ความพอดี
 
 
 ความพอดีของเสื้อผ้า
 
ความพอดีของเสื้อผ้า
 
 
        ความพอดี  เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง  เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน  ต้องอาศัยความช่างสังเกตและความพิถีพิถัน  เพื่อให้เกิดความลงตัวในสิ่งที่กระทำอยู่  ยกตัวอย่างเช่น  ช่างตัดเสื้อออกมาไม่พอดี  เวลาใส่จะรู้สึกไม่สบายตัว  แต่ถ้าช่างคนไหนตัดเสื้อออกมาพอดี  นอกจากจะใส่สบายแล้ว  ยังดูสมส่วนสวยงามรับกับรูปร่างอีกด้วย
 
          ความพอดีนี้จึงต้องมีอยู่ในทุกๆ เรื่อง  โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติธรรม  ยิ่งต้องอาศัยความพอดีเป็นอย่างมากเพราะต้องปฏิบัติแบบไม่ตึงเกินไป  ไม่หย่อนเกินไป  ดำเนินอยู่บนเส้นทางสายกลาง  ถ้าทำไม่ถูกส่วน  ไม่พอดี  ก็อาจทำให้เกิดทุกข์เกิดโทษได้  ดังเรื่องราวต่อไปนี้
 
 
ความเพียรพยายามและอดทน
 
ความเพียรพยายามและอดทน
 
 
          ในสมัยพุทธกาล...  มีภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า  “พระโสณโกฬิวิสะ”  เป็นบุตรมหาเศรษฐีที่มีความสะดวกสบายมาก  ท่านมีลักษณะพิเศษ  คือ  ฝ่าเท้าอ่อนนุ่มมากมีขนอ่อนๆ  ทั่วฝ่าเท้า  ในภายหลังท่านได้รับการยกย่องว่า  “เป็นภิกษุผู้เลิศด้านการทำความเพียร”  แต่ในช่วงต้น  ท่านทำความเพียรจัดเกินไป  จึงทำให้ร่างกายบอบช้ำ  ไม่สามารถบรรลุธรรมได้  การปฏิบัติของท่านนั้นว่ากันว่า  ถึงขั้นเลือดตกยางออกกันทีเดียว
 
         มีเรื่องเล่าว่า  ในช่วงต้นท่านได้ทำความเพียรทั้งกลางวันและกลางคืน  เป็นเหตุให้ตัวท่านเกิดความง่วงเป็นอย่างมาก  แม้ความง่วงเกิดขึ้นท่านก็ยังไม่ยอมคลายความเพียร  ท่านจึงเปลี่ยนจากการนั่งสมาธิ  มาเป็นการเดินจงกรม  เมื่อท่านเดินบนลานจงกรมมากเข้า  เท้าที่อ่อนนุ่มของท่านจึงแตก  แม้เท้าของท่านจะแตกจนเดินไม่ได้  แต่ท่านก็ยังไม่ละความเพียร  ท่านยังคงเดินต่อไปด้วยเข่า  และในที่สุดก็ต้องคลาน  ท่านคลานไปด้วยอกจนเนื้อตัวถลอกปอกเปลือก  ทำให้ลานจงกรมเปรอะเปื้อนไปด้วยเลือดของท่าน  เมื่อเป็นเช่นนั้น  ท่านจึงคิดว่า
 
          “เราคงไม่มีบุญวาสนา  ที่จะบรรลุธรรมเป็นแน่เพราะขนาดเราทำความเพียรถึงขนาดนี้แล้ว  ก็ยังไม่บรรลุธรรมเลย”  ท่านจึงเกิดความท้อใจ  คิดที่จะสึกไปเป็นคฤหัสถ์ในครั้งนั้น  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบด้วยญาณทัสสนะจึงเสด็จมาเป็นกัลยาณมิตรให้กับพระโสณะ  เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงจึงตรัสถามว่า
 
 
การดีดพิณ
 
การดีดพิณ
 
 
          “โสณะ  เธอคิดว่า  ในบรรดาสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ปรารภความเพียร  เราก็เป็นรูปหนึ่งที่มีความเพียรเป็นอย่างยิ่ง  แต่ไฉนจิตของเราจึงยังไม่หลุดพ้นสักที  ควรที่เราจะกลับไปใช้ชีวิตเช่นคฤหัสถ์  แล้วนำทรัพย์สมบัติที่มีอยู่มาทำบุญดีกว่าใช่หรือไม่”
 
          “ใช่ พระพุทธเจ้าข้า”  พระโสณโกฬิวิสะยอมรับ
          “โสณะ  สมัยที่เธอยังครองเรือน  เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดีดพิณมิใช่หรือ?”
          “ใช่  พระพุทธเจ้าข้า”
          “เวลาสายพิณของเธอตึงเกินไป  เสียงพิณของเธอใช้ได้มั้ย”
          “ใช้ไม่ได้  พระพุทธเจ้าข้า”
          “เวลาสายพิณของเธอหย่อนเกินไป  เสียงพิณของเธอใช้ได้มั้ย”
          “ใช้ไม่ได้  พระพุทธเจ้าข้า”
          “และถ้าสายพิณของเธอไม่ตึงไม่หย่อน  อยู่ในระดับพอดี  เสียงพิณของเธอใช้ได้มั้ย”
          “ใช้ได้  พระพุทธเจ้าข้า”
          “การปฎิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน  โสณะ  ความเพียรที่เน้นหนักเกินไปมักทำให้จิตฟุ้งซ่าน  แต่ถ้าหย่อนเกินไปก็ทำให้เกิดความเกียจคร้าน  เธอต้องปรับความเพียรในการปฏิบัติของเธอให้พอดี  ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน”
 
          พระโสณะเมื่อรับฟังพระโอวาทจากพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติตามนั้น  ไม่นานก้ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในที่สุด
 
 
การปฎิบัติธรรมนั้นอาศัยความเพียรพยายามของตัวเรา
 
การปฎิบัติธรรมนั้นอาศัยความเพียรพยายามของตัวเรา
 
 
         ความเพียรพยายามนำมาซึ่งความสำเร็จก็จริง  แต่ถ้าเร่งเพียรพยายามมากเกินกำลังไป  ไม่พอดี  ก็ไม่อาจที่จะบรรลุวัตถุประสงค์  ตรงกันข้ามกลับส่งผลเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติได้  ความเพียรนั้นควรดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเหมือนรถที่วิ่งไปในระดับความเร็วพอดีๆ  ไม่ซัดส่าย  วิ่งไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะถึงจุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพเอง
 
 
 
 
แรงบันดาลใจจากพระไตรปิฎก
โดยพระมหาเถระ รุ่นปี พ.ศ. 2534 หน้า  211 - 214
 
 
 
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/แรงบันดาลใจ-จากพระไตรปิฎก/ความพอดี.html
เมื่อ 24 กรกฎาคม 2567 11:45
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv