เข้าพรรษา
ทำความดี 24 น.
 

      เหลืออีก 18 วัน จะออกพรรษากันแล้ว เวลามันผ่านไปรวดเร็วเหลือเกินทุกคนมีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่ากันสำหรับการสร้างความดี เพราะเราเกิดมาเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง หรืออย่างน้อยก็เกิดมาสร้างบารมี นี่เป็นเป้าหมายหลัก แต่ 24 ชั่วโมงต่อวันนี่ได้ไม่เท่ากัน ลองสำรวจตัวเราจะรู้เลยว่า เราทำความดีได้บุญได้บารมีมากน้อยแค่ไหนความดีทำได้ 3 ทาง คือ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ หรือจากความคิด คำพูด และการกระทำ โดยให้เรายึดเอากุศลกรรมบถ 10 ประการเป็นหลักหรืออย่างน้อยก็ศีล 5
 
     กุศลกรรมบถ 10 แบ่งเป็น ทางกาย 3 คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ทางวาจา 4 คือ ไม่โกหก ไม่พูดจาส่อเสียดให้เขาทะเลาะกัน ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อ พูดเล่นเรื่อยเปื่อย ทางใจ 3 คือ ใจไม่คิดอยากได้ทรัพย์ของผู้อื่น ไม่ผูกโกรธผูกพยาบาท และไม่เห็นผิดไม่เห็นผิด ตรงนี้เป็นสัมมาทิฐิ ซึ่งจะมีรายละเอียดอยู่เยอะทีเดียว ตั้งแต่ต้องเชื่อเรื่องทานทำแล้วมีผล บิดามารดามีคุณ ไม่ใช่มองว่าแค่สนุกแล้วทำให้มีลูกขึ้นมา แต่ว่าเป็นเรื่องหน้าที่ที่สูงส่งเพื่อให้เป็นทางมาเกิดของมนุษย์เพื่อมาสร้างบารมี ไม่ใช่มองต่ำ ๆ อย่างนั้น เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด เรื่องนรกสวรรค์มีจริง สัตว์ที่ไปเกิดในนรกสวรรค์มีจริง ผู้บรรลุธรรมมีจริง อย่างนี้เป็นต้น มีทั้งหมด 10 อย่าง แต่หลัก ๆ ที่เราควรจะจำคือ เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมนั่นละ ถ้าไม่เชื่อก็จะมีความเห็นผิด

     เพราะฉะนั้น วัน ๆ หนึ่งเราจะต้องทำกุศลกรรมบถ 10 ดังกล่าวให้ได้หรือถ้าจะดูศีล 5 ก็ดูว่าครบทั้ง 5 ข้อไหม ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดปด ไม่ดื่มสุรา นี่ก็คือข้อสังเกตของเรา แล้วก็ยังมีอบายมุข 6 ซึ่งเป็นปากทางแห่งความเสื่อม ถ้าใครทำแล้วเสื่อม เสื่อมตั้งแต่คิดจะทำ ลงมือทำยิ่งเสื่อมหนักเข้าไปอีก

ฟิต ฝ่อ ฟู


     ทุกคนมีเวลาเท่ากัน แต่ใครจะตักตวงกันได้มากน้อย เรารู้ได้ด้วยตัวของเราเอง พรรษานี้เรามีความตั้งใจกันตั้งแต่ต้นพรรษาว่า จะปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้ นี่ล่วงเลยมาได้ 72 วันเข้าไปแล้ว เหลืออีก 18 วันใครที่ปฏิบัติธรรมแล้วยังไม่ได้ผลเต็มที่ ก็ต้องหันมาพิจารณาดูว่า หนึ่งเรามีความเพียรสม่ำเสมอทุกวันหรือเปล่า สองทำถูกวิธีไหม อย่างน้อยก็สองอย่างนี้

     ถ้าหากว่า ใครยังทำความเพียรไม่สม่ำเสมอ ฟิต ฝ่อ ฟู คือ พอเริ่มต้นเข้าพรรษาก็ฟิต กลาง ๆ ก็ฝ่อ พอเชียร์หน่อยก็ฟู ใจฟูขึ้นมาก็ลุยกันทีหนึ่งตอนนี้ก็ต้องมาฟิต ฟิต ฟิต แล้วล่ะ ต้องเอาจริงเอาจัง แล้วก็มาดูข้อที่สองว่าทำถูกหลักวิชชาไหม ตรงนี้สำคัญนะ

หยุดเป็นตัวสำเร็จ
 
หยุดเป็นตัวสำเร็จ

     หลักวิชชาก็คือ หยุดเป็นตัวสำเร็จ หมายถึง จะเข้าถึงพระธรรมกายภายในได้นั้นใจต้องหยุด ถ้าใจไม่หยุดจะเข้าถึงไม่ได้เลย ต้องหยุดคิด หยุดพูดหยุดทำอะไรทั้งสิ้นเลย เหมือนไม่ได้ทำอะไร แค่นิ่ง ๆ เฉย ๆ สบาย ๆ เท่านั้น เดี๋ยวเราก็จะเข้าถึงสิ่งที่มีอยู่ในตัวของเรา ซึ่งเป็นแผนผังของชีวิต ตั้งแต่ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสนะ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม แล้วก็กายธรรมหรือพระธรรมกาย ก็จะเห็นไปตามลำดับต้อง หยุด อย่างเดียวเท่านั้น ไม่หยุดไม่ถึงพระ หยุดจึงเป็นตัวสำเร็จหยุดตรงนั้น หยุดในระดับที่ปลอดความคิด และมีความโปร่งโล่งเบาสบาย ณ ตรงนั้นจะไม่มีความคิดเลย ใจสบาย ๆ ไม่มีจินตนาการ จินตนาการหรือบริกรรมนิมิตเราจะใช้ตอนต้น เพื่อที่จะหาหลักยึดของใจ ไม่ให้ใจฟุ้งไปคิดเรื่องอื่น ใจจะได้อยู่กับเนื้อกับตัว เมื่อใดใจกับกายรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้เมื่อนั้นจึงจะเข้าถึงสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของเรา ต้องให้ใจกลับมาสู่ที่ตั้งดั้งเดิม เพราะฉะนั้นในเบื้องต้นจึงจำเป็นจะต้องมีบริกรรมนิมิตกับบริกรรมภาวนาบริกรรมนิมิตเราจะนึกเป็นภาพองค์พระหรือดวงแก้วก็ได้ แต่ต้องนึกให้เป็น ไม่ใช่ไปเค้นภาพ หรือไปบีบ ไปเค้น ไปเพ่ง ไปจ้อง อย่างนั้นปวดหัวไม่ถูกหลักวิชชา ให้นึกธรรมดา ๆ เหมือนเรานึกถึงดอกกุหลาบ ดอกบัว ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ถ้าเรานึกเป็นจะไม่ปวดหัวเลย ก็นึกธรรมดา ๆ นึกง่าย ๆ อย่างนี้ ส่วนชัดหรือไม่ชัดนั้นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับใจเราคุ้นหรือไม่คุ้นใจคุ้นกับสิ่งใดมากก็นึกง่าย ถ้าไม่คุ้นต่อสิ่งใดก็ยาก อย่างเช่นไม่ค่อยจะสวดมนต์ไหว้พระเลย จะให้นึกพระเท่าไร นึกแทบตาย นึกไม่ออก มันขึ้นอยู่กับคุ้นหรือไม่คุ้น ถ้าคุ้นมากก็ชัดมาก ถ้าคุ้นน้อยก็ชัดน้อย ถ้าใจปลอดโปร่งมากก็ชัดมาก ปลอดโปร่งน้อยก็ชัดน้อยหรือจะไม่นึกคิดอะไรเลยก็ได้ ถ้ามั่นใจว่าเราไม่ฟ้งุ นิ่งเฉย ๆ ก็ได้ แต่นิ่งนั้นก็ต้องไม่คำนึงถึงความมืดหรือสว่าง มีอะไรให้ดูเราก็ดูไป ดูไปเรื่อย ๆ อย่างสบาย ๆ ไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น ตรงที่ไม่ต้องคิดอะไรทั้งสิ้น ตรงนี้ไม่ค่อยจะเชื่อกัน พอมีอะไรให้ดูสักนิดก็คิดแล้ว เอ๊ะ! ใช่ไหม เอ๊ะ! อย่างนั้น เอ๊ะ! อย่างนี้ เอ๊ะ! มาแล้ว เพราะฉะนั้นไปฝึกกันนะ
 

23 กันยายน พ.ศ. 2546
จากหนังสือบางสิ่งที่แสวงหา
โดย พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

บางสิ่งที่แสวงหา


บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/บางสิ่งที่แสวงหา/เข้าพรรษา-ทำความดี-24-น.html
เมื่อ 1 กรกฎาคม 2567 14:14
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv