ทศชาติชาดก
 
เรื่อง  มโหสถบัณฑิต   ผู้ยิ่งด้วยปัญญาบารมี  ตอนที่ 2


        ตอนที่แล้ว ได้เกริ่นเข้าสู่เรื่องมโหสถบัณฑิต ว่าการแสวงหาปัญญานั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีผลกระทบต่อชีวิตของเรา และยังมีผลส่งต่อไปในชาติหน้าอีกยาวไกล จึงควรหาอาจารย์ดีๆ ที่ท่านมีคุณธรรม มีคุณวิเศษให้พบ เมื่อพบแล้วก็ต้องฟังคำสอน ไตร่ตรองคำสอนของท่าน แล้วก็ฝึกฝนทำให้ได้อย่างท่าน

        การเพิ่มพูนปัญญาบารมีนั้น อุปมาดัง พระภิกษุที่ออกบิณฑบาตโดยไม่เลือกชนชั้นว่าสูง หรือต่ำ  ฉันใด พระโพธิสัตว์ก็มีอัธยาศัยไต่ถามผู้รู้  ฉันนั้น หลังจากนั้น ก็ได้เริ่มเข้าสู่เรื่องว่า คราวหนึ่ง ได้มีหมู่ภิกษุสนทนาธรรมอยู่ ในธรรมสภาภายในพระเชตวันมหาวิหาร  ขณะกล่าวสรรเสริญพระปัญญาของพระพุทธองค์อยู่นั้น

        พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงประทับอยู่ภายในพระคันธกุฎี ได้สดับคำสนทนาของเหล่าภิกษุด้วยทิพโสตอันบริสุทธิ์ จึงเสด็จมายังโรงธรรมสภา  ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ภิกษุจัดถวายแล้ว ได้ตรัสถามภิกษุเหล่านั้นว่า  “ภิกษุทั้งหลาย เธอกำลังประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร”

        พระบรมศาสดาครั้นทรงสดับคำสนทนาของภิกษุทั้งหลายแล้ว จึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในกาลนี้เท่านั้น ที่ตถาคตมีปัญญามาก แม้ในอดีตกาล ครั้งที่ญาณยังไม่แก่กล้า ยังอยู่ในระหว่างบำเพ็ญบุรพจริยา เพื่อประโยชน์แก่พระโพธิญาณอยู่ ตถาคตก็เป็นผู้มีปัญญามากเช่นกัน”   ตรัสดังนี้แล้วพระพุทธองค์ก็ประทับนิ่ง ภิกษุทั้งหลายเห็นเป็นโอกาสที่จะได้ฟังเรื่องราวโดยพิสดาร จึงกราบทูลอาราธนาพระองค์ให้ทรงเล่าถึงบุรพจริยาในครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงสัพพัญญู จึงได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตชาติมาตรัสเล่า  มีเรื่องราวดังจะกล่าวต่อไปนี้ 
 

        บนผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาล อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณธัญญาหาร เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ควรแก่การสถาปนาเป็นมหาอาณาจักร   ณ ผืนแผ่นดินนี้เอง ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งวิเทหรัฐอันรุ่งเรือง ราชธานีมีนามว่า มิถิลานคร เป็นมหานครอันคับคั่งด้วยชาวประชา  คลาคล่ำไปด้วยผู้คนมากมาย ซึ่งเดินทางผ่านไปมาเพื่อประกอบการค้าขายมิได้ขาด อาคารบ้านเรือน ปราสาทราชฐานก็ล้วนงดงามอลังการราวทิพวิมานในเทวโลก  เจ้าเหนือหัวผู้เป็นจอมราชาแห่งแคว้นวิเทหรัฐ สถิตเป็นมิ่งขวัญของทวยราษฎร์ ทรงมีพระนามว่า พระเจ้าวิเทหราช
 

        ท้าวเธอทรงโปรดให้แต่งตั้งปุโรหิตาจารย์ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ดำรงไว้ในฐานะปวงปราชญ์ราชบัณฑิตประจำราชสำนักถึง ๔ ท่าน มีนามตามลำดับอาวุโส คือ อาจารย์เสนกะ อาจารย์ปุกกุสะ อาจารย์กามินทะ และอาจารย์เทวินทะ    ด้วยเหตุนี้เอง นับแต่พระองค์ทรงครองสิริราชบัลลังก์เป็นต้นมา วิเทหรัฐจึงสงบร่มเย็น ปราศจากภัยพาลทั้งภายในและภายนอก ทั้งยังเจริญรุ่งเรืองรุดหน้า มิเป็นสองรองแคว้นใด     แต่ถึงกระนั้น ท้าวเธอก็ยังทรงใฝ่หานักปราชญ์บัณฑิตผู้มีปัญญาสามารถ ไว้ช่วยกันทำนุบำรุงแว่นแคว้นของพระองค์ให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้นไปตลอดเวลา
 

        กระทั่งราตรีกาลวันหนึ่ง จวนเวลาใกล้รุ่ง พระเจ้าวิเทหราชเสด็จบรรทมเหนือพระแท่นไสยาสน์ ทรงพระสุบินนิมิตน่าพิศวงว่า ที่มุมพระลานหลวงทั้งสี่ทิศ มีกองเพลิง ๔ กองลุกโชติช่วง มีเปลวยอดสูงเทียมกำแพงเมือง   แต่แล้วก็มีกองเพลิงอีกกองหนึ่ง ผุดพลุ่งขึ้นท่ามกลางกองเพลิงทั้งสี่นั้น แรกทีเดียวเป็นเพียงจุดเล็กสว่างประมาณเท่าหิ่งห้อยเท่านั้น แต่ไม่ช้าก็กลับฉายแสงพวยพุ่งขึ้น ลุกโพลงจนกลบความสว่างของกองเพลิงที่มุมพระลานทั้งสี่ไปเสียสิ้น    แสงนั้นพลันเจิดจ้าไปทั่วจักรวาล กระจ่างยิ่งกว่าแสงแห่งดวงดาวและแสงอาทิตย์ แผ่ไพศาลไปจรดถึงพรหมโลก แต่กลับเป็นแสงที่เย็นฉ่ำนวลตาประดุจแสงจันทร์
 

        บรรดาเทพยดาและเหล่ามนุษย์ที่สัญจรไปมา พากันมาแวดล้อมอยู่รอบกองเพลิงนั้น ราวกับว่ามิได้รับความร้อนจากกองเพลิงนั้นเลยแม้แต่น้อย ต่างก็พร้อมใจกันนำช่อบุปผชาติและสุคันธชาติส่งกลิ่นหอมนานาพันธุ์มาสักการะบูชากองเพลิงนั้นด้วยความรื่นเริงยินดี
 

        พระเจ้าวิเทหราชทรงสะดุ้งตกพระทัยตื่นบรรทม ประทับนั่งเหนือพระแท่น พระพักตร์อาบชุ่มไปด้วยผุดแห่งพระเสโท    ทรงรำพึงถึงพระสุบินที่เพิ่งผ่านพ้นเมื่อสักครู่ ก็ยิ่งให้ทรงประหวั่นพรั่นพรึง ประทับอยู่ด้วยพระหทัยอันเต็มไปด้วยความกังขา เกรงว่าจะเป็นนิมิตร้าย บ่งถึงอันตรายที่จักบังเกิดแก่แว่นแคว้นหรือพระราชบัลลังก์ของพระองค์     ครั้นรุ่งเช้า เหล่าปุโรหิตาจารย์ทั้งสี่ นำโดยท่านอาจารย์เสนกะ ก็พากันมาเข้าเฝ้าถวายบังคมเช่นทุกวัน
 

        ท่านเสนกะชำเลืองแลพระพักตร์ของพระเจ้าวิเทหราช ก็สังเกตเห็นท้าวเธอมีพระพักตร์หมองหม่น เหมือนทรงเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเป็นกำลัง
  จึงถือโอกาสทูลถามถึงความสุขในการบรรทมว่า “ขอเดชะ ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ พระองค์ทรงบริหารพระราชกรณียกิจอันใหญ่หลวง เพื่อความสงบร่มเย็นของเหล่าประชาราษฏร์ ข้าพระบาทใคร่ทูลถามพระองค์ว่า พระองค์ทรงพระบรรทมเป็นสุข ดีหรือไฉน พระพุทธเจ้าข้า”
 

        “ท่านอาจารย์ เราจะหลับอย่างมีความสุขได้แต่ที่ไหนเล่า”  ตรัสดังนี้แล้ว พระองค์ก็ทรงเล่าถึงพระสุบินนิมิตนั้น พร้อมกับรับสั่งถามด้วยความข้องพระหฤทัยว่า  “ท่านอาจารย์ เราฝันเรื่องฟืนเรื่องไฟ ช่างน่ากลัวยิ่งนัก จะดีร้ายประการใด ขอท่านจงช่วยทำนายทีเถิด”
 

        ท่านเสนกะรับทราบเหตุตามที่ทรงเล่าแล้ว ก็พิเคราะห์ลักษณะพระสุบินอย่างถี่ถ้วน เล็งดูดวงชะตาของพระองค์และดวงชะตาเมือง ก็เห็นต้องด้วยลักษณะแห่งศุภนิมิต   
จึงได้กราบทูลว่า  “ขอเดชะพระอาญามิพ้นเกล้า ขอพระองค์อย่าได้ทรงหวาดหวั่นพระหฤทัยไปเลยพระเจ้าข้า พระสุบินนิมิตนั้นเป็นมหามงคล หาได้มีภัยอันตรายใดๆ มาพ้องพานพระองค์ และพระราชอาณาจักรของพระองค์แต่อย่างใดเลย พระเจ้าข้า”
 

        พระเจ้าวิเทหราช ทรงเร่งรับสั่งถามด้วยความกังวลพระหฤทัยว่า  “เป็นเช่นนั้นหรือท่านอาจารย์ ที่ท่านว่าความฝันของเราเป็นมงคลน่ะ ท่านจงตรวจดูให้ถ้วนถี่อีกทีซิ  อย่าให้ผิดพลาดได้ แล้วจงแถลงความข้อนั้นมาโดยละเอียดเถิด”
 

        อาจารย์เสนกะไม่รอช้า รีบตรวจดูอีกทีอย่างถี่ถ้วน โดยมีปุโรหิตาจารย์อีก ๓ คนคอยเชียร์อยู่ข้างๆ ว่า “ตรวจให้ดีนะท่านเสนกะ ดูพระเจ้าอยู่หัวของเราจะทรงกังวลไม่น้อยเลย” ส่วนว่า เมื่ออาจารย์เสนกะได้ตรวจดูอีกครั้งแล้วจะกราบทูลรายงานอย่างไรนั้น โปรดติดตามตอนต่อไป
 
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) 
 
บทความนี้พิมพ์จาก http://www.dmc.tv/pages/jataka/mahosathapandita002.html
เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 00:16
สงวนลิขสิทธิ์ © 2547 - 2567 http://www.dmc.tv