ดูแลบ้านหลังน้ำท่วม (ตอนที่ 2)
ข่าวน้ำท่วมล่าสุด
ปาร์เกต์ที่บ้านกลายเป็นปลาเน่าลอยน้ำ
 
 
ก่อนอื่นต้องขอภาวนาว่าพื้นปาร์เกต์ที่บ้านคุณนั้นเป็นปาร์เกต์พื้นชั้นล่าง ไม่ใช่ปาร์เกต์พื้นชั้นบน แต่ที่ว่าน่าจะปาทิ้งหรือไม่นั้น ผมขออนุญาต เล่าและอธิบายดังนี้
 
-ปาร์เกต์เป็นไม้ซึ่งอยู่ได้ด้วยกาว ดังนั้นพื้นปาร์เกต์จึงเป็นพื้นที่อ่อนแอกับอาการน้ำท่วมอย่างยิ่ง เพราะทั้งไม้ก็จะบวมขึ้นมา กาวก็จะหลุดล่อน ดังนั้นเมื่อน้ำท่วมพื้นปาร์เกต์ก็ต้องมีปัญหาแน่นอน อย่าไปโทษช่างทำปาร์เกต์ หรืออย่าไปคิดอะไรมาก
 
-หากน้ำท่วมสัก 5-7 วัน นอกจากปาร์เกต์จะหลุดล่อนลอยน้ำ ปูดโปนขึ้นมาแล้ว ยังจะมีอาการ "บูดเน่า" ให้เกิดกลิ่นเหม็น และอาจเป็นอันตรายน้อยๆ หากต้องสูดดมอยู่ตลอดทั้งวันทั้งคืน
 
-หากปาร์เกต์เปียกน้ำสักเล็กน้อย ไม่ถึงกับหลุดล่อนปูดโปนไม่ต้องทำอะไรมาก เช็ดทำความสะอาดแล้วปล่อยทิ้งไว้ เปิดหน้าต่าง ประตู ให้อากาศถ่ายเท ความชื้นออกไป ไม่กี่วันปาร์เกต์ก็อาจเข้ารูปเดิมปกติได้ แต่มีข้อที่น่าคิดก็คือ อย่าเอาน้ำมัน หรือแลคเกอร์ หรือแว็กซ์ ไปทาทับตอนที่ปาร์เกต์ยังชื้นอยู่ เพราะสารเหล่านั้นจะไปเคลือบผิวไม้ทำให้ความชื้นในเนื้อไม้ (และเนื้อพื้นคอนกรีตใต้ปาร์เกต์) ไม่ระเหยออกมา
 
-หากปาร์เกต์มีอาการหนัก บิดงอ ปูดโปน เบี้ยวบูด ผุกร่อน เหม็นเน่า…กรุณาอย่าเสียดาย เลาะออกมา หากเลาะออกมาแล้วยังอยู่ในสภาพดี ก็ผึ่งลมเอาไว้ให้แห้ง เผื่ออาจมีประโยชน์ในวันหลัง
 
-หากเลาะพื้นปาร์เกต์ออกมีข้อคิดว่า หากจะปูอะไรทับแทนก็ต้องระวังเรื่องน้ำหนักของวัสดุที่จะปูแทนนั้น ว่าหนักมากไหม หากหนักมาก ก็ต้องดูระบบโครงสร้างบ้านเราด้วยว่ามีความแข็งแรงไหม (ถามช่างผู้รู้ ให้ช่วย ดูก็ได้) เพราะปาร์เกต์นั้นเป็นไม้น้ำหนักเบา พื้นที่หนึ่งตารางเมตรอาจจะหนักเพียง 5 กิโลกรัม แต่พื้นหินอ่อน หรือแกรนิต น้ำหนักรวมปูนทราย ที่ใช้ปูหนึ่งตารางเมตรอาจหนักตั้ง 120 กิโลกรัม
 
-หากจะปูปาร์เกต์เช่นเดิม (เพราะชอบความเป็นไม้ที่ให้ความนุ่มนวล) หรือปูวัสดุอื่นที่ใช้ "กาว" เป็นตัวประสาน กรุณาอย่าปูทับลงทันที ต้องรอให้พื้นคอนกรีตแห้งก่อน (อาจใช้เวลาเป็นเดือน) แล้วจึงปูลงไปได้ ไม่เช่นนั้นรับรองว่าปูเท่าไรลงไปก็จะล่อนออกมาเท่านั้น
 
 
ปลั๊กไฟน้ำท่วมจะเป็นไรไหม
 
 
ในขณะที่น้ำท่วมนั้นท่านปิดวงจรไฟฟ้าทั้งบ้าน(ภาษาชาวบ้านเรียกว่า ปิดคัทเอ๊าท์) น้ำท่วมก็คงไม่เป็นไรอยู่แล้ว เพราะไม่มีกระแสไฟฟ้าเดิน แต่พอน้ำลดอยากจะเปิดไฟใช้คงหวั่นเกรงเหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไร เอาละครับ ผมขอสรุปแนวทางดังนี้ดีกว่า
 
-ลองเปิดคัทเอ๊าท์ให้มีกระแสไฟฟ้าเข้ามา(อย่าลืมต้องมีฟิวส์ที่คัทเอ๊าท์เสมอ)หากปลั๊กหรือจุดใดจุดหนึ่งยังชื้น หรือเปียกอยู่ คัทเอ๊าท์จะตัดไฟและฟิวส์จะขาด ลองเปลี่ยนฟิวส์แล้วทิ้งไว้สัก 1 วัน ให้ความชื้นระเหยออกไปบ้าง แล้วดำเนินการใหม่ หากคัทเอ๊าท์ยังตัดไฟเหมือนเดิม กรุณาตามช่างไฟฟ้าผู้รู้เรื่องมาแก้ไข (เสียเงินบ้างก็เป็นเรื่องจำเป็น) ดีกว่าเอาชีวิตเสี่ยงต่อไป
 
-หากผ่านข้อที่ 1 ลองทดสอบเปิดไฟฟ้าทีละจุด และทดสอบกระแสไฟฟ้าในปลั๊กแต่ละอันว่ามีไฟฟ้ามาปกติหรือไม่ (อาจหาซื้ออุปกรณ์ตรวจกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กจากห้างไฟฟ้าทั่วไปรูปร่างหน้าตาคล้ายไขควง มาเสียบทดสอบดูก็จะสะดวกดี) หากทุกจุดทำงานปกติก็ถือว่าสบายใจได้ไปอีกระดับหนึ่ง หากมีปัญหาบางจุดก็อาจรอสักนิดให้ความชื้นระเหยออกเช่นข้อแรก (แต่หากพอมีเงินกรุณาอย่าเสี่ยงเลยครับ)
 
-ดับไฟทุกจุดในบ้าน ปลดเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทั้งหมด แต่ยังคงเปิดคัทเอ๊าท์เอาไว้ แล้ววิ่งไปดู มิเตอร์ไฟฟ้าหน้าบ้านว่าเคลื่อนไหวหรือไม่ (อาจต้องรอสักพักโดยการจดตัวเลข หรือใช้โทรศัพท์ถ่ายรูปไว้) หากไม่เคลื่อนไหวแสดงว่า ไฟฟ้าในบ้านเราไม่น่าจะรั่ว แต่หากมิเตอร์หมุนแสดงว่า ท่านยังปิดการใช้ไฟฟ้าในบ้านท่านไม่หมด หรือไฟฟ้า ตามสาย ตามท่อ ตามจุด บางจุดในบ้านท่านอาจจะรั่วได้รีบตามช่างไฟมาดูแล
 
เรื่องไฟฟ้านี้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องของเด็ก เป็นเรื่องของคนขี้ขลาดไม่ใช่เรื่องของผู้กล้าหาญ ดังนั้นกรุณาอย่าประมาท น้ำท่วมก็เสียหายมากพอแล้ว อย่าต้องมาจัดงานอัปมงคลตามหลังกันอีกเลย …ซีเรียสนะครับ !
 
 
น้ำลดแล้วจะทำยังไงกับระบบไฟดี
 
 
ถือว่าคุณเป็นคนหนึ่งที่ยังนับว่าโชคดีกว่าประชาชนอีกมากในประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเรา เพราะระบบไฟฟ้า เป็นสิ่งจำเป็นกับการดำรงชีพ แต่มีอันตรายสูงและเข้าใจยาก ตรวจสอบยาก เพราะเราไม่สามารถเห็น "ตัวกระแสไฟฟ้า" ได้เลย หากคุณพอจะมีงบประมาณในการปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าในบ้านหลังน้ำท่วมเราขอแนะนำดังต่อไปนี้
 
-หากมีงบประมาณน้อย ตัดปลั๊กไฟที่อยู่ระดับต่ำๆ ในบ้านออกให้หมด (อาจจะตัดทิ้งเลย หรือจะเลื่อนตำแหน่งปลั๊ก นั้นขึ้นไปอยู่สูงกว่าพื้นห้องสักระดับ 1.10 เมตร ก็ได้)
 
-หากพอจะมีงบประมาณบ้าง ให้แยกวงจรไฟฟ้าออกเป็น 2 วงจร คือวงจรที่อยู่ด้านล่าง (ที่ซึ่งน้ำอาจจะท่วมได้) และวงจรที่อยู่สูงๆ (ที่น้ำไม่อาจท่วมถึง)
 
-หากมีงบประมาณหนักขึ้นไปอีก แยกวงจรไฟฟ้าออกเป็น 4 วงจร วงจรแรกสำหรับปลั๊กด้านล่าง (ยามน้ำท่วม) วงจรที่สอง เป็นวงจรสำหรับจุดที่ใช้ไฟฟ้าทั่วๆ ไป (ที่น้ำไม่ท่วม) จุดที่สาม สำหรับเครื่องปรับอากาศ (หากมี) เพื่อกันอาการไฟกระตุกเมื่อเครื่องปรับอากาศทำงาน
จุดสุดท้ายเอาไว้ในครัว เพื่อยามออกจากบ้านนานนาน อยากปิดคัทเอ๊าท์จะได้ไม่ต้องปิดหมด เพราะปิดหมดเจ้าตู้เย็นในครัวก็จะหยุดทำงาน อาหารในครัวก็เน่าเสียหมด หรือยามเราไม่อยู่บ้าน อาจปล่อยทั้งกิจกรรมการใช้ไฟฟ้า ไว้เพียงในครัวเท่านั้น
 
-หากมีงบประมาณมากขึ้นไปอีก แยกวงจรให้มากเข้าไปอีกก็ได้ อาจแยกเป็นวงจรชั้นบน วงจรชั้นล่าง วงจรนอกบ้าน ฯลฯ (โดยยังยึดถือ วงจรตามข้อ 3 อยู่) แต่หากจะแยกวงจรมากๆ ดังนี้ และมีงบประมาณมากตามที่บอกน่าจะว่าจ้างวิศวกรไฟฟ้าเข้ามาคำนวณจะประหยัดและปลอดภัยกว่า
 
ปล. ขอแถมนอกเรื่องน้ำท่วมนิดเดียวครับว่า อย่าเดินสายไฟกับสายสัญญาณต่าง ๆ เช่นโทรศัพท์ ทีวี ฯลฯ รวมไว้ด้วยกัน เพระสายไฟจะมีคลื่นแม่เหล็กไปรบกวนสัญญาณ ทำให้การรับสัญญาณไม่ชัดเจนครับ
 
ที่มาโพสทูเดย์
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/ข่าวน้ำท่วม/ข่าวน้ำท่วม-ดูแลบ้านหลังน้ำท่วม.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 19:12
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv