่านั่นแหละ บุคคลนั่งหรือนอนใต้ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทราม พระราชาเป็นเหมือนต้นไม้ เราเป็นเหมือนกิ่งไม้ ตัวท่านเป็นเหมือนคนอาศัยร่มเงา ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ท่านก็ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม

    แม้พระโพธิสัตว์จะตรัสอย่างนี้ สารถีก็ยังไม่เชื่อ พระองค์จึงได้ตรัสพระคาถาบูชาคุณของมิตร  5 คาถาแรกมีใจความว่า บุคคลใดมิได้ประทุษร้ายมิตร ทั้งเป็นที่อาศัยเลี้ยงชีพของชนเป็นอันมาก บุคคลนั้นเมื่อไปสู่ที่ใด  ย่อมมีอาหารมากมาย ได้รับการบูชาจากหมู่ชน พวกโจรย่อมไม่ทำร้ายบุคคลนั้น แม้กษัตริย์ก็เบียดเบียนเขาไม่ได้  เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมในสภา ย่อมเกิดความยินดีปรีดา  ได้รับการยกย่องและเชิดชูเกียรติในที่นั้นๆ

    มิตรภาพที่ดีเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งกว่าจะสร้างให้เกิดขึ้นได้นั้นแสนยากต้องใช้เวลานาน บุคคลแม้มีมิตรที่ดีเพียงคนเดียว แต่ถ้าหากรักษามิตรภาพนั้นให้ยั่งยืน ย่อมได้ที่พึ่งอาศัยอันอบอุ่น ประดุจบุตรได้กลับเข้าสู่อ้อมอกของมารดาฉะนั้น  อย่างเช่น พระสารีบุตรเถระกับพระมหาโมคคัลลานะเถระ  ซึ่งได้เคยทำหน้าที่มิตรที่ดีต่อกันมาหลายชาติ มาในชาติสุดท้าย พระสารีบุตรเถระเมื่อครั้งยังบวชเป็นปริพาชกได้พบพระอัสสชิเถระก่อน แล้วได้ฟังอมตะธรรมจากท่าน ก็ได้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรโดยได้นำอมตะธรรมนั้นมาบอกแก่เพื่อน ในที่สุดทั้งสองท่านจึงได้มาเป็นพระอัครสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ด้วยมิตรภาพที่ดีซึ่งได้เป็นกัลยาณมิตรต่อกันเรื่อยมา

    พระเตมิยราชกุมารเมื่อตรัสมาถึงคาถาที่ 5 ทรงเห็นว่าสุนันทสารถียังฟังพระองค์อยู่ จึงตรัสคาถาที่ 6 ต่อไปว่า “บุคคลผู้ใดไม่ได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นบูชาผู้อื่น ก็ย่อมได้รับการบูชาตอบ ไหว้ผู้อื่นก็ย่อมได้รับการไหว้ตอบ เขาย่อมได้รับเกียรติยศเป็นอันมาก

คาถาที่ 7 มีความว่า “บุคคลผู้ใดไม่ได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นย่อมรุ่งเรืองดังกองเพลิง ย่อมไพโรจน์ดุจเทวดาผู้มีสิริประจำตัวฉะนั้น”

คาถาที่ 8 มีความว่า “บุคคลผู้ใดไม่ได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร โคทั้งหลายของบุคคลผู้นั้นย่อมตกลูกบ่อยๆ ธัญพืชที่หว่านในนาย่อมงอกงาม เขาย่อมได้บริโภคผลของพืชพันธ์ที่ได้หว่านเอาไว้อย่างแน่นอน”

คาถาที่ 9 มีความว่า “บุคคลผู้ใดไม่ได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร บุคคลผู้นั้นแม้ตกเหว ตกภูเขา หรือตกต้นไม้ ย่อมได้ที่พึ่งอาศัย ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด”

คาถาที่ 10 มีความว่า “บุคคลผู้ใดไม่ได้ประทุษร้ายเหล่ามิตร เหล่าอมิตรย่อมย่ำยีบุคคลผู้นั้นไม่ได้ ดุจต้นไทรพุ่มใหญ่ที่มีรากงอกงาม ซึ่งพายุไม่อาจพัดให้ล้มลงได้ฉะนั้น”
 
    ธรรมดาผู้ที่บูชามิตรทั้งหลาย แม้ตนเองก็ย่อมได้รับการบูชาตอบ ผู้มีปกติสักการะ บูชา และกราบไหว้แด่กัลยาณมิตรมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ในชาติต่อไปเขาย่อมเกิดในตระกูลสูง ย่อมได้รับการสักการะ และบูชาในภพชาตินั้นๆ อย่างเช่นพระอรหันต์เถระทั้งหลาย ซึ่งแต่ละท่านได้สักการบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาดีแล้วในภพชาติก่อนๆ มาในภพชาตินี้เมื่อได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้ว ย่อมได้รับการสักการบูชาอย่างสูงสุด

    ฝ่ายสุนันทสารถีแม้จะได้ฟังพระโพธิสัตว์แสดงธรรมด้วยคาถาถึง 10 คาถา ก็ยังจำเคลือบแคลงสงสัยว่าท่านผู้นี้เป็นใครกันหนอ หรือว่าจะเป็นพระเตมิยราชกุมารจริงๆ จึงได้ขึ้นจากหลุมเดินไปดูที่รถ ก็มิได้เห็นพระโพธิสัตว์ประทับอยู่ จึงกลับมาแลดูพระองค์ก็จำได้ว่า ใช่พระเตมิยราชกุมารแน่แล้ว จึงหมอบลงแทบพระบาทของพระโพธิสัตว์ ประคองอัญชลีทูลวิงวอนว่า “ข้าแต่พระราชโอรส ขอพระองค์จงเสด็จกลับพระนครเถิด ข้าพระบาทจะนำพระองค์กลับสู่ราชมณเฑียร ขอพระองค์จงครองราชย์สมบัติ ขอจงทรงพระเจริญ พระองค์จะอยู่ทำอะไรในป่านี้เล่า”
     
    พระโพธิสัตว์จึงตรัสกับนายสารถีว่า “แน่ะสารถี เราไม่ต้องการราชสมบัติซึ่งพรั่งพร้อมด้วยหมู่ญาติและโภคทรัพย์ ที่จะต้องได้มาพร้อมกับการประพฤติอธรรม”


    ส่วนสารถียังมีความหวังว่า อย่างไรเสียพระราชกุมารก็คงจะเสด็จกลับเพื่ออนุเคราะห์ตนให้ได้รางวัล จึงกราบทูลว่า
        “ข้าแต่พระราชบุตร ขอพระองค์จงเสด็จกลับเถิด เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว จะทำให้ข้าพระองค์ได้รางวัลอันน่าปลื้มใจ พระชนกและพระชนนีจะพระราชทานรางวัลให้แก่ข้าพระองค์ 

    ข้าแต่พระราชบุตร ขอพระองค์จงเสด็จกลับเถิด เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว นางสนมและกุมารทั้งหลาย ทั้งพ่อค้าและพราหมณาจารย์จะยินดีให้รางวัลแก่ข้าพระองค์ 

    ข้าแต่พระราชบุตร ขอพระองค์จงเสด็จกลับเถิด เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว กองทัพช้าง กองทัพม้า กองทัพรถ กองทัพราบทั้งหลายจะยินดีให้รางวัลแก่ข้าพระองค์ 

    ข้าแต่พระราชบุตร ขอพระองค์จงเสด็จกลับเถิด เมื่อพระองค์เสด็จกลับไปแล้ว ชาวนิคม ชาวชนบทผู้มีทรัพย์มากจะประชุมกันให้รางวัลแก่ข้าพระองค์”

    เป็นปกติธรรมดาของคนทั้งหลาย จะพูดหรือจะทำอะไรก็ตาม ย่อมหวังผลตอบแทนเป็นค่าจ้างและรางวัล สุนันทสารถีก็เช่นกัน เมื่อเห็นผลตอบแทนที่จะได้อย่างมหาศาล จากการเสด็จกลับของพระราชกุมารรออยู่เบื้องหน้า จึงทูลอ้อนวอนพระราชกุมารขอให้เสด็จกลับด้วยความหวังอย่างเต็มเปี่ยม

 
    แต่พระราชกุมารผู้ซึ่งได้หลุดพ้นจากพันธนาการแห่งราชสมบัติมาได้อย่างแสนลำเค็ญ เมื่อทรงสดับคำของสารถีแล้วจึงตรัสบอกให้เขาทราบว่า “พระชนกและพระชนนีสละเราแล้ว ชาวแว่นแคว้น ชาวนิคม และกุมารที่เป็นเพื่อนของเราก็สละเราแล้ว  เราไม่มีเหย้าเรือนของตน พระชนนีสละเราแล้ว พระชนกก็สละเราจริงๆ  เราจะบวชอยู่คนเดียวในป่า ไม่ปรารถนากามคุณทั้งหลาย”

    เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงนึกถึงความสำเร็จที่จะมาถึงในเวลาอันใกล้ ก็ทรงเกิดปีติโสมนัสอย่างล้นพ้น จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า “ความหวังของเหล่าบุคคลผู้ไม่รีบร้อน ย่อมสำเร็จแน่นอน ความประพฤติชอบของเราที่ได้พยายามมาเนิ่นนาน บัดนี้ได้สำเร็จผลแล้ว  ท่านจงรู้อย่างนี้เถิดนะนายสารถี ว่าประโยชนที่จะพึงเกิดขึ้นโดยชอบ ของเหล่าบุคคลผู้ไม่รีบร้อนย่อมเกิดผลแน่นอน ความประพฤติชอบของเราสำเร็จผลแล้ว เราออกบวชแล้วย่อมมีแต่ความปลอดโปร่งใจ ไม่มีภัยจากที่ไหนอีก”

    พระโพธิสัตว์ได้เปล่งคำอุทานขึ้นอย่างนี้ด้วยทรงดำริว่า ความปรารถนาที่พระองค์ตั้งเอาไว้ถึง 16 ปี บัดนี้ความปรารถนานั้นประสบผลสำเร็จถึงที่สุดแล้ว แม้ว่าจะต้องทุกข์ทรมานมานานหลายปี แต่เมื่อปณิธานนั้นประสบผล ความสำเร็จนั้นย่อมงดงาม ควรค่าแก่การรอคอยจึงตรัสเช่นนั้น ส่วนสุนันทสารถีแม้ได้ฟังพระดำรัสที่งดงามถึงเพียงนี้ ก็ยังไม่สิ้นหวังที่จะเชิญพระราชกุมารให้เสด็จกลับ แต่เขาจะกล่าวอย่างไรต่ออีก โปรดติดตามตอนต่อไป
 
โดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages//temiraja16.html
เมื่อ 4 กรกฎาคม 2567 10:16
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv