พุทธประวัติ
 
วิธีตอบคำถามของพระพุทธเจ้า
 
ข้อมูลจาก https://www.facebook.com/Dhammavipulo
วันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557 
 
 
สงสัยย่อมมีแก่ปุถุชนเป็นปกติแต่คนถามไม่ได้ถามเพราะสงสัยเพียงอย่างเดียว มีเหตุผลในการถามหลากหลาย เช่น

     1. ถามเพราะไม่รู้ ไม่เคยได้ฟังมาก่อน
     2. ถามเพื่อเทียบเคียงกับความรู้ที่เคยได้ยินได้ฟังมา
     3. ถามเพื่อคลายความสงสัยเรื่องที่ค้างอยู่ในใจ
     4. ถามเพื่อให้ผู้ฟังคล้อยตาม
     5. ถามเพื่อจะตอบซะเอง ให้ผู้ฟังเข้าใจ

ด้วยเหตุผลในการถามที่หลากหลายนี้เอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสวิธีตอบคำถามไว้ 4 วิธี คือ


     1. ตอบแง่เดียว ตอบทางเดียว เช่น


     คำถาม : สรรพสิ่งในโลก มีอะไรบ้างที่ไม่ผุพัง?
     คำตอบ : ผุพังทุกอย่าง เพราะสรรพสิ่งในโลก ล้วนตกอยู่ในอำนาจไตรลักษณ์ คือ เปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

     2. แยกแยะตอบ เช่น


     คำถาม : ถ้าใส่บาตรทุกวันแล้วจะได้ไปสวรรค์มั้ย?

     คำตอบ : ไม่แน่ จะไปสวรรค์หรือไม่ อยู่ที่ใจผ่องใส หรือใจเศร้าหมอง ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา เมื่อจิตผ่องใส ไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวัง

     ถ้าใกล้ตาย นึกถึงภาพใส่บาตรได้ ปลื้มใจ จิตผ่องใสจนละสังขาร ได้ไปสวรรค์ แต่ถ้าไปนึกถึงบาปอกุศลที่เคยผิดพลาดทำมาในอดีต จิตขุ่นมัวเศร้าหมองจนละสังขาร ทุคติเป็นอันหวัง

     3. ย้อนถามแล้วตอบ เช่น


     คำถาม : พระพุทธเจ้ามีจริงหรือ? เพราะไม่เคยเห็น...

     คำตอบ : ปู่ของคุณ มีมั้ย? ปู่ของปู่ล่ะ มีมั้ย? แล้วปู่ของปู่ ของปู่ ของปู่ ของปู่ล่ะ มีมั้ย? เคยเห็นหรือเปล่า?

     4. งดตอบ ไม่ตอบ เช่น


     คำถาม : เมื่อประมาณปีพ.ศ. 2540 มีสื่อมวลชนบางฉบับเข้าไปถามพระมหาเถระ มีตำแหน่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมว่า นิพพานเป็นอัตตา หรืออนัตตา (อัตตา แปลว่า ใช่ตัวตน, อนัตตา แปลว่า ไม่ใช่ตัวตน สรรพสิ่งที่อยู่ในภพ ทั้งคน สัตว์ สิ่งของ ล้วนผุพังไปสู่ความแตกสลาย สุดท้ายแล้วก็หาตัวตนไม่พบ เรียกว่า อนัตตา)
     คำตอบ : คำถามนี้ ผู้ที่ตอบได้ ต้องมีภูมิธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่อไหร่ที่อาตมาบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว จะตอบ...นี้คือ คำตอบที่ไม่ได้คำตอบ...

พุทธประวัติ ประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/buddha_biography/วิธีตอบคำถามของพระพุทธเจ้า.html
เมื่อ 22 กรกฎาคม 2567 18:52
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv