คู่บุญ
 
 
 เจ้าชายวิลเลี่ยมและเคท
 
เจ้าชายวิลเลี่ยมและเคท
  
 
         พรหมลิขิตบันดาลชักพา  ดลให้มาพบกันทันใด  ก่อนนี้อยู่ไกลแสนไกล  พรหมลิขิตดลจิตใจ  ฉันจึงได้มาใกล้กับเธอ  เออชะรอยจะเป็นเนื้อคู่...”
 
         แว่วเสียงเพลงดังมา  พาให้นึกถึงธรรมะว่าด้วยเหตุแห่งการเป็น “เนื้อคู่”  สำหรับผู้ที่ยังมีความรักยังปรารถนาการครองเรือนร่วมกันในภพชาติต่อๆ ไป  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงมีคำแนะนำหลักปฏิบัติ  เพื่อบรรลุความปรารถนานั้น  ดังใน  สมชีวิสูตร  ว่า
 
          สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่เภสกฬามฤคทายวัน  เขตกรุงสุงสุมารคีระ  แคว้นภัคคะ  ในเวลาเช้า  พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก  ถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของกุลปิตาคหบดี  ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว  ลำดับนั้น  นกุลปิตาคหบดีและนกุลมาตาคหปตานีพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ  ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร  ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
 
         “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  นับแต่เวลาที่ข้าพระองค์นำนกุลมารดา  ข้าพระองค์ไม่เคยคิดที่จะประพฤตินอกใจนกุลมารดา  ไหนเลยจะประพฤตินอกใจด้วยกายเล่า  พวกข้าพระองค์ปรารถนาที่จะพบกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า”
 
 
พิธีแต่งงานของเจ้าชายวิลเลี่ยม
 
พิธีแต่งงานของเจ้าชายวิลเลี่ยม
 
         ส่วนนกุลมารดา  ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า  “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  นับแต่เวลาที่นกุลบิดาเมื่อยังหนุ่มนำหม่อมฉันผู้เป็นสาวมา  หม่อมฉันไม่เคยคิดที่จะประพฤตินอกใจนกุลบิดา  ไหนเลยจะประพฤตินอกใจด้วยกายเล่า  พวกข้าพระองค์ปรารถนาที่จะพบกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า”
 
         พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “คหบดีและคหปตานี  ถ้าสามีและภรรยาทั้งสองฝ่ายหวังจะพบกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้าทั้งสองฝ่ายพึงมีศรัทธาเสมอกัน  มีศีลเสมอกัน  มีจาคะ (การสละ) เสมอกัน  มีปัญญาเสมอกัน  สามีและภรรยาทั้งสองฝ่ายนั้นย่อมได้พบกันทั้งในชาตินี้และชาติหน้า”
 
สามีและภรรยาทั้งสองฝ่าย 
เป็นผู้มีศรัทธา  รู้ความประสงค์ของผู้ขอ 
สำรวมระวัง  ดำเนินชีวิตโดยธรรม 
เจรจาคำไพเราะอ่อนหวานต่อกัน 
มีความเจริญรุ่งเรือง  มีความผาสุก 
มีความประพฤติเสมอกันทั้งสองฝ่าย 
รักใคร่  ไม่คิดร้ายต่อกัน 
ทั้งสองฝ่ายประพฤติธรรมในโลกนี้ 
มีศีลและวัตรเสมอกัน  เสวยอารมณที่น่าใคร่ 
ย่อมเพลิดเพลินบันเทิงใจในเทวโลก
  
         ดังนั้น  แท้จริง  เหตุแห่งการเป็น “เนื้อคู่”  มิใช่  “พรหมลิขิต” แต่เป็น “กรรมลิขิต”  คือ มีการประพฤติธรรมที่เสมอกันด้วยศรัทธา  ด้วยศีล  ด้วยจาคะ  และด้วยปัญญา จึงนำพาให้ทั้งสองมาพบกัน
 
 
สมบรูณ์ด้วยปัญญา
 
สมบรูณ์ด้วยปัญญา
 
        หากทั้งสองเป็นคนพร่องศรัทธา  พร่องศีล  พร่องจาคะ  พร่องปัญญา  เสมอกัน  มาพบเจอกันก็กลายเป็น  “คู่เวรคู่กรรม”  แต่หากทั้งคู่สมบรูณ์ด้วยศรัทธา  สมบรูณ์ด้วยศีล  สมบรูณ์ด้วยจาคะ  สมบรูณ์ด้วยปัญญา  นำพากันสร้างบุญกุศล  เมื่อได้มาพบเจอกันในชาติไหนๆ  ก็ได้เป็น  “คู่บุญ”  ที่จะประคับประคองกันสร้างบุญบารมีไปตลอดชีวิต
 
 
 
 
แรงบันดาลใจจากพระไตรปิฎก
โดยพระมหาเถระ รุ่นปี พ.ศ. 2534 หน้า  193 - 195
 
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/แรงบันดาลใจ-จากพระไตรปิฎก/คู่บุญ.html
เมื่อ 4 กรกฎาคม 2567 03:19
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv