ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มหาชนก   ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี  ตอนที่ 11
 
 
    จากตอนที่แล้ว เหล่าอำมาตย์ได้ปล่อยผุสสรถ ตามคำแนะนำของท่านปุโรหิต ผุสสรถได้เวียนประทักษิณพระราชนิเวศน์  แล้วขึ้นสู่ถนนใหญ่แล่นรอบพระนคร แล้วก็วิ่งมุ่งหน้าตรงไปยังพระราชอุทยานทันที

    จากนั้นจึงวิ่งเข้าสู่อุทยาน ทำประทักษิณแผ่นศิลามงคลที่พระมหาชนกทรงบรรทมอยู่ แล้วก็หยุดอยู่กับที่ ปุโรหิตเห็นพระโพธิสัตว์บรรทมหลับอยู่ จึงให้ประโคมดนตรีขึ้น พระโพธิสัตว์ทรงได้ยินเสียงดนตรีก็ตื่นบรรทม ได้เปิดพระเศียรทอดพระเนตรเห็นมหาชน  ก็ทรงทราบว่าบัดนี้เศวตฉัตรมาถึงเราแล้ว  จากนั้นก็คลุมพระเศียรเหมือนเดิม
 
    ปุโรหิตได้เปิดผ้าตรวจดูลักษณะพระบาทแล้วก็ประกาศว่า  “ ท่านผู้นี้เป็นผู้เปี่ยมด้วยบุญญาบารมี  สามารถครองราชสมบัติแม้ในมหาทวีปทั้งสี่”  และเมื่อทราบว่าบุรุษหนุ่มผู้นี้ คือโอรสของอดีตพระเจ้าอยู่หัวของตนเอง ต่างก็พร้อมใจกันอภิเษกพระโพธิสัตว์เป็นพระราชาในพระราชอุทยานในวันนั้น

พระโพธิสัตว์ทรงได้รับการอภิเษกให้เป็นพระราชา และได้รับการเฉลิมพระนามว่า มหาชนกราช  จากนั้นก็เสด็จขึ้นสู่ราชรถอันประเสริฐกลับเข้าสู่พระนคร  ด้วยสิริราชสมบัติอันยิ่งใหญ่ 
 
    มหาชนทุกหลังคาเรือนต่างก็ออกมาต้อนรับพระราชาองค์ใหม่ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส โปรยดอกไม้นานาชนิด ยกธงชูขึ้นเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี

    เหล่าข้าราชบริพารฝ่ายในต่างก็ร่าเริง จัดเตรียมสถานที่บรรทม และประดับประดาพระราชนิเวศน์ต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ

    ฝ่ายพระราชธิดาเพียงได้สดับคำว่า “มหาชนก” ความรักประดุจภรรยาสามีก็ได้บังเกิดซาบซ่านไปทั่วผิวกาย แทรกซึมเข้าสู่ภายในทุกอนูเนื้อกระทั่งจรดเยื่อในกระดูก
 
    พระนางทรงรู้สึกปีติยินดี เหมือนได้ยินถ้อยคำอันเป็นมงคลที่รอคอยมานานแสนนาน ถึงแม้จะยังไม่เคยทอดพระเนตร ไม่เคยพูดจาสนทนากันมาก่อน แต่ก็เหมือนคนรักที่พระนางทรงตั้งตารอคอย นี่เป็นเพราะบุพเพสันนิวาสที่เคยครองรักกับพระโพธิสัตว์มาหลายชาติ  
 
     ดังพุทธวจนะที่ว่า ความรักเมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ เพราะเคยอยู่ร่วมกันในปางก่อน และเพราะได้เกื้อกูลกันในปัจจุบัน เหมือนดอกอุบลอาศัยโคลนตมและน้ำ จึงเบ่นบานเหนือน้ำ ฉะนั้น
 

    พระราชธิดาครั้นทราบว่า พระมหาชนกโพธิสัตว์ได้รับอภิเษกเป็นพระราชาเรียบร้อยแล้ว ทรงประสงค์จะทดลองพระมหาชนกโพธิสัตว์ว่า จะมีบุญพอที่จะครองราชย์สมบัติสืบต่อไปได้หรือไม่ จึงตรัสสั่งราชบุรุษคนหนึ่ง ให้ไปเรียกพระมหาชนกโพธิสัตว์เข้ามาเฝ้าเหมือนที่เคยทดลองกับเสนาบดี และคนอื่นๆ

    เนื่องจากพระบรมโพธิสัตว์เป็นบัณฑิต จึงมิได้ใส่พระราชหฤทัยในคำเชื้อเชิญของพระราชธิดา ได้ตรัสชมปราสาทว่า มีความสวยงามอลังการสมกับเป็นพระนครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชมพูทวีป  

    พระราชธิดาครั้นได้รับรายงานว่า พระมหาชนกราชไม่ทรงสนพระทัยในคำเชื้อเชิญ ก็ยังไม่ละความพยายาม ทรงมีรับสั่งราชบุรุษไปอัญเชิญให้เข้าพบอีกถึง ๓ ครั้ง พระโพธิสัตว์ก็มิใส่ใจต่อพระเสาวนีย์นั้นเลย
  
    พระราชธิดาทรงได้รับรายงานเหมือนเดิมทั้ง ๓ ครั้ง ก็ทรงคิดว่า “ท่านผู้นี้เป็นผู้มีอัธยาศัยใหญ่ สมควรที่จะได้เป็นจอมพสกนิกรของชาวมิถิลาอย่างแท้จริง” 
 
    ยิ่งเมื่อพระนางได้ทอดพระเนตรเห็นพระโพธิสัตว์เสด็จขึ้นสู่ปราสาทตามพระราชหฤทัยของพระองค์ เหมือนพระยาราชสีห์เยื้องกรายออกจากถ้ำ ก็ให้รู้สึกหวั่นไหว  

    เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จเข้ามาใกล้ พระนางก็มิอาจดำรงพระองค์อยู่ได้ ทรงตระหนักดีว่าผู้อยู่ ณ เบื้องพระพักตร์คือผู้มีบุญบารมีที่พระนางต้องยินยอมพร้อมฟังคำรับสั่งทุกอย่าง จึงได้เข้าไปทำปฏิสันถารด้วยการให้ทรงเกี่ยวพระกร 
 
    ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็ทรงรับเกี่ยวพระกรจากพระราชธิดา แม้พระนางจะทรงเขินอายอยู่บ้าง เพราะไม่เคยทรงทำอย่างนี้กับชายใดมาก่อน แต่พระโพธิสัตว์ก็ได้ทรงปฏิสันถารตอบ โดยตรัสเชื้อเชิญให้เสด็จชมปราสาทต่อไป จึงทำให้อาการที่ทรงตื่นเต้นเขินอายนั้นผ่อนคลายลง 
 
    เมื่อถึงศูนย์กลางของมหาปราสาท พระโพธิสัตว์จึงเสด็จขึ้นยังพระที่นั่ง ณ ราชบัลลังก์ภายใต้มหาเศวตฉัตร และได้ตรัสถามเหล่าเสนาอำมาตย์ทั้งหลายว่า “เมื่อพระราชาของพวกท่านจะสวรรคต ได้ตรัสสั่งอะไรไว้บ้าง”
 
     พวกอำมาตย์กราบทูลว่า  “ขอเดชะ พระราชาของพวกข้าพระองค์ ได้ทรงมีรับสั่งความเอาไว้ ๔ ประการ คือ ๑. ให้มอบราชสมบัติแก่ผู้ที่ทำให้พระราชธิดาพระนามว่าสีวลีเทวีโปรดปรานได้”
  
    พระราชาตรัสว่า  “พระนางสีวลีราชธิดาเสด็จมาถวายให้เกี่ยวพระกรของเธอแล้ว  ข้อนี้เป็นอันว่า เราได้ทำให้พระราชธิดาโปรดปรานแล้ว พวกท่านจงกล่าวข้ออื่นต่อไป” 

    อำมาตย์กราบทูลว่า “ขอเดชะ พระเจ้าโปลชนกราชได้รับสั่งความข้อที่ ๒ เอาไว้ว่า  ให้มอบราชสมบัติแก่ผู้สามารถทราบหัวนอนแห่งบัลลังก์สี่เหลี่ยมว่า อยู่ด้านไหน” 
 
    พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า “ข้อนี้รู้ยาก จำต้องหาอุบายสักอย่าง จึงจะแก้ปริศนานี้ได้”  ดำริดังนี้แล้วจึงทรงทรงถอดปิ่นทองคำบนพระเศียร ประทานให้พระนางสีวลี แล้วรับสั่งให้นำปิ่นทองคำไปวางไว้ 
 
    พระนางสีวลีทรงรับปิ่นทองคำไปวางไว้ด้านหัวนอนของบัลลังก์ ๔ เหลี่ยม
    กิริยาของพระนางสีวลีเทวี ทำให้พระโพธิสัตว์ทรงทราบว่า ข้างไหนเป็นหัวนอน จึงตรัสถามย้ำใหม่ว่าปริศนาข้อที่ ๒ พวกท่านว่าอย่างไรนะ 
 
    ครั้นหมู่อำมาตย์กราบทูลซ้ำให้ทรงทราบแล้ว พระองค์จึงตรัสชี้ว่า “ด้านที่พระนางเจ้าทรงวางปิ่นนั้นแหละเป็นหัวนอน” ซึ่งพระราชธิดาก็ทรงรับรองว่าถูกต้องแล้ว 
 
 
    พวกอำมาตย์ได้ให้สาธุการ แล้วกราบทูลพระราชกำหนดข้อที่ ๓ ต่อไปว่า ให้มอบราชสมบัติแก่บุคคลที่สามารถยกสหัสสถามธนูที่มีน้ำหนักพันแรงคนยกขึ้นได้  ส่วนพระราชกำหนดข้อที่ ๓ นี้ พระโพธิสัตว์จะทรงทำได้สำเร็จหรือไม่นั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
โดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
 
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahajanaka11.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 14:23
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv