ปล่อยทุกอย่างวางทุกสิ่ง
 
 
 ความสว่างภายในใจที่เกิดจากใจที่หยุดนิ่ง
 
ความสว่างภายในใจที่เกิดจากใจที่หยุดนิ่ง
 
 
          “ทำอย่างไรใจจึงจะหยุดนิ่ง?”  คำถามนี้คงอยู่ในใจของนักปฎิบัติธรรมทุกคน  เพราะเวลาปฏิบัติธรรม  ใจของเรามักชอบวิ่งไปในอารมณ์ต่างๆ  ที่คุ้นเคย  และยึดติดอยู่ในอารมณ์นั้น  ทำให้ใจเศร้าหมองไม่ผ่องใส  เกิดความกังวลและความทุกข์ตามมาไม่จบสิ้น  แต่ถ้าเราต้องการแก้ไขก็ต้องรู้จักปล่อยวางจากสิ่งต่างๆ  ที่เรายึดติด  แล้วอยู่กับปัจจุบันที่เราเป็น  ใจก็จะเริ่มเบาสบายคลายจากความยึดมั่นที่มีอยู่
 
         เรื่องของการปล่อยวางนั้น  เป็นเรื่องสำคัญที่พระพุทธองค์  ทรงเน้นย้ำอยู่เสมอ  และไม่เพียงสอนให้ปล่อยวางในสิ่งที่เป็นบาปอกุศลเท่านั้น  แม้ธรรมะที่พระองค์สั่งสอนก็ไม่ให้ยึดติดเพราะธรรมเหล่านั้น  เป็นเพียงอุปกรณ์ที่ใช้กล่อมเกลาใจของผู้ฟังให้อ่อนโยน  เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาจนมีแรงบันดาลใจที่จะปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง  แต่เมื่อเริ่มปฏิบัติแล้วก็ไม่จำเป็นต้องยึดมั่นในคำสอนต่อไป  ให้ทำใจหยุดนิ่งเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น
 
          เรื่องของการปล่อยวางนั้น  เป็นเรื่องสำคัญที่พระพุทธองค์ทรงเน้นย้ำอยู่เสมอ  และไม่เพียงสอนให้ปล่อยวางในสิ่งที่เป็นบาปอกุศลเท่านั้น  แม้ธรรมะที่พระองค์สั่งสอนก็ไม่ให้ยึดติดเพราะธรรมเหล่านั้น  เป็นเพียงอุปกรณ์ที่ใช้กล่อมเกลาใจของผู้ฟังให้อ่อนโยน  เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาจนมีแรงบันดาลใจที่จะปฏิบัติธรรมด้วยตนเอง  แต่เมื่อเริ่มปฏิบัติแล้วก็ไม่จำเป็นต้องยึดมั่นในคำสอนต่อไป  ให้ทำใจหยุดนิ่งเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น
 
 
การล่องแพในแม่น้ำ
 
การล่องแพในแม่น้ำ
 
 
          ในเรื่องนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ตรัสยืนยันเอาไว้ใน อลคัททูปมสูตร  โดยเปรียบเทียบคำสั่งสอนของพระองค์เหมือนแพที่ใช้ข้ามฟาก  เมื่อถึงฝั่งแล้วก็ไม่จำเป็นต้องแบกแพไปด้วย  แพเป็นเพียงอุปกรณ์ในการนำพาเราไปถึงฝั่งที่ต้องการเท่านั้น  ดังมีใจความโดยสรุปว่า...
 
          “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บุรุษคนหนึ่งเดินทางไกลมาพบแม่น้ำขวางหน้า  แต่ฝั่งนี้มีอันตราย  ส่วนฝั่งโน้นเป็นที่สบายปลอดภัย  เรือหรือสะพานจะข้ามฝั่งก็ไม่มี  บุรุษหนุ่มนั้นคิดว่าจะอยู่ช้าไม่ได้แล้วเพราะมีอันตรายรออยู่  เขาจึงรวบรวมกิ่งไม้และใบไม้มาผูกเป็นแพ  แล้วพยายามถ่อแพไปจนถึงฝั่งตรงข้ามโดยปลอดภัย  หลังจากนั้น  เขาจึงคิดว่าแพนี้มีประโยชน์แก่เขามาก  พาเขาข้ามฝั่งพ้นอันตรายมาได้  อย่ากระนั้นเลย  เราแบกแพนี้ขึ้นทูนหัวไปด้วยดีกว่า  แล้วเขาก็เอาแพนั้นทูนหัวเดินไป
 
          ภิกษุทั้งหลาย  พวกเธอคิดว่า  บุรุษนั้นทำถูกต้องหรือไม่”
 
          ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
 
          “ไม่ถูกต้อง  พระเจ้าข้า  ความจริงบุรุษนั้นควรผูกแพไว้ที่ริมฝั่ง  หรือยกแพขึ้นมาเกยบนบก  แล้วจึงเดินทางต่อไปเพราะหมดความจำเป็นที่จะต้องอาศัยแพอีกแล้ว”
 
          พระพุทธองค์ตรัสว่า
 
          เช่นเดียวกันภิกษุทั้งหลาย  เราแสดงธรรมเพื่อเป็นอุปกรณ์ให้ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์  ดุจแพน้ำไปสู่ฝั่ง  ไม่ใช่เพื่อให้ยึดมั่นถือมั่น  แม้ธรรมะเรายังสอนให้ละวาง  ไม่ต้องพูดถึงอธรรมเลย”
 
 
ใจที่ปราศจากความยึดมั่นถือมั่นของพระพุทธเจ้า
 
ใจที่ปราศจากความยึดมั่นถือมั่นของพระพุทธเจ้า
 
 
          เมื่ออ่านพระสูตรนี้จบลง  ใครที่เป็นนักปฏิบัติธรรมตัวจริงก็คงจะซาบซึ้งดีอยู่แล้ว  เพราะใจจะหยุดนิ่งได้ต้องปราศจากความยึดมั่นถือมั่น  ทั้งในบาปอกุศลหรือแม้แต่ธรรมะที่ได้เคยศึกษาเล่าเรียนมา  ต้องทำใจให้ว่างเปล่า “ปล่อยทุกอย่าง  วางทุกสิ่ง”  ให้ได้จริงๆ  ใจถึงจะหยุดนิ่งดิ่งเข้าสู่ความสะอาดบริสุทธิ์ภายในได้
 
 
 
 
แรงบันดาลใจจากพระไตรปิฎก
โดยพระมหาเถระ รุ่นปี พ.ศ. 2534 หน้า  203 - 205
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/แรงบันดาลใจ-จากพระไตรปิฎก/ปล่อยทุกอย่างวางทุกสิ่ง.html
เมื่อ 4 กรกฎาคม 2567 07:21
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv