เพียงรักษาจิตเท่านั้น
 
 
 
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้รู้  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบาน 
 
 
           “พระพุทธศาสนา”  เป็นศาสนาของผู้รู้  ผู้ตื่น  ผู้เบิกบาน  อีกทั้งยังเป็นแหล่งความรู้อันบริสุทธิ์มากมาย  การที่เราจะศึกษาเรียนรู้ความรู้เหล่านั้นให้เข้าใจอย่างลึกซึ้ง  เพื่อนำมาใช้เป็นแม่บทในการฝึกฝนอบรมตนเอง  ให้สะอาดบริสุทธิ์ตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  และเหล่าพระอรหันตสาวกทั้งหลายนั้นเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะผู้ที่มีศรัทธา  แต่ไม่ค่อยมีเวลาหรือแม้มีเวลาแต่เป็นคนที่ไม่ชอบศึกษาเรียนรู้  แต่ก็มีใจอยากที่จะหลุดพ้นจากความทุกข์ตามพระพุทธองค์ไป  เมื่อเป็นเช่นนี้บางท่านที่เริ่มศึกษาใหม่ๆ  เมื่อไม่สามารถตรองคำสอนได้  จึงเริ่มเบื่อหน่ายหมดกำลังใจที่จะศึกษาธรรมมะไปเลยก็มี
 
         ในเรื่องนี้  พระสัมมาสัมพระพุทธเจ้าทรงเคยแนะนำภิกษุรูปหนึ่ง  ผู้ซึ่งเกิดความเบื่อหน่ายในเพศพรหมจรรย์  เพราะหมดกำลังใจในการที่จะศึกษาเรียนรู้ธรรมะที่มีมากมายเหล่านั้น  โดยพระพุทธองค์ทรงแนะนำเทคนิคพิเศษ  เพื่อให้เหมาะกับอัธยาศัยของภิกษุรูปนั้น  โดยมีเรื่องราวดังต่อไปนี้
 
          ในสมัยพุทธกาล  มีบุตรเศรษฐีท่านหนึ่งเรียกว่า  “อนุปุพพเศรษฐี”  อาศัยกรุงสาวัตถี  เป็นผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา  อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ชอบขวนขวายในการสั่งสมบุญอยู่เสมอ  วันหนึ่งท่านพิจารณาเห็นว่า  ชีวิตของผู้ครองเรือนมีความวุ่นวาย  สับสน  มีปัญหาสารพัดไม่รู้จบสิ้น  ประกอบไปด้วยทุกข์  จึงได้ตัดสินใจออกบวชในพระพุทธศาสนา  โดยมีพระภิกษุผู้ทรงพระวินัยเป็นพระอุปัชฌาย์    และพระภิกษุผู้ทรงอภิธรรมเป็นอาจารย์
 
          ภายหลังบวชแล้ว  ท่านถูกเรียกว่า “อุกกัณฐิตภิกษุ”  ฝ่ายอาจารย์ได้กล่าวสอนปัญหาในพระอภิธรรมหมวดต่างๆ ให้อย่างมากมาย  ส่วนพระอุปัชฌาย์ก็กล่าวข้อควรปฏิบัติในพระวินัยว่า  “ในพระธรรมวินัย  ภิกษุควรทำสิ่งนี้  ไม่ควรทำสิ่งนี้  สิ่งนี้เหมาะ  สิ่งนี้ไม่เหมาะ  ภิกษุควรนั่งอย่างนี้  ควรเดินอย่างนี้  เป็นต้น”
 
         อุกกัณฐิตภิกษุ  เมื่อได้รับการถ่ายทอดหัวข้ออภิธรรมและได้เรียนรู้ข้อปฏิบัติในพระวินัยมากเข้าๆ  นานวันเข้าจึงเกิดความคิดขึ้นว่า  “โอ...เราใคร่จะพ้นจากทุกข์  พ้นจากความสับสนวุ่นวายในทางโลก  จึงออกบวชเพื่อแสวงหาความสงบ  แต่เมื่อบวชแล้วกลับรู้สึกว่า  ข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุในพระพุทธศาสนามีมากนัก  ทั้งยังมีกิจกรรมอันยุ่งยากวุ่นวาย  ราวกับว่าจะเหยียดแขนเหยียดขาไม่ได้เลย  เมื่อเป็นเช่นนี้...เรากลับไปครองเรือนก็อาจพ้นจากทุกข์ในวัฏฏะได้  เราควรสึกไปเป็นคฤหัสถ์ดีกว่า”
 
          ตั้งแต่นั้นมาท่านก็เกิดความกระสันอยากสึก  หมดความยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์  ไม่ทำการสาธารยายธรรม  ไม่เล่าเรียนพระปาฏิโมกข์  กินไม่ได้นอนไม่หลับจนร่างกายผ่ายผอม  ซูบซีด  เนื้อตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็นถูกความเกียจคร้านครอบงำ  หมดความเพียร  ไม่ยอมทำกิจกรรมใดๆ  ปล่อยร่างกายให้สกปรกเศร้าหมอง
 
 
 
 เหล่าเพื่อนภิกษุและสามเณรเห็นจึงพากันไปบอกพระอาจารย์
  
 
         เหล่าเพื่อนภิกษุและสามเณรเห็นดังนั้น  จึงพากันไปบอกพระอาจารย์และพระอุปัชฌาย์ เมื่อท่านทราบเรื่องทั้งหมดแล้วจึงพาอุกกัณฐิตภิกษุไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
 
          เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว  จึงตรัสถามว่า “ภิกษุ  ถ้าเธอรักษาเพียงสิ่งเดียวได้  แล้วสิ่งอื่นไม่ต้องรักษาอีกเลย เธอจะทำได้ไหม?”
 
          “อะไร?  พระเจ้าข้า”
          “เธอจะรักษาจิตของเธอ  ได้ไหม”
          “อาจรักษาได้  พระเจ้าข้า”
          พระศาสดาจึงประทานโอวาทว่า “ถ้าอย่างนั้น  เธอจงรักษาจิตของเธอไว้  เธออาจพ้นจากทุกข์ได้”  แล้วพระองค์ตรัสเป็นคาถาว่า
 
          “ผู้มีปัญญาพึงรักษาจิตที่เห็นได้แสนยาก  ละเอียดยิ่งนัก  มักตกไปสู่อารมณ์ใคร่  จิตที่คุ้มครองไว้ได้  ย่อมนำสุขมาให้
          ภายหลังจบพระธรรมเทศนา  อุกกัณฐิตภิกษุได้มีดวงตาเห็นธรรมบรรลุโสดาปัตติผล  และชนเหล่าอื่นเป็นอันมาก  ก็ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล  มีพระโสดาบัน  เป็นต้น ณ  ที่ตรงนั้นเอง
 
 
คำสอนในพระพุทธศาสนาทั้ง  ๘๔,๐๐๐  พระธรรมขันธ์ 
 
 
           จากเรื่องนี้  จะเห็นได้ว่า  คำสอนในพระพุทธศาสนาทั้ง  ๘๔,๐๐๐  พระธรรมขันธ์  แท้จริงแล้วมารวมอยู่ที่ความสำรวมระวังรักษาใจของตนนั่นเอง  เพราะเมื่อเรารักษาใจไว้ดีแล้วก็ย่อมสามารถควบคุมกาย  วาจา  และตรองตามคำสอนในพระพุทธศาสนาได้ทั้งหมดโดยปริยาย  และเมื่อเกิดความเข้าใจ  ก็ย่อมมองเห็นหนทางที่จะฝึกฝนตนเองให้บริสุทธิ์  สะอาด  จนกระทั่งเข้าถึงธรรมะภายในได้ในที่สุด
 
 
 
 
 
แรงบันดาลใจจากพระไตรปิฎก
โดยพระมหาเถระ รุ่นปี พ.ศ. 2534 หน้า  37 - 40
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/แรงบันดาลใจ-จากพระไตรปิฎก/เพียงรักษาจิตเท่านั้น.html
เมื่อ 4 กรกฎาคม 2567 00:12
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv