เครื่องกั้นจิตปิดกั้นใจ 
 

ความใสสว่างสะอาดบริสุทธิ์

ความใสสว่างสะอาดบริสุทธิ์
 
        “จิต”  ของมนุษย์นั้นเดิมทีมีความใสสว่าง  สะอาดบริสุทธิ์  หรือที่เรียกว่า “จิตประภัสสร”  แต่เพราะถูกอาคันตุกะกิเลส(กิเลสที่จรมา)  รบกวน  จึงสูญเสียความใสกระจ่างไป  นำมาซึ่งความเศร้าหมองไม่ผ่องใส  อาคันตุกะกิเลสที่กล่าวถึงนี้  เรียกว่า “นิวรณ์”  หมายถึง  เครื่องกั้นจิต  ซึ่งจัดเป็นกิเลสชั้นกลางเป็นอุปสรรคต่อการทำสมาธิ  ทำให้จิตมัวหมองไม่ผ่องใส  ใจไม่หยุดนิ่ง  ดิ่งเข้าสู่ภายในไม่ได้
 

น้ำใสสะอาดบริสุทธิ์

น้ำใสสะอาดบริสุทธิ์
 
นิวรณ์  ที่กล่างถึงนี้มีอยู่ ๕ อย่างด้วยกัน  คือ
๑.   กามฉันทะ (ความรักความพอใจในกาม)
๒.   พยาบาท (ความปองร้าย  ความอาฆาต)
๓.   ถีนมิทธะ (ความท้อแท้ และความง่วงซึม)
๔.   อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ)
๕.   วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
 
          นิวรณ์ทั้ง ๕ ชนิดนี้เป็นตัวกิเลสที่ทำลายความเจริญก้าวหน้า  และขัดขวางการปฏิบัติธรรม  ซึ่งพระพุทธองค์ทรงอุปมาเปรียบเทียบไว้ดังนี้
 

น้ำหลากสี

น้ำหลากสี
 
          “ดูก่อนพราหมณ์  ภาชนะใส่น้ำซึ่งผสมด้วยสีครั่ง  สีเหลือง  สีเขียว  สีแดง  คนตาดี  เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำที่ผสมด้วยสีนั้นๆ  ย่อมไม่เห็นตามความจริง  ฉันใด  ผู้มีจิตประกอบด้วยราคะ  ย่อมไม่รู้ไม่เห็นอุบายอันเป็นเครื่องสลัดออก  ซึ่งราคะที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง  ฉันนั้น
 
 

ภาชนะใส่น้ำบัวลอยที่ร้อนๆ

ภาชนะใส่น้ำบัวลอยที่ร้อนๆ
 
         ดูก่อนพราหมณ์  ภาชนะที่ใส่น้ำร้อนที่เดือดพล่านมีไอพุ่งขึ้น  คนตาดี  เมื่อมองเงาหน้าของตนในน้ำนั้น  ย่อมมองไม่เห็นตามความเป็นจริง  ฉันใด  ผู้มีจิตประกอบด้วยพยาบาท (คิดปองร้ายเขา)  ย่อมไม่รู้ไม่เห็นอุบายอันเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งพยาบาทที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง  ฉันนั้น
 
ภาชนะที่ใส่น้ำซึ่งมีสาหร่ายและจอกแหน
 
ภาชนะที่ใส่น้ำซึ่งมีสาหร่ายและจอกแหน
 
         ดูก่อนพราหมณ์  ภาชนะที่ใส่น้ำซึ่งมีสาหร่ายและจอกแหนปกคลุมอยู่  คนตาดี  เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น  ย่อมมองไม่เห็นตามความเป็นจริง  ฉันใด  ผู้มีจิตประกอบด้วย ถีนมิทธะ (ความหดหู่ซึมเซา)  ย่อมไม่รู้ไม่เห็นอุบายเครื่องสลัดออกซึ่งถีนมิทธะที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง  ฉันนั้น
 
          ดูก่อนพราหมณ์  ภาชนะใส่น้ำที่ถูกลมพัดกระเพื่อมคนตาดีเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น  ย่อมมองไม่เห็นตามความเป็นจริง  ฉันใด  ผู้มีจิตประกอบด้วย อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ)  ย่อมไม่รู้ไม่เห็นอุบายเครื่องสลัดออก  ซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ฉันนั้น
 
          ดูก่อนพราหมณ์  ภาชนะใส่น้ำซึ่งขุ่นมัวเป็นตม  คนตาดีเมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น  ย่อมมองไม่เห็นตามความเป็นจริง  ฉันใด  ผู้มีจิตประกอบด้วยวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)  ย่อมไม่รู้ไม่เห็นอุบายเครื่องสลัดออกซึ่งวิกิจฉาที่เกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ฉันนั้น”
 

ท่ามกลางความสงบก็จะพบทางออกเอง

ท่ามกลางความสงบก็จะพบทางออกเอง
 
          จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า  คนที่ถูกนิวรณ์ครอบงำ  ใจจะถูกปิดกั้น  ทำให้มองไม่เห็นปัญหา  ค้นหาทางออกไม่เจอสะปะตามประสา “คนตามืด จิตมืดมน”  แต่ถ้าอยากหลุดพ้นจากนิวรณ์ก็ต้องตั้งใจปฏิบัติธรรม  ปล่อยวางทุกอย่างวางทุกสิ่งทำใจให้นิ่ง  ทำจิตให้สงบ  แล้วท่ามกลางความสงบก็จะพบทางออกเอง
 
 
 
 
แรงบันดาลใจจากพระไตรปิฎก
โดยพระมหาเถระ รุ่นปี พ.ศ. 2534 หน้า  231 - 233
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/แรงบันดาลใจ-จากพระไตรปิฎก/เครื่องกั้นจิตปิดกั้นใจ.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 18:19
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv