หลวงพ่อตอบปัญหา
 
 
 

คำถาม:  เป็นการไม่ดีใช่ไหมค่ะ ถ้าชวนคนอื่นเป็นกรรมการทอดผ้าป่า ทอดกฐิน แล้วบอกว่า "แล้วแต่ศรัทธา" ถึงเวลาเขาให้ด้วยศรัทธา ๑๐ บาท โดยที่เขาก็เป็นกรรมการ ทำให้ลูกคิดแค้นมาก?

 
ชวนคนอื่นเป็นกรรมการทอดผ้าป่า ทอดกฐิน
ชวนคนอื่นเป็นกรรมการทอดผ้าป่า ทอดกฐิน
 
คำตอบ:  โธ่...แม่คุณเอ๋ย ก็เขาศรัทธาเท่านั้น ก็ได้เท่านั้นซิคุณ จะเอาอะไรกันหนักหนา
 
        เขามีเงินอยู่เท่านั้นเขาก็ทำได้เท่านั้น ยังดีนะที่เขาทำ หรืออีกประการหนึ่ง เขาอาจจะมีเงินเป็นล้านๆ เป็นร้อยล้านก็ได้ แต่เขาทำแค่ ๑๐ บาท ก็แสดงว่าเรายังไม่สามารถที่จะอธิบายให้เขาซาบซึ้ง ถึงความจำเป็นในการทำบุญทำทาน ว่ามันจำเป็นกับชีวิตอย่างไร เงินจำนวนนั้นเอาไปทำอะไร จะได้สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างไรต่อไป
 
        เรายังไม่ได้อธิบายให้เขาเข้าใจ เพราะฉะนั้นเขาก็ให้ตามกำลังศรัทธาของเขา ถ้าจะโกรธก็ต้องโกรธตัวเองว่า เรานี่ขาดปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ตั้งแต่
 
        ๑. ความแตกฉานในการขยายข้อธรรมะให้พิสดาร
        ๒. ความแตกฉานในการย่นย่อ สรุปให้เขานำไปปฏิบัติได้
        ๓. ความแตกฉานที่จะพูดให้เข้าใจ
        ๔. ความแตกฉานที่จะชี้แจงให้เขานำไปปฏิบัติให้ได้ผล
 
        เรายังขาดความสามารถทั้ง ๔ อย่างนี้จึงพูดให้ผู้อื่นศรัทธาในการทำบุญได้ไม่มาก ก็ค่อย ๆ ฝึกกันต่อไป
 

คำถาม:  เวลาวัดมีงาน พระเอาเทปเพลงมาเปิด พระจะผิดศีลหรือไม่ ?

คำตอบ:  ก่อนอื่น ขอให้ดูที่จุดประสงค์ของการเปิดเพลง ไม่ว่าวัดไหนๆ ก็ต้องเปิดด้วยความระมัดระวัง คือที่เขาเปิดเพลงเปิดอะไรให้มันเสียงดังๆ ขึ้นมาก็เพื่อให้ชาวบ้านย่านนั้นรู้ว่ามีงาน คือการที่จะให้ใครไปเดินบอกชาวบ้านทุกๆ บ้านว่าที่วัดจะมีงาน มันก็ไม่ไหว หรือจะเอารถโฆษณาไปบอก บางทีมันไม่เป็นการสมควร พระคุณเจ้าหรือลูกศิษย์จึงเปิดเพลงเปิดแผ่นเสียง กันตั้งแต่เช้าตรู่ หรือก่อนงาน ๑ วัน
 
งานวัด
งานวัด
 
        แต่อย่างไรก็ดี ก็มีข้อคิดมาตั้งแต่โบราณแล้วว่า เพลงทั้งหลายจะเป็นเพลงเฉพาะทำนอง หรือจะเป็นเพลงที่มีคำร้องด้วยก็ตาม ขอให้พอเหมาะพอดี และที่ควรระวังอย่างยิ่งเลย คือไม่ควรเป็นเพลงรัก เพราะจะกระตุ้นให้กามกำเริบได้ง่าย แต่ถ้าเป็นเพลงที่ทำให้เกิดพุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ ก็พอใช้กันได้ทีเดียว วัดต้องแยกประเภทเพลงให้ออกนะ ถ้าเป็นเพลงชนิดเธออายุ ๕๐ ก็ยังสวยละก็ เลิกกันละ
 
        ของทุกอย่างในโลกนี้ สิ่งไหนมีคุณ สิ่งนั้นย่อมมีโทษ ติดมาด้วยมากบ้างน้อยบ้าง การนำมาใช้จึงต้องดูความเหมาะสม รู้จักเลือกสรร พิจารณาให้ดี ก็จะมีแต่ประโยชน์ฝ่ายเดียว
 
คำถาม:  กรณีถือศีล ๘ จะรับประทานอาหารเวลา ๑๒.๐๐–๑๓.๐๐ น. ซึ่งเป็นเวลาหยุดพักงานประจำวันได้ไหมคะ ?
คำตอบ:  คำว่า “วิกาลโภชนา” ความจริงท่านก็ไม่ได้บอกแน่นอนว่าเป็นเวลาเท่าไร คำว่า วิกาล แปลว่าไม่ใช่กาลโดยทั่วไป หมายถึงเวลาหลังเที่ยงจนรุ่งอรุณของวันใหม่ แต่ว่าเอาละเราทำงานราชการหรือติดงานอะไรยุ่ง ๆ ภายในเวลาก่อนเที่ยงไม่ทัน ก็อย่าให้ถึง ๑๓.๐๐ น. เพราะมันเหมือนชาวบ้าน มันไม่สมควรสำหรับคนถือศีล ๘
 
ผู้ที่ถือศีล ๘ จะรับประทานอาหารในเวลา ๑๒.๐๐–๑๓.๐๐ น. ได้หรือไม่
ผู้ที่ถือศีล ๘ จะรับประทานอาหารในเวลา ๑๒.๐๐–๑๓.๐๐ น. ได้หรือไม่
 
        ถ้าหย่อนยานไปเรื่อย ๆ ก็จะสงสัยอีกว่าบ่ายโมงได้ไหม? บ่ายสองโมงได้ไหม? บ่ายสามโมงได้ไหม? ยืดเวลาไปจนตลอดบ่ายมันไม่จบ เอาเป็นว่าถ้ามีเศษหลังเที่ยง ก็อย่าให้ถึงบ่ายเลย แล้วก็ต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเป็นครั้งเป็นคราว หรือเป็นไปตามระบบงานจริง ๆ ไม่ใช่ว่าหาทางเลี่ยงเรื่อยไป
 
        เรื่องเวลานี้ ความจริงมีผู้นับถือพระพุทธศาสนากันทั่วโลกแต่ระบบเวลาไม่ตรงกัน บางประเทศต่างกันเป็น ๑๒ ชั่วโมง เที่ยงวันเป็นเที่ยงคืน พระภิกษุที่เดินทางไปต่างประเทศด้วยเครื่องบิน ท่านจะต้องปรับเวลาตามความเหมาะสม ไม่ใช่ต้องลุกขึ้นมาฉันเวลา ๕ ทุ่มตามเวลาเมืองไทย
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/good_QA/แล้วแต่ศรัทธา-หลวงพ่อตอบปัญหา.html
เมื่อ 4 กรกฎาคม 2567 02:30
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv