ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 1


        เราได้ศึกษาประวัติการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระชาติที่สำคัญๆ มาแล้ว  4 พระชาติ คือ
        ชาติที่ทรงเกิดเป็นพระเตมียราช ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ที่ท่านระลึกชาติได้ตั้งแต่ยังเยาว์วัย รู้ว่าทรงเคยตกอุสสุทนรกมายาวนาน จึงทรงแกล้งทำเป็นใบ้เพื่อให้ได้ออกบวช
 
 
 
        ชาติที่ทรงเกิดเป็นพระมหาชนกราช ผู้ยิ่งด้วยวิริยบารมี ที่ท่านขนสินค้าขึ้นเรือเพื่อไปค้าขายทางทะเล เมื่อเรือล่มท่านต้องว่ายน้ำอยู่ในทะเลถึง 7 วัน ในที่สุดก็ได้ครองราชย์ และได้ข้อคิดจากต้นมะม่วงสองต้นกระทั่งได้ทรงออกผนวชในตอนสุดท้าย
 
 
 

        ชาติที่เกิดเป็นสุวรรณสาม ผู้ยิ่งด้วยเมตตาบารมี ที่ท่านมีบิดามารดาเป็นฤษีและฤษิณี ในชาตินี้ท่านเจริญเมตตาต่อคนและสัตว์ทั้งหลาย แม้จะถูกพระเจ้าปิลยักขราชยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษก็ไม่โกรธเคือง และได้ปฏิบัติบำรุงบิดามารดาผู้ตาบอดทั้งสองท่านอยู่ในป่าจนตลอดชีวิต
 
 
 

        และชาติทรงเกิดเป็นพระเจ้าเนมิราช ผู้ยิ่งด้วยอธิษฐานบารมี ที่ทรงอธิษฐานจิตว่า เมื่อผมเริ่มหงอกก็จะออกบวชเมื่อทันที ต่อมาเมื่อทรงเห็นเส้นพระเกศาหงอกแค่เส้นเดียวก็เสด็จออกผนวช แล้วก็ทรงอธิษฐานจิตให้วงศ์กษัตริย์ของท่านออกบวชตามทุกพระองค์ ซึ่งก็ได้เป็นไปตามนั้น
 
 
 
 
        ส่วนในพระชาติที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นพระชาติที่ท่านทรงใช้ดวงปัญญาอย่างมากที่สุดในการต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคแห่งชีวิต  อันเกิดจากความริษยาของคนพาลในคราบแห่งบัณฑิต แก้ไขปัญหาของผู้คน และพัฒนาประเทศชาติให้รุ่งเรือง ในชาตินี้ท่านได้เกิดเป็นมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ซึ่งปัญญาบารมีนี้ มีลักษณะเป็นความสว่างไสว ที่ขจัดความมืดมิดในใจคนที่หลงเพราะโมหะเข้ามาครอบงำปิดบัง ให้เกิดความสว่างขึ้น ทำให้ผู้คนสามารถปรับระบบความคิด คำพูดและการกระทำได้สมบูรณ์ขึ้น

        ดวงตะวันแม้จะเป็นเจ้าแห่งดวงดาวที่สว่างที่สุด  สามารถส่องโลกและจักรวาลให้สว่างไสวได้ แต่ก็ยังมีมุมมืดที่ดวงตะวันส่องไปไม่ถึง และไม่สามารถส่องหนทางดำเนินชีวิตให้กับผู้คนได้ แต่ปัญญานั้นเป็นแสงสว่างส่องทางดำเนินชีวิต ให้เราสามารถดำเนินไปได้อย่างถูกต้องดีงาม

        แสงสว่างแห่งปัญญานั้น มีความสว่างที่ไม่มีขอบเขตจำกัด สามารถส่องถึงทุกที่ไม่มีสิ่งใดปิดบังได้ สว่างไสวทั้งกลางวันและกลางคืน ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า นัตถิ ปัญญาสมา อาภา ซึ่งแปลว่า แสงสว่างที่จะเสมอด้วยปัญญาไม่มี

        ส่วนอกุศลธรรมที่ทำปัญญาให้อ่อนกำลังนั้น คือ โมหะ ความหลงที่อยู่ในใจของผู้คน เมื่อความหลงไม่รู้จริงเข้ายึดครองจิตใจผู้ใด ย่อมทำให้เขาผู้นั้นเป็นคนที่ขาดเหตุผล จะแก้ไขได้ด้วยการหาปัญญาเข้ามาส่องสว่าง ให้รู้เท่าทันสรรพสิ่งตามความเป็นจริง 
       

 

 
 

ัญญาของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นได้ ๓ ทาง คือ 

 



        การที่เราจะเพิ่มพูนปัญญาบารมีของเราให้เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง และรวดเร็วนั้น ขั้นต้นจะต้องแสวงหาอาจารย์ผู้รู้จริงเห็นจริง และทำได้จริงให้พบเสียก่อน โดยไม่เลือกว่าท่านจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน ฐานะเป็นอย่างไร รูปร่างหน้าตาจะเป็นเช่นไร

        การแสวงหาปัญญานั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีผลกระทบต่อชีวิตของเราในชาตินี้จนตลอดชีวิต และยังมีผลส่งต่อไปในภพชาติเบื้องหน้าอีกยาวไกล จึงควรหาอาจารย์ที่ดีๆ ที่ท่านมีคุณธรรม มีคุณวิเศษให้พบ เมื่อพบแล้วก็ต้องฟังคำสอน ไตร่ตรองคำสอนของท่าน แล้วทุ่มเทฝึกฝน ทำให้ได้อย่างอาจารย์

        การเพิ่มพูนปัญญาบารมีให้เต็มนั้น อุปมาเหมือนกับ พระภิกษุที่ออกบิณฑบาตโดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะสูง ต่ำ หรือปานกลาง ฉันใด พระโพธิสัตว์ก็มีปกติอัธยาศัยไต่ถามผู้รู้  ฉันนั้น

        วันนี้เรามาศึกษาประวัติการสร้างบารมีในพระชาติที่สำคัญอีกชาติหนึ่ง ที่พระองค์ทรงมีปัญญาเฉียบแหลมและลึกซึ้ง แม้ครั้งพระองค์ยังเป็นเด็กน้อยอยู่แต่ก็มีปัญญาไม่ด้อยไปกว่ามหาบัณฑิตของพระราชาทั้ง ๔ ท่าน ซึ่งถือว่ามีปัญญาสูงสุดของพระนคร

        ดังเรื่องของมโหสถบัณฑิต ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี ที่ใช้ปัญญาในทางสร้างสรรค์พระนครให้สง่างาม และช่วยตัดสินคดีความได้อย่างถูกต้องเที่ยงธรรม ทำให้ชนทั้งหลายได้รับความสงบร่มเย็นดังเรื่องราวที่จะกล่าวต่อไปนี้

        ณ  โรงธรรมสภาภายในพระเชตวันมหาวิหาร  อันเป็นสถานที่ประชุมกัน เพื่อฟังพระธรรมเทศนาของเหล่าพุทธบริษัทผู้ใฝ่แสวงหาความเจริญทั้งหลาย   ในยามนั้นเป็นเวลาบ่ายคล้อย แม้ภิกษุสงฆ์บางส่วนจะได้ทยอยลุกจากอาสนะ แยกย้ายกลับไปบำเพ็ญสมณธรรมกันบ้างแล้ว แต่ทว่าภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่ยังคงนั่งสนทนาธรรมกันต่อ ต่างพากันกล่าวสรรเสริญพระปัญญาบารมีของพระพุทธองค์อยู่ด้วยความรื่นเริงใจ

        “อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีภาคเจ้าของเรา ช่างเป็นผู้มีพระปัญญามากเหลือเกิน ทั้งลึกซึ้งกว้างขวางประดุจแผ่นดิน แหลมคม ว่องไว อย่างยากที่จะหาผู้ใดเปรียบได้” พระมหาเถระรูปหนึ่งกล่าวขึ้น 
 
        “ก็จริงอย่างนั้นซิ ท่านผู้มีอายุ ไม่ใช่อานุภาพแห่งปัญญาของพระองค์ดอกหรือ ที่ทำให้ชนผู้เป็นมิจฉาทิฐิ อย่างเช่น กูฏทันตพราหมณ์(กู- ตะ-ทัน-ตะ-พราม)  อาฬวกยักษ์ พกพรหม(พะ-กะ-พรม) หรือแม้แต่โจรองคุลีมาลผู้เหี้ยมโหด สิ้นพยศ ทั้งยังทรงให้เขาเข้าถึงหนทางแห่งสวรรค์และพระนิพพาน” พระเถระอีกรูปหนึ่งกล่าวรับรองเป็นทำนองเห็นด้วย

        ขณะนั้นพระผู้มีภาคเจ้า ทรงประทับผ่อนคลายพระอิริยาบถอยู่ภายในพระคันธกุฎี ในที่ไม่ไกลจากโรงธรรมสภานัก ทรงสดับถ้อยสนทนาของเหล่าภิกษุด้วยทิพโสตอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตธาตุของมนุษย์และเทวาทั้งหลาย จึงเสด็จมายังโรงธรรมสภา  ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ภิกษุจัดถวายแล้ว ได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นด้วยพระสุรเสียงก้องกังวาน เต็มเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาว่า  “ภิกษุทั้งหลาย เธอกำลังประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร”

        ครั้นสิ้นพระดำรัส พระมหาเถระรูปหนึ่ง ได้รับอาสาเป็นตัวแทนกราบทูลเรื่องที่หมู่สงฆ์กำลังสนทนาค้างอยู่ให้ทรงทราบ

        พระบรมศาสดาครั้นทรงสดับคำสนทนาของภิกษุทั้งหลายแล้ว จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในกาลนี้เท่านั้น ที่ตถาคตมีปัญญามาก แม้ในอดีตกาล ครั้งที่ญาณยังไม่แก่กล้า ยังอยู่ในระหว่างบำเพ็ญบุรพจริยา เพื่อประโยชน์แก่พระโพธิญาณอยู่ ตถาคตก็เป็นผู้มีปัญญามากเช่นกัน” 
 
        ตรัสดังนี้แล้วพระพุทธองค์ก็ประทับนิ่งอยู่ ภิกษุทั้งหลายเห็นเป็นโอกาสที่จะได้ฟังเรื่องราวโดยพิสดาร จึงกราบทูลอาราธนาพระองค์ให้ทรงเล่าถึงบุรพจริยาในครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงสัพพัญญู จึงได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตชาติมาตรัสเล่า ส่วนว่า เรื่องราวจะดำเนินไปอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 

 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita001.html
เมื่อ 3 กรกฎาคม 2567 16:16
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv