ต้องรักษาใจ
 
 
 ใจดวงน้อยๆ
 
ใจดวงน้อยๆ
 
 
        ใจ”  มีธรรมชาติที่อ่อนไหว  ปรวนแปรและล่องลอยไปในทุกๆ  ที่ได้ง่ายแสนง่าย  แม้แต่ช่วงเวลาเพียงเล็กน้อย  ใจ...ก็อาจจะล่องลอยไปไกลจนตามไม่ทัน  ผู้ที่ไม่ระวังรักษาใจ  ปล่อยให้ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ  จึงมีชีวิตที่สับสนวุ่นวาย  อาจเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่นได้
 
          พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนเรื่องนี้  โดยตรัสเล่าถึงภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งผู้เคยมีชีวิตที่ล่อแหลมต่อเพศพรหมจรรย์  เพราะมัวปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน  แต่ในที่สุดก็สามารถพลิกชีวิตให้พบความสุขได้  เมื่อหันมารักษาใจด้วยการปฏิบัติธรรม  โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
          ที่เมืองสาวัตถี  มีชายหนุ่มคนหนึ่งไปขอบวชกับพระสงฆรักขิตเถระผู้เป็นลุงของตน  พอบวชแล้วก็ลาหลวงลุงไปจำพรรษาที่วัดใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง
 
          ต่อมาภิกษุหนุ่มรูปนั้นได้รับจีวรมา ๒ ผืน  ผืนหนึ่งยาว ๗ ศอก  อีกผืนหนึ่งยาว ๘ ศอก  ตัวท่านเองเก็บผืนที่ยาว ๗ ศอกไว้ใช้  ส่วนผืนที่ยาว ๘ ศอก  ท่านตั้งใจจะนำไปถวายหลวงลุงผู้เป็นอุปัชฌาย์
 
          พอออกพรรษา  ท่านจึงเดินทางไปเยี่ยมหลวงลุง  พร้อมกับนำผ้าจีวรผืนนั้นไปถวาย  แต่หลวงลุงเป็นพระอรหันต์มีความมักน้อยสันโดษ  จึงบอกกับพระหลานชายไปว่า  “ฉันมีผ้าพอใช้แล้ว  เธอจงเก็บไว้ใช้เองเถิด”
 
          ภิกษุหนุ่มจึงกราบเรียนว่า  “ผมตั้งใจจะถวายหลวงลุง  ขอให้หลวงลุงเป็นเนื้อนาบุญด้วย”  แต่หลวงลุงก็ยังยืนยันคำเดิม  คือให้พระหลานชายเก็บจีวรไว้ใช้เอง
 
 
ขณะที่กำลังฟุ้งซ่านอยู่นั้น
 
ขณะที่กำลังฟุ้งซ่านอยู่นั้น
 
 
          เมื่ออ้อนวอนไม่สำเร็จ  ภิกษุหนุ่มจึงคิดน้อยใจว่า  “หลวงลุงคงไม่รักเราเสียแล้ว  เราจะอยู่เป็นพระไปทำไม  สู้สึกไปครองเรือนดีกว่า
 
         ขณะนั้นฟุ้งซ่านอยู่นั้น  ภิกษุหนุ่มก็หยิบเอาพัดใบตาลขึ้นมาพัดให้หลวงลุง  มือพัดไปใจก็ยังคงคิดไปอีกว่า
 
         “เมื่อสึกแล้ว  เราจะหาเลี้ยงชีพด้วยการนำผ้าจีวรผืนนี้ไปขายเป็นต้นทุน  เมื่อได้เงินแล้วจะไปซื้อแม่แพะสักตัวเพราะแพะมีลูกง่าย  เมื่อมีลูกแพะ  เราก็จะขายได้เงินทอง  แล้วก็จะหาภรรยามาสักคนหนึ่ง  ต่อมาก็จะมีลูก  เมื่อเราได้ลูกชายเป็นเด็กที่น่ารัก  เราก็จะพาครอบครัวกลับมาเยี่ยมหลวงลุง  โดยอาศัยเกวียนน้อยเดินทาง  ให้ภรรยาเป็นคนอุ้มลูก  ส่วนเราจะเป็นคนขับเกวียน”
 
          “เมื่อภรรยาเมื่อย  เราจะอุ้มลูกแทน  แต่นางกลับไม่ยอม  ลูกจึงพลัดจากมือนาง  ตกลงไปถูกล้อเกวียนทับตายเราโกธรมากจึงตีนางด้วยด้ามปฏัก”
 
          “โป๊ก!”
 
          สิ้นเสียงนั้นภิกษุหนุ่มก็ได้สติรู้ตัวว่า  ตนได้เอาด้ามพัดฟาดหัวหลวงลุงเข้าอย่างจังเข้าเสียแล้ว
          ฝ่ายหลวงลุงก็รู้ด้วยเจโตปริยญาณว่า  พระหลานชายกำลังใจลอยคิดไปไกลว่า  จะตีภรรยาจึงเผลอเอาด้ามพัดมาฟาดศรีษะของท่าน  ท่านจึงพูดขึ้นว่า  “เธอตีไม่ถูกภรรยา  ไพล่มาตีเรา  แล้วพระแก่ไปทำผิดอะไรเล่า”
 
          พระหนุ่มรู้ว่าหลวงลุงรู้วาระจิต  ทั้งอายทั้งกลัวความผิดจึงลนลานวิ่งหนีไป  แต่ถูกพระเณรในวัดช่วยจับไว้  แล้วพาตัวไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
 
โครงสร้างใจ
 
          พระพุทธองค์  ทรงเมตตาปลอบโยนภิกษุหนุ่มนั้นว่า
          “เธอบวชในศาสนาของเรา  ได้ชื่อว่าเป็นลูกของพระพุทธเจ้า  เธออย่าคิดวิตกกังวลให้มากไปเลย  ธรรมชาติของใจนั้นชอบรับอารมณ์  ชอบเที่ยวไปไกล  เธอเป็นภิกษุควรพยายาม  รักษาใจของตนให้พ้นจากบ่วงแห่งมารเถิด
 
         แล้วตรัสคาถาว่า  “ใจอยู่ในร่างกาย  ไม่มีรูปร่าง  ชอบเที่ยวไปไกลตามลำพัง  ผู้ใดควบคุมได้  ผู้นั้นย่อมพ้นจากบ่วงแห่งมารคือกิเลส”
 
         ภิกษุหนุ่มน้อมนำใจ  ปฏิบัติธรรมตามเสียงของพระบรมศาสดา  เมื่อจบพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันในที่สุด
 
 
รักษาใจด้วยการปฏิบัติธรรม
 
รักษาใจด้วยการปฏิบัติธรรม
 
        แม้ว่าใจคนเราจะอ่อนไหวปรวนแปร  และล่องลอยไปง่ายแสนง่าย  แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถฝึกหัดให้หยุดนิ่งได้ด้วยการปฏิบัติธรรม  หากเราหมั่นดูแลรักษาใจด้วยการปฏิบัติธรรมบ่อยๆ  เราก็จะพบกับความสงบสุขและปลอดภัย  ปราศจากภัยอันตรายใดๆ ในชีวิต
 
 
 
 
แรงบันดาลใจจากพระไตรปิฎก
โดยพระมหาเถระ รุ่นปี พ.ศ. 2534 หน้า  217 - 220
 
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/แรงบันดาลใจ-จากพระไตรปิฎก/ต้องรักษาใจ.html
เมื่อ 4 กรกฎาคม 2567 15:23
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv